“บี.กริม เพาเวอร์”ขอเพิ่มโควตานำเข้าแอลเอ็นจี ป้อน 13 โรงไฟฟ้า
“บี.กริม เพาเวอร์” ยื่นกกพ.ขอเพิ่มโควตานำเข้า LNG ป้อน 13 โรงไฟฟ้า จ่อนำเข้าล็อตแรกช่วงกลางปีหน้า พร้อมลุ้นดีล M&A ต้นปี64 โรงไฟฟ้าไทยและมาเลเซีย 900-1,000 เมกะวัตต์
นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า บี.กริม เพาเวอร์ ได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เพื่อพิจารณาขอขยายการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) เพิ่มเติม เพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟ้ฟาก๊าซฯ 13 แห่งของบริษัท จากเดิมได้รับอนุมัติแผนนำเข้าปริมาณ 6.5 แสนตันต่อปีในปี 2566 ป้อนเป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้า SPP Replacement จำนวน 5 โรง โดยปี2564 มีโควตานำเข้าปริมาณ 2.5 แสนตัน และปี2565 มีปริมาณ 3.5 แสนตัน คาดว่า จะสามารถเริ่มนำเข้าล็อตแรกได้ในช่วงกลางปี 2564 เป็นต้นไป
บริษัทฯยังมีแผนที่จะจำหน่าย LNG ให้กับโรงงานอุตสาหกรรมอีกด้วย โดยได้เจรจากับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่มีความต้องการใช้ LNG นำไปใช้ในโรงงานเพื่อลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากราคาLNG ที่บริษัทจะจัดหาจะมีราคาถูกกว่าของ ปตท.
อย่างไรก็ตาม การนำเข้าLNG ยังต้องรอคณะทำงานพิเศษฯ ที่มี นายณอคุณ สิทธิพงษ์ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้เสร็จสิ้นภายใน เดือน ม.ค. 2564 ก่อน ขณะเดียวกันบริษัทยังมีแผนนำเข้า LNG เพื่อป้อนโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ขนาดใหญ่(IPP)ในเวียดนาม กำลังผลิตประมาณ 2,000-3,000 เมกะวัตต์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของรัฐบาลเวียดนาม คาดว่าจะสรุปได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564
“บี.กริม ได้เจรจากับผู้ผลิตก๊าซฯในตลาดโลกกว่า 20 ราย ได้รับการเสนอราคาที่ดี หากถูกสุดตอนนี้ก็เป็นแหล่งจากกาตาร์ แต่ยังต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆด้วย ซึ่งการซื้อLNG ของ บี.กริม จะมีทั้งสัญญาระยะยาว สัดส่วน 70-80% สัญญาระยะสั้น (Spot) ประมาณ 20% เพื่อบริหารความเสี่ยงด้านราคา”
สำหรับทิศทางการดำเนินงานของ บี.กริม เพาเวอร์ ในปี 2564 ได้ตั้งงบลงทุนอยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่ในมือ และรองรับโครงการลงทุนใหม่หรือการเข้าซื้อกิจการ(M&A)ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา M&A ทั้งในประเทศและต่างประเทศ คาดว่า จะบรรลุเป้าหมายปริมาณรวม 900-1,000 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ในมาเลเซีย 200-350 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้า SPP ในไทย 2-3 โครงการ กำลังการผลิตรวมประมาณ 300-360 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถปิดดีลได้ในช่วงไตรมาส 1 ปี2564
นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อร่วมทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานลม ในเวียดนาม 1-2 โครงการ กำลังการผลิตรวม 100-200 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดหวังจะบรรลุผลการเจรจาภายในต้นปี 2564 เพื่อให้สามารถก่อสร้างแล้วเสร็จตามกำหนด COD ในปลายปี 2564 รวมถึง ยังได้เจรจาเพื่อร่วมทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานลม ในเกาหลีใต้ คาดว่าจะบรรลุผลในช่วงไตรมาส 1 ปี2564
ในขณะนี้ บริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แล้ว 3,682 เมกะวัตต์ เป็นโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 3,089 เมกะวัตต์ และมีแผนเพิ่มกำลังผลิตไปอยู่ที่ระดับ 7,200 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 ขณะที่ในไตรมาส 1 ปี2564 มีแผนจะเปิดเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาด 16 เมกะวัตต์ ที่จ.มุกดาหาร ซึ่งจะรับรู้รายได้ในทันที
นายฮาราลด์ กล่าว่า บริษัทยังมีแผนขยายความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเพิ่มเติม ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยล่าสุด ได้ความร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และบริษัท พีอีเอ เอ็มคอม อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือกฟภ. เพื่อพัฒนาโครงข่ายและสายส่ง ช่วยสร้างเครือข่ายและต่อยอดธุรกิจไฟฟ้าเข้าไปในพื้นที่ห่างไกล เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมองโอกาสการพัฒนาโครงการระบบไมโครกริด ระบบสมาร์ทไมโครกริดเพิ่มเติมในอนาคตด้วย