แรงงานต่างด้าวโดนลอยแพ ขนทิ้งสมุทรปราการ
โรงงานย่านสมุทรสาครลอยแพแรงงานต่างด้าวชาวพม่า ขนมาทิ้งที่สมุทรปราการ กว่า 10 คน
เมื่อเวลา 23.00 น. วันที่ 22 ธ.ค. 63 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางแก้ว สมุทรปราการ ได้รับแจ้งมีแรงงานต่างด้าวชาวพม่ากว่า 10 คนถูกนำมาทิ้งที่ภายในซอยกรีนเลค หมู่ 2 ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ หลังรับแจ้งจึงประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสมุทรปราการ และเจ้าหน้าที่ทหาร กอ.รมน. เดินทางเข้าตรวจสอบ
ที่บริเวณริมถนนที่ทางเข้าหมู่บ้านกรีนเลค ห่างจากถนนบางนาตราดประมาณ 100 เมตร ได้พบแรงงานต่างด้าวชาวพม่าซึ่งทั้งผู้ชายและผู้หญิงรวมแล้วจำนวน 14 คน พร้อมด้วยกระเป๋าสัมภาระนั่งรวมกันอยู่ที่ริมถนน จึงเข้าตรวจสอบพบว่าเป็นแรงงานต่างด้าวทั้งหมดมีพาสปอร์ต จำนวน 6 คน ส่วนอีก 8 คนไม่มีพาสปอร์ต สอบถามทราบว่าทำงานอยู่ที่โรงงานพลาสติกแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ใน อ.เมืองใหม่ จ.สมุทรสาคร พึ่งเข้ามาทำงานได้ประมาณเดือนเศษและเมื่อช่วงเย็นของวานนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลของโรงงานดังกล่าวได้ไล่ออกจากโรงงาน โดยอ้างว่าจะมีตำรวจเข้ามาตรวจ จึงให้ออกจากโรงงานโดยพาขึ้นรถ ซึ่งมีทั้งหมด 23 คนไปที่จังหวัดระยอง ระหว่างทางก็มีการส่งคนงานกลางทาง จนเหลือ 14 คน และพาไปที่ จังหวัดระยอง เพื่อให้ไปหลบในป่า แต่ไม่ยอมอยู่กัน คนขับจึงถามว่ามีใครมีญาติ หรือคนรู้จักไหมให้ไปพักหลบอยู่กับญาติหรือคนรู้จักก่อน พวกตนบอกว่ามีอยู่ที่โรงงานในซอยกรีนเลค ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ คนขับรถจึงพากลับมา พวกตนพยายามติดต่อหาญาติและคนรู้จักแต่ไม่สามารถเข้าไปพักในโรงงานได้เนื่องจากเจ้าของโรงงานไม่ยอมให้เข้าโรงงาน เนื่องจากกลัวความผิดและพวกตนเดินทางมาจากจังหวัดสมุทรสาคร เกรงว่าจะนำเชื้อโควิด-19 มาระบาด คนขับรถจึงให้พวกตนลงจากรถและทิ้งให้พวกนั่งอยู่ตรงทางเข้าหมู่บ้าน ก่อนขับรถหายไป พวกตนก็เลยนั่งรอความช่วยเหลือและพวกตนทุกคนยังไม่เคยได้รับการตรวจโควิดเลย จึงได้ประสานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอบางพลี เข้าทำการตรวจคัดกรองเบื้องต้น ก่อนพาตัวทั้งหมดไปกักตัวในที่ปลอดภัยและจะติดตามเจ้าของโรงงานที่ให้นำคนงานมาปล่อยทิ้งไว้มาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
พ.อ.กฤษภาณุ จำนงค์วงศ์ หน.กลุ่มงานนโยบายแผนและการข่าว กอ.รมน.จังหวัดสมุทรปราการ ได้กล่าวว่า จะต้องเข้าปรึกษากับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ว่ากระบวนการที่จะต้องดำเนินการในวันพรุ่งนี้ และปัญหาที่จะแก้ต้องไปจะทำอย่างไร อันดับแรกต้องตั้งสเตท โลคอนคอเรนทีน ให้ได้ และต้องมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำ และเมื่อมีชาวบ้านหรือหน่วยงานราชการรายงานเข้ามาต้องมีหน่วยงานเข้าไปควบคุม และนำตัวไปสเตทโลคอนคอเรนทีน ก่อนเพื่อรอการตรวจคัดกรอง แต่ถ้าไม่มีที่พักชาวบ้านที่ไหนก็ไม่ยอมให้เข้าพื้นที่ ทางด้านมนุษยธรรมเราก็ต้องดูแลเขาในฐานะเข้าเป็นมนุษย์เพื่อนบ้านเรา คือถ้าเขาป่วยก็ต้องรักษา และระหว่างที่ควบคุมก็ต้องมีอาหารให้เขากิน ในส่วนขั้นตอนการดำเนินการนั้นต้องมีการพูดคุยกันว่าหน่วยงานไหนจะเป็นผู้ดำเนินการก็ต้องมีการพูดคุยกันรายละเอียด
ตามแผนในวันพรุ่งนี้ทาง กอ.รมน.ก็จะมีการเรียกประชุมด้านความมั่นคงทุกหน่วยไม่ว่าจะเป็น ตม. ภูธรจังหวัด ฝ่ายปกครอง จัดหางานแรงงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน เราจะมีการพูดคุยกันว่าเราจะเข้าตรวจโรงงานที่พักของแรงงานต่างด้าวหรือโรงงานยังไงต้องเรียกผู้ประกอบการมาชี้แจ้งวิธีการแก้ไขว่าจะทำกันอย่างไร ตม.ต้องลงพื้นที่สแกน ถ้าพบความเคลื่อนไหวก็ต้องมารายการและเข้าควบคุมมาทำการตรวจพิสูจน์โรคทันทีโดยให้ชาวบ้านและกำนันผู้ใหญ่บ้านช่วยกันสอดส่องดูแล เฉพาะก็ต้องฝากกำนันผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านต้องช่วยกัน