‘พิพัฒน์’ สั่งอุดรูรั่ว ‘เที่ยวไทยวัยเก๋า’ หวั่นซ้ำรอยทุจริต ‘เราเที่ยวด้วยกัน’

‘พิพัฒน์’ สั่งอุดรูรั่ว ‘เที่ยวไทยวัยเก๋า’ หวั่นซ้ำรอยทุจริต ‘เราเที่ยวด้วยกัน’

ระหว่างรอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการกระตุ้นท่องเที่ยว “เที่ยวไทยวัยเก๋า” สำหรับเจาะกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวอายุ 55 ปีขึ้นไปซึ่งคาดว่าจะมีการเสนอต่อ ครม.สัปดาห์หน้าแทน

พร้อมกับข้อเสนอขยายสิทธิการจองห้องพักโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” อีก 1 ล้านสิทธิใหม่เพื่อส่งเสริมตลาดท่องเที่ยวในประเทศ เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการติดตามแรงกระเพื่อมของกรณีโควิดสมุทรสาครในสัปดาห์นี้ก่อน

ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เตรียมจัดหามาตรการป้องกันการฉ้อโกง เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยโครงการเราเที่ยวด้วยกัน หลังปรากฏธุรกรรมต้องสงสัยเข้าข่ายกระทำผิดเงื่อนไข ส่อเค้าการร่วมมือจองห้องพักแต่ไม่มีการเข้าพักจริง จนกลายเป็นข่าวดังเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า สำหรับโครงการเที่ยวไทยวัยเก๋า จะมอบหมายให้สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดและตำรวจท่องเที่ยวในทุกจังหวัดร่วมมือกันตรวจสอบการเดินทางของคณะทัวร์ทั้งหมด เมื่อมีการจองและจัดทำรายการนำเที่ยวแล้ว ต้องแจ้งให้กับทางการทราบ และรับการตรวจสอบเมื่อไปถึงจุดหมายปลายทาง ในกรณีที่เดินทางโดยเครื่องบิน จะต้องทำการตรวจรับคณะที่สนามบิน หรือหากเดินทางโดยรถบัส จะมีการจัดการตรวจสอบในจุดที่นัดหมายอีกครั้ง

“เราต้องตรวจสอบทุกกรุ๊ป เพื่อให้แน่ใจว่ามีการเดินทางจริง ได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการ และกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จริง ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของโครงการเที่ยวไทยวัยเก๋า โดยนำบทเรียนจากโครงการเราเที่ยวด้วยกันมาปรับปรุง ยืนยันว่าต้องทำอย่างโปร่งใส ไม่เปิดช่องให้เกิดการทุจริตเกิดขึ้น”

ส่วนกรณีที่มีการอนุมัติจาก ครม.ล่าช้านั้น เป็นเพราะเกิดกรณีโควิดสมุทรสาครขึ้นมาเสียก่อน ทำให้ต้องเลื่อนการพิจารณาออกไป จากเดิมมีแผนเสนอที่ประชุม ครม.วานนี้ (22 ธ.ค.) ทั้งนี้เบื้องต้นยังไม่มีการพูดคุยเรื่องขยายระยะเวลาโครงการ จากเดิมจะสิ้นสุดในเดือน เม.ย.นี้ เพราะแต่เดิมนั้นผู้ประกอบการบริษัทนำเที่ยวยืนยันว่าเป็นระยะเวลาที่เพียงพอในการกระตุ้นตลาด

“สำหรับโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายโครงการนี้ จะใช้งบประมาณ 5,000 ล้านบาท สำหรับนักท่องเที่ยวอายุ 55 ปีขึ้นไปจำนวน 1 ล้านคน”

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวเสริมว่า วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการเดินทางท่องเที่ยวของกลุ่มผู้สูงอายุในวันธรรมดา ช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยวทั้งระบบ และช่วยเหลือการจ้างงานกลุ่มแรงงานภาคการท่องเที่ยว

“โดยวางเงื่อนไขการให้สิทธิประโยชน์กลุ่มเป้าหมายอายุ 55-75 ปี ว่าต้องมีการเดินทาง 2 คนขึ้นไปในวันอาทิตย์ถึงพฤหัสบดี โดยใช้บริการผ่านบริษัทนำเที่ยว เดินทาง 3 วัน 2 คืนขึ้นไป สนับสนุนค่าใช้จ่ายไม่เกิน 5,000 บาทต่อคน”

ขั้นตอนการดำเนินงานการคัดกรองแพ็คเกจ จะมีคณะทำงานร่วม ททท. ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกแพ็คเกจ กำหนดเอกสารและเอกสารการเบิกจ่ายเงินสนับสนุน จากนั้นจะเปิดรับสมัครให้บริษัทนำเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการนำเสนอแพ็คเกจ ก่อนจะประกาศแพ็คเกจให้นักท่องเที่ยวผู้สูงอายุเลือกใช้บริการ ส่วนกำหนดการเดินทางวางไว้ภายในเดือน เม.ย.2564

“ด้านประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับคือนอกจากจะมีการเดินทางเพิ่มขึ้น 1 ล้านคน-ครั้งแล้ว คาดค่าใช้จ่ายจากการเดินทางเข้าพักเฉลี่ย 3 วันอยู่ที่ 2,531.87 บาทต่อวัน หรือเท่ากับ 7,595.61 บาทต่อคน เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ 18,859.89 ล้านบาท”

ทั้งยังช่วยบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประกอบการ แรงงานและครอบครัวในภาคการท่องเที่ยวประมาณ 4 แสนคน ประกอบด้วย ผู้ประกอบการนำเที่ยว มัคคุเทศก์ แรงงานด้านการขนส่งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ ผู้ประกอบการด้านอาหารและเครื่องดื่ม และผู้ประกอบการโรงแรม

นอกจากนี้คาดว่าจะมีการจ้างงานมัคคุเทศก์ 50,000 -100,000 ราย จากการประเมินค่าเฉลี่ยจากพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เดินทางเป็นแบบกลุ่มขนาดเล็ก (ค่าแรง 4,500 บาทต่อครั้ง) หรือมีมูลค่าการจ้างงานรวม 225-450 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายจากภาคแรงงานประมาณ 11,230 ล้านบาท