กางดัชนีคอร์รัปชันไทย สวนทางนโยบาย ‘ปราบโกง’
เมื่อ “ช่องว่าง” การทุจริตถูกตั้งคำถามว่า อยู่ที่อำนาจในระบบภาครัฐ เอื้อให้เกิดการคอร์รัปชันง่ายขึ้นหรือไม่
จากถ้อยคำที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พูดไว้ในวงประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2563 ที่ผ่านมา ต่อรายงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ที่พบว่ารัฐบาลยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระหว่างปี 2557-2562 พบการทุจริตมากที่สุดนั้น
กลายเป็นประเด็นที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เชื่อว่าจะมีข้อมูลดังกล่าวทั้งหมด จากข้อสังเกตถึงรายงาน ป.ป.ช.ครั้งนี้ จะเป็นเฉพาะจำนวน“เรื่องร้องเรียน” หรือไม่ จึงสั่งการให้ไปแยกรายละเอียดต่างๆ ให้ชัดเจน เพราะเชื่อว่าฝ่ายค้านจะนำเรื่องนี้ไปเป็นข้อมูลในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
เป็นท่าทีจาก พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีต่อข้อมูลที่สะท้อนมาจาก ป.ป.ช.ส่งไปถึงรัฐบาล ภายหลัง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานป.ป.ช. เคยเปิดเผยตัวเลขสำคัญไว้ในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) 9 ธ.ค.2563 จากข้อมูลในปีงบประมาณ 2562 สำนักงาน ป.ป.ช.รับเรื่องกล่าวหาการทุจริตไว้ จำนวน 10,382 เรื่อง หรือคิดเป็นวงเงินงบประมาณของโครงการภาครัฐจากคำกล่าวหารวม 238,209 ล้านบาท
ข้อมูลส่วนนี้ ถูกจัดแบ่งเป็นประเภทคำกล่าวหาที่ ป.ป.ช.รับไว้ดำเนินการเอง เฉพาะเรื่องที่ร้ายแรง หรือเกี่ยวข้องกับผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ตามที่อำนาจในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 จำนวน 3,285 เรื่อง มียอดวงเงินงบประมาณ ทั้งสิ้น 236,240 ล้านบาท
โดยเฉพาะประเภท “การทุจริต” พบว่า อันดับหนึ่งเป็นการจัดซื้อจัดจ้าง วงเงิน 207,060 ล้านบาท และอันดับสองการดำเนินการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ วงเงิน 23,840 ล้านบาท
ที่ผ่านมา ป.ป.ช.ได้ส่งคำกล่าวหาเหล่านี้ให้หน่วยงานภายนอกดำเนินการ มีวงเงิน 1,967 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.เป็นความผิดประเภทปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบวงเงิน 1,152 ล้านบาท และ 2.ประเภทยักยอก เบียดบังเงินหรือทรัพย์สินของราชการอีก 428 ล้านบาท
ขณะที่ “สถิติ” รับเรื่องทุจริตที่ร้องเรียนมาถึง ป.ป.ช.ตลอดปีงบประมาณ 2563 พบว่ามีจำนวน 8,691 เรื่อง คิดเป็นวงเงินงบประมาณของโครงการจากคำกล่าวหา รวมประมาณ 9 หมื่นล้านบาท ส่วนปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมา 2 เดือน (เริ่มนับตั้งแต่ 1 ต.ค.2563) อัพเดทข้อมูลเมื่อวันที่ 4 พ.ย.2563 “ป.ป.ช.” มีเรื่องร้องเรียนที่อยู่ระหว่างตรวจสอบ 9,416 เรื่อง และไต่สวนอีก 3,320 เรื่อง
หากย้อนไปถึงช่วงที่ “คสช.” เข้ามาบริหารประเทศตลอด 6 ปี จนมาถึงช่วงรอยต่อรัฐบาล “ประยุทธ์ 1” ก่อนหน้านี้ คสช.เคยประกาศ “ธงนำ” การปราบการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค.2557 แต่ในการ “จัดอันดับ” โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) ต่อดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชัน (Corruption Perception Index – CPI) เป็นดัชนีวัดการทุจริตคอร์รัปชันสากลนั้น กลับพบว่าในปี 2560 ประเทศไทยถูกจัดอันดับอยู่ที่ 99 ของโลกจาก 180 ประเทศทั่วโลกอยู่ที่ 37 คะแนน
จากนั้นในปี 2561 ประเทศไทยอยู่ลำดับ 96 ของโลกที่ 36 คะแนน และล่าสุดการจัดอันดับประจำปี 2562 องค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ จัดให้ประเทศไทย อยู่อันดับที่ 101 ได้ค่าเฉลี่ยที่ 36 คะแนน (ประเทศที่อันดับตัวเลขของโลกยิ่งสูงหมายถึงยิ่งมีการคอร์รัปชันมาก)
ส่วนประเทศที่ถูกจัดอันดับ 1 ประจำปี 2562 มี 2 ประเทศได้อันดับ 1 ร่วมกันในฐานะประเทศที่มีการคอร์รัปชันน้อยที่สุด คือนิวซีแลนด์-เดนมาร์ค (ได้ 87 คะแนนจาก 100 คะแนน) ขณะที่ประเทศที่ได้ชื่อว่าคอร์รัปชันมากที่สุด คือประเทศโซมาเลีย อยู่ในอันดับสุดท้ายของ 180 ประเทศ และได้ค่าดัชนี CPI เพียง 9 คะแนน
ไม่ใช่แค่นั้นแต่ข้อมูลภายในประเทศที่ “มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย” ได้เปิดเผยผลสำรวจ “ดัชนีคอร์รัปชันไทย” เมื่อเดือน ธ.ค.2560 ได้พบข้อมูลการทุจริตในยุครัฐบาล คสช.เพิ่มขึ้น 37% สูงที่สุดในรอบ 3 ปีนับตั้งแต่ปี 2558
โดย ดร.เสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้ให้เห็นสาเหตุการทุจริตคอร์รัปชัน มาจาก 3 ส่วน 1.กฎหมายเปิดโอกาสให้สามารถใช้ดุลพินิจเอื้อต่อการทุจริตคอร์รัปชันถึง 18.8% 2.กระบวนการทางการเมืองตรวจสอบได้ยาก 15.6% และ3.ความไม่เข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบ 14.7%
นอกจากนี้ เมื่อแบ่ง “รูปแบบทุจริต” พบอีกว่า อันดับ 1 การให้สินบนของกำนัล รางวัลต่างๆ 19.6% อันดับ 2 การใช้ตำแหน่งทางการเมืองเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง 16.2% อันดับ 3 การทุจริตเชิงนโยบาย 13.8% อันดับ 4 การทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง 12.2% และ อันดับ 5 การจ่ายเงินเพื่อให้ได้ประโยชน์ภายหลัง 9.0%
ขณะเดียวกัน ยังมีข้อมูลสำคัญที่ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยในขณะนั้นว่า สถานการณ์คอร์รัปชันไทยเริ่มรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ภายหลังปี 2558 ในช่วงที่มีโครงการจัดซื้อจัดจ้างลงทุนขนาดใหญ่โดยมีอัตราการจ่ายใต้โต๊ะปี 2560 มากถึง 5–15 % สูงสุดในรอบ 3 ปีจากปี 2558 ซึ่งขณะนั้นมีอัตราจ่ายใต้โต๊ะเฉลี่ย 1-15 % คิดเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจปีละมากถึง 1-2 แสนล้านบาท
แต่อีกด้าน หากย้อนไปที่ข้อมูล พันเอกหญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก คสช.แถลงไว้เมื่อ 1 ส.ค.2561 จากการที่ คสช.เปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐในรอบ 1 ปี ตั้งแต่เดือน ก.ค.2560-ก.ค.2561 มีเรื่องร้องเรียนอยู่ที่ 4,344 เรื่อง มาจาก 3 ช่องทาง 1.สายด่วน 1299 จำนวน 1,184 เรื่อง 2.แจ้งผ่าน ตู้ ปณ.444 จำนวน 2,379 เรื่อง และ 3.แจ้งด้วยตนเองผ่านศูนย์ร้องเรียนฯ หน่วยทหารทั่วประเทศ 781 เรื่อง ซึ่งข้อร้องเรียนอันดับ 1 ที่ถูกประชาชนแจ้งเข้ามาเป็นเรื่อง “เจ้าหน้าที่ของรัฐประพฤติมิชอบ”
ปัญหาทุจริตที่ปรากฏออกมานั้น มีที่มาจากการพัฒนาระบบ “ต้นน้ำ” รับเรื่องร้องเรียนของ ป.ป.ช. ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประตูบานแรกนำไปสู่การปราบปรามการทุจริต ตั้งแต่ในชั้นตรวจรับคำกล่าวหาของสำนักงาน ป.ป.ช.ให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม
โดยตั้งแต่ปี 2562 สำนักพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ ป.ป.ช. ได้เริ่มพัฒนาระบบรับคำร้องเรียนกล่าวหา จากกฎหมายเปลี่ยนแปลงไป เมื่อเปรียบเทียบระหว่างปี 2560-2562 พบว่าปริมาณงานประสบความสำเร็จในการดำเนินการมีเกือบ 100%
เห็นได้จากกระบวนการตรวจสอบ “บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน” ของบุคคลที่ต้องยื่นแสดงตามกฎหมายนั้น จากเดิมมีคณะอนุกรรมการตรวจสอบเพียง 2 คณะ แต่ถูกเพิ่มรวมเป็น 4 คณะ และแบ่งภารกิจให้กรรมการ ป.ป.ช.แต่ละรายไปเป็นประธานกรรมการตรวจสอบ ตามเป้าหมายดำเนินคดี “ร่ำรวยผิดปกติ” เพื่อยึดทรัพย์สินที่มีการโกงไปกลับคืนแก่รัฐ
จากตัวเลขการทุจริตและดัชนีชี้วัดการคอร์รัปชันไทยที่มาจาก “ป.ป.ช.” “หอการค้า” และ “องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ” ที่ผ่านมา จะเห็นชัดเจนสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันว่า สถานการณ์ทุจริตในประเทศยังไม่มีท่าทีน้อยลง ถึงแม้ในช่วงหนึ่งรัฐบาล คสช.จะมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารประเทศต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน
แต่ตลอด 3 ครั้งล่าสุดในการจัดอันดับประเทศ ต่อดัชนีวัดการทุจริตคอร์รัปชันสากล กลับมีกราฟสะท้อนค่าความโปร่งใสที่ถูกจัดอันดับในแต่ละปี ยังถูกตั้งคำถามมาตลอดว่า “ช่องว่าง” การทุจริตที่เกิดขึ้นนั้น อยู่ที่อำนาจในระบบภาครัฐเอื้อให้เกิดการคอร์รัปชันง่ายขึ้นหรือไม่.