บิ๊กดีลแห่งปี 2564 ควบรวม ‘ซีพี-เทสโก้’ 3.3 แสนล้าน

บิ๊กดีลแห่งปี 2564 ควบรวม ‘ซีพี-เทสโก้’ 3.3 แสนล้าน

“ซีพี” คว้าดีลแห่งปีซื้อกิจการ “เทสโก้ โลตัส” ไทย-มาเลเซีย 3.38 แสนล้านบาท รวบส่วนแบ่งตลาดร้านสะดวกซื้อ 83% รุกไฮเปอร์มาร์เก็ต-ซุปเปอร์มาร์เก็ต เผยครบกำหนด 60 วัน ซีพีตอบรับ 7 เงื่อนไขควบรวมต้น ม.ค.“สกนธ์”ยืนยันมีกลไกติดตามหลังอนุญาต

บริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ธุรกิจของเครืองเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้ซื้อหุ้น บริษัทเทสโก้ สโตร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งถือหุ้นใหญ่ในบริษัทเอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จํากัด ผู้บริหารธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco Lotus ในไทย

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับวันที่ 28 ธ.ค.2563 รายงานว่า การเข้าซื้อหุ้นเพื่อควบรวมกิจการครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากซีพีชนะการประมูลซื้อกิจการเทสโก้ในไทยและมาเลเซียมูลค่า 338,445 ล้านบาท เป็นการชนะผู้ประกอบการรายใหญ่ 2 กลุ่ม ที่ร่วมประมูล คือ กลุ่มเซ็นทรัล และกลุ่มเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี โดยบีเจซี

กลุ่มซีพีได้ยื่นคำขอความรวมกิจการต่อ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หรือ กขค. เพื่อพิจารณาอนุญาตควบรวมกิจการตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 เพราะเป็นการรวมธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่และมีมูลค่าการรวมธุรกิจสูง โดย

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 31 ก.ค.2563 กลุ่มซีพี ได้ยื่นขออนุญาตควบรวมกิจการกับเทสโก้ โลตัสต่อคณะกรรมการฯ ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 เนื่องจากการรวมธุรกิจดังกล่าวเป็นการรวมธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่และมีมูลค่าการรวมธุรกิจสูง โดยคณะกรรมการฯ ต่ออายุการพิจารณาเมื่อครบ 90 วัน เพราะมีข้อมูลมาก และได้มีมติอนุญาตให้ควบรวมกิจการเมื่อวันที่ 2 พ.ย.2563 ด้วยคะแนน 4 : 3 เสียง

กรรมการเสียงข้างมาก 4 คน ประกอบด้วย นายกฤษฎา เปี่ยมพงศ์สานต์ ,นายสมชาติ สร้อยทอง ,นายวิษณุ วงศ์สินศิริกุล และนายสมเกียรติ ตันกิตติวัฒน์

ส่วนกรรมการเสียงข้างน้อย 3 คน ประกอบด้วย นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ​ประธานกรรมการฯ ,นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์​ และนางอร่ามศรี รุพันธ์

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า การควบรวมดังกล่าวเป็นดีลค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ซึ่งคณะกรรมการฯ ต้องทำการบ้านเยอะมาก จนกระทั่งคณะกรรมการเสียงข้างมากอนุญาตให้มีการควบรวมกิจการได้ แต่หลังจากดีลนี้จบก็ไม่ได้หมายความว่าการทำงานในเรื่องนี้จะจบลงไปด้วย เพราะยังมีเงื่อนไข 7 ข้อที่กลุ่มซีพีต้องปฏิบัติตาม

รวมทั้ง คณะกรรมการฯ มีหน้าที่ติดตามดูแลให้กลุ่มซีพีปฏิบัติตามเงื่อนไข โดยสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางทางการค้าจะต้องปรับโครงสร้างการปฏิบัติ สร้างกลไกในการบังคับให้ปฏิบัติตามเงื่อนไข 7 ข้อ เพราะหากเงื่อนไขที่ออกไปแล้วบังคับไม่ได้ก็จะทำให้ถูกมองว่าเป็นเสือกระดาษ ซึ่งการตัดสินของคณะกรรมการฯมีทั้งผลบวกและผลลบ แต่ต้องเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไป

“มติของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าที่ออกมามีทั้งคนที่เห็นด้วยไม่เห็นด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ เพราะผลตัดสินคงไม่ถูกใจใครไปทั้งหมด 100 % กรรมการแต่ละคนก็พิจารณาไปตามกรอบกฎหมายที่วางไว้ จากนี้ไปก็ต้องดูว่า หลังจาการควบรวมธุรกิจแล้ว จะปฏิบัติตามเงื่อนไข 7 ข้อของคณะกรรมการฯครบหรือไม่" นายสกนธ์ กล่าว

160907297368

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า เปิดเผยกรุงเทพธุรกิจว่า กลุ่มซีพียังไม่ส่งหนังสือยอมรับคำสั่งคณะกรรมการฯ ที่อนุญาตให้ควบรวมกิจการแบบมีเงื่อนไข ซึ่งจะครบกำหนด 60 วัน ในต้นเดือน ม.ค.2564 โดยที่ผ่านมากลุ่มซีพีได้แจ้งบริษัทเทสโก้ โฮลดิ้ง ลิมิเต็ด ประเทศอังกฤษ แล้วถึงข้อสรุปการอนุญาตให้ควบรวมกิจการ

สำหรับการพิจารณาคำขออนุญาตควบรวมกิจการครั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาความสัมพันธ์ของบริษัทในกลุ่มซีพี ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางนโยบายหรืออำนาจสั่งการที่มีสถานะเหมือนเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกันกับผู้ขออนุญาต 7 บริษัท คือ

บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด , บริษัท ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด ,บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ,บริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด ,บริษัท ซี.พี.รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด ,บริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทสยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ ได้พิจารณาธุรกิจค้าปลีกแยกเป็น 3 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ต แบ่งเป็นเทสโก้ โลตัส เอกซ์ตร้า มีส่วนแบ่งการตลาด 46.79% และเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ,บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์และเอ็กซ์ตร้า 38.56% มีอำนาจเหนือตลาด , ท็อป ซูเปอร์สโตร์ 1.89% และอื่นๆ 12.76%

2.กลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต แบ่งเป็นท็อปส์ มาร์เก็ต มีส่วนแบ่งการตลาด 26.21% ,ตลาดโลตัส 15.79% ,วิลล่า มาร์เก็ต 4.88% และอื่นๆ 53.12% ในกลุ่มนี้ไม่มีผู้มีอำนาจเหนือตลาด

3.ร้านค้าปลีกขนาดเล็ก แบ่งเป็นร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ส่วนแบ่งการตลาด 73.60% มีอำนาจเหนือตลาด ,ร้านเทสโก้ โลตัส เอ็กเพรส 9.45% มีอำนาจเหนือตลาดหลังควบรวมกิจการกับ กลุ่มซีพี ,กลุ่มเซ็นทรัล (แฟมิลีมาร์ทและท็อปส์ เดลี่) 4.79% และอื่นๆ 12.16%

การพิจารณาครั้งนี้ กรรมการเสียงข้างน้อยได้ยกประเด็นการรวมธุรกิจส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง โดยมีโอกาสผูกขาดหรือครอบงำกิจการและกลุ่มซีพีมีอำนาจทางเศรษฐกิจสูงมาก รวมทั้งยกประเด็นผลกระทบต่อคู่แข่งขัน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบรายใหม่เข้าสู่ตลาดยากขึ้น และผู้ประกอบการรายกลางและเล็กอาจต้องออกจากตลาด

ทั้งนี้ การควบรวมกิจการจะทำให้กลุ่มซีพีจะได้กิจการค้าปลีกเพิ่มทั้ง 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ต ได้เทสโก้ โลตัส เอกซ์ตร้า 215 สาขา ที่ปัจจุบันมีส่งแบ่งตลาดมากที่สุด 2.กลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต ได้ตลาดโลตัส 178 สาขา 3.กลุ่มร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ได้เทสโก้ โลตัส เอ็กเพรส 1,595 สาขา

รวมทั้งยกประเด็นผลกระทบต่อซัพพลายเออร์เพราะการควบรวมทำให้กลุ่มซีพีมีธุรกิจครบทุกรูปแบบ ซึ่งจะทำให้มีอำนาจเหนือตลาดสูงขึ้นและมีอำนาจต่อรองซัพพลายเออร์มากขึ้น

ส่วนกรรมการเสียงข้างมาก ได้ยกประเด็นการไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง โดยเห็นว่าไม่เข้าข่ายการผูกขาดเพราะการผูกขาดต้องมีผู้ประกอบการรายเดียว รวมทั้งการควบรวมทำให้ภาคการผลิตและธุรกิจค้าปลีกขยายตัวขึ้น และรักษาซัพพลายเชนของเทสโก้ โลตัสไว้ได้

ในขณะที่ประเด็นไม่กระทบต่อประโยชน์สำคัญของผู้บริโภคส่วนรวม เห็นว่าร้านค้าปลีกสมัยใหม่ของไทยรองรับประชากรต่อสาขามากกว่าญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ถึง 4 เท่า จึงมีโอกาสขยายตัวได้มาก และการรวมกิจการกระทบประโยชน์สำคัญอันควรมีควรได้ของผู้บริโภคส่วนรวมเล็กน้อย

การควบรวมกิจการครั้งนี้ได้มีความเห็นหลากหลายในสังคม โดย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ได้ตั้งข้อสังเกตว่าคณะกรรมการฯ ได้วิเคราะห์รอบด้านหรือไม่ รวมทั้งได้เชิญเลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ามาให้ความเห็นกับคณะกรรมาธิการฯ เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2563

ขณะที่ นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า หากกลุ่มซีพียอมรับเงื่อนไขต้องถามว่าจะให้คณะกรรมการฯ ไปติดตามการปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาต 7 ข้อ อย่างไร ซึ่งเงื่อนไขที่ตั้งไว้จะกลายเป็นต้นทุนและอุปสรรคให้ภาครัฐเองไปติดตาม โดยบางข้อตรวจสอบได้ยากหรือไม่มีทางตรวจสอบได้ เพราะเป็นข้อมูลภายในของบริษัท

การควบรวมกิจการมีผลต่อธุรกิจในกลุ่มซีพี ซึ่งก่อนที่จะมีมติอนุญาตออกมา นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ ระบุว่า ซีพีเอฟเตรียมแผนธุรกิจปี 2564 ที่รวมถึงปัจจัยการซื้อหุ้นเทสโก้ในไทยและมาเลเซีย ซึ่งได้เตรียมทำการตลาดในช่องผ่านเทสโก้ทั้ง 2 ประเทศ

สำหรับการเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้ซีพีเอฟร่วมลงทุนกับบริษัทในเครือในสัดส่วน 20% แต่จะทำให้ซีพีเอฟได้ช่องทางจำหน่ายผ่านเทสโก้ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ซีพีเอฟนำเสนอสินค้าได้ดีขึ้น โดยที่ผ่านมาซีพีเอฟเข้าไปทำตลาดทั้งร้านสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่นในไทย และเทสโก้ในไทยและมาเลเซีย แต่ในปี 2564 จะได้ทำแผนธุรกิจร่วมกับบริษัทในกลุ่มซีพีเพิ่มขึ้น และเชื่อมโยงแผนการตลาดกันได้

ทั้งนี้ การร่วมลงทุนซื้อหุ้นครั้งนี้ของซีพีเอฟ ดำเนินการผ่านบริษัท ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด ที่เป็นบริษัทลูก