เจาะลึก '2 นพ.ผู้เชี่ยวชาญ' ความหวังคนไทย 'ซื้อ-วิจัย-ผลิตเอง' วัคซีนสู้โควิด
อัพเดทความคืบหน้า เจาะลึก "2 นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ" ความหวังคนไทย "ซื้อ-วิจัย-ผลิตเอง" วัคซีนสู้โควิด
รายการ "คิดต่าง ฟัง รอบด้าน" ทางเนชั่นทีวี ซึ่งออกอากาศเมื่อคืนวันที่ 29 ธ.ค.63 เปิดประเด็นไขข้อข้องใจประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ซึ่งนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน ให้ข้อมูลสำคัญโดยเฉพาะวัคซีนสัญชาติไทยจากฝีมือคนไทยที่จะผลิตขึ้นเอง ว่าจะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และเมื่อใดที่จะมีวัคซีนให้คนไทยได้ฉีดสู้กับไวรัสโคโรนา
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก วัคซีนที่ผลิตจากต่างประเทศ และผ่านการรับรองให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินได้แล้ว และประเทศไทยได้จองซื้อเพื่อนำมาใช้กับคนไทย กลุ่มที่สอง คือวัคซีนที่คิดค้นพัฒนาภายในประเทศ โดยอาจจะร่วมมือกับนักวิจัยระดับโลก และกลุ่มที่สาม ได้แก่วัคซีนที่ผลิตเองในประเทศไทย
สำหรับวัคซีนที่จะนำมาใช้กับคนไทยเพื่อหยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น น่าจะได้เร็วที่สุดช่วงกลางปีหน้า โดยเป็นวัคซีนที่ซื้อมาจากต่างประเทศ หรือนำเทคโนโลยีของต่างประเทศมาผลิตในประเทศ เช่น จาก บริษัท แอสตร้า เซนเนก้า ส่วนวัคซีนที่วิจัยกันในประเทศไทย ได้แก่ วัคซีนของคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ คาดว่าจะได้ทดลองฉีดในอาสาสมัครราวๆ หลังสงกรานต์
ศ.นพ.เกียรติ กล่าวต่อว่า วัคซีนที่ไทยจองซื้อ แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ แบ่งตามเทคโนโลยี กับแบ่งตามแหล่งผลิต
โดยเทคโนโลยี mRNA เป็นเทคโนโลยีที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ก็ทำอยู่ มี 2 บริษัทที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินในหลายประเทศ คือ บริษัท ไฟเซอร์ กับ บริษัท โมเดอร์นา พบว่ามีประสิทธิภาพสูงมาก เกือบ 95% แต่ข้อจำกัดคือต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิต่ำมาก โดยไฟเซอร์ ต้องเก็บในอุณหภูมิ -70 องศา ขณะที่โมเดอร์นา -20
ส่วนวัคซีนที่ดูตามแหล่งผลิต ในสหรัฐอเมริกาก็มี 2 บริษัท คือ ไฟเซอร์ กับ โมเดอร์นา ส่วนที่อังกฤษก็มีวัคซีนที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และ บริษัท แอสตร้า เซนเนก้า กำลังรอการอนุมัติในอังกฤษ และมีโอกาสที่ไทยจะได้ใช้ในปีหน้าเช่นกัน ขณะที่แหล่งผลิตอื่นๆ ก็เช่น จีน รัสเซีย และวัคซีนของ "โนวาแว็กซ์" ของอเมริกา ยังต้องรอสรุปงานวิจัย ซึ่งจะรู้ผลในระยะต่อๆ ไป โดยหลักในการเลือกวัคซีน ก็มีทั้งเรื่องราคา ความปลอดภัย และความสะดวกในการใช้
สำหรับเทคโนโลยี mRNA ถือว่าได้รับการยอมรับ เพราะฉีดไปแล้ว 2.1 ล้านคนในสหรัฐ เฉลี่ยวันละเกินแสนคน ขณะที่ในอังกฤษ นับถึงก่อนคริสต์มาสฉีดไปแล้ว 6 แสนคน ถือว่าทั้งโลกฉีดไปประมาณ 3 ล้านคน ผลข้างเคียงที่พบมี 2 แบบ ได้แก่ ผลข้างเคียงเฉพาะที่ เกิดจากตำแหน่งที่ฉีด เช่น แขนระบม ปวดแขน กับผลข้างเคียงในระบบร่างกาย คือมีไข้ ส่วนนี้มีไม่ถึง 5% และเมื่อทานยาลดไข้แล้ว ไม่เกิน 2 วันไข้ก็ลดลง
ประเด็นที่มีรายงานจากอเมริกากับอังกฤษ คือการแพ้อย่างรุนแรง ผื่นขึ้น ลมพิษ คอแห้ง หมดสติชั่วคราว มีทั้งหมด 8 เหตุการณ์ แต่พอฉีดยาแก้แพ้แล้วก็กลับสู่ภาวะปกติทุกคน จาก 3 ล้านคนที่ได้รับวัคซีน ก็ถือว่าต่ำมาก โดยผู้ที่พบว่าแพ้ ก็ต้องเลี่ยงการรับวัคซีน แต่ถ้าไม่เลี่ยง ก็ต้องอยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิด ข้อแนะนำที่ง่ายที่สุดคือ หลังฉีดวัคซีน อย่ากลับบ้านทันที ควรนั่งดูอาการอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ใครก็ตามที่เคยแพ้อะไรรุนแรง เช่น อาหารทะเล ก็ไม่ควรฉีดวัคซีนชนิดนี้ ขณะที่การรับวัคซีนสำหรับป้องกันโรคระบาด ต้องฉีดซ้ำกัน 2 เข็ม ห่างกันประมาณ 3 สัปดาห์ถึง 1 เดือน
เมื่อถามถึงวัคซีนที่ผลิตโดยคนไทย ศ.นพ.เกียรติ บอกว่า มีอยู่ 2 วัคซีนด้วยกัน คือจากจุฬาฯ และอีก 1 มาจากบริษัทเอกชน เป็นวัคซีนฝีมือคนไทย ทดลองในหนูแล้วได้ผลดีมาก ขณะนี้กำลังทดลองในลิง ถ้าอยากพิสูจน์ต่อในคน ก็ต้องทำวิจัยในอาสาสมัคร
สำหรับเทคโนโลยี mRNA ถือว่ายังใหม่มาก และยังไม่มีในประเทศไทย แต่ได้มีการใช้งบจากรัฐบาลและเงินบริจาคไปจ้างโรงงานในแคลิฟอร์เนียให้ผลิตวัคซีนส่งมาที่ไทย คาดว่าจะได้วัคซีนมาพร้อมฉีดประมาณหลังสงกรานต์ หรืออาทิตย์ที่ 3 ของเดือน เม.ย. และฉีดอาสาสมัครคนไทยได้ปลายเดือน เม.ย. ถึง พ.ค. เพื่อดูขนาดที่เหมาะสม
หลักของการดูขนาดที่เหมาะสม คือดูว่าต้องใช้โดสต่ำ กลาง หรือสูง โชคดีที่เทคโนโลยี mRNA ได้ผลไปกว่า 95% ใช้ได้กว่า 3 ล้านคน ทำให้เรารู้ว่าวัคซีนตัวนี้ใช้ขนาดเท่าไหร่ เราก็นำมาปรับใช้กับคนไทยได้ แต่โครงการนี้จะไม่มีความหมายเลยถ้าไม่มีโรงงานผลิตในประเทศไทยเอง ฉะนั้นจึงต้องเตรียมโรงงานสำหรับผลิต ซึ่งมีความร่วมมือกับ บริษัท ไบโอเนท เอเชีย คาดว่าจะเริ่มสั่งวัตถุดิบอย่างช้าที่สุดหลังปีใหม่ และต้องเตรียมเงินไปจอง โรงงานก็ต้องเริ่มซ้อมผลิตในจำนวนที่ไม่เยอะก่อน คาดว่าจะเริ่มผลิตขนาดหลักล้านโดสได้ภายในไตรมาสสุดท้ายก่อนสิ้นปีหน้า และน่าจะมีวัคซีนจากโรงงานของไทยผลิตออกมาได้จำนวนหนึ่ง
ข้อดีของการมีวัคซีนของไทยเอง ศ.นพ.เกียรติ บอกว่า ข้อดีคือราคาถูกกว่า และถ้ายืนบนขาตัวเองได้ ไทยก็น่าจะส่งออกได้ด้วย หรือผลิตให้ประเทศร่ำรวยซื้อไปบริจาคให้กับประเทศยากจน
ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวเรื่องเดียวกันว่า การจัดหาวัคซีนมาใช้ มีทั้งซื้อมาตรงๆ กับรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต อีกด้านคือสนับสนุนงานวิจัยภายในประเทศ
อย่างไรก็ดี นพ.นคร บอกว่า แม้จะมีวัคซีนแล้ว ก็ยังต้องใช้เวลานานพอสมควรในการควบคุมการระบาด โดยในปี 2564 ต้องจัดหาวัคซีนให้ได้ 50% ของประชากร หรือราวๆ 33 ล้านคน โดยวิธีการจองซื้อจากบริษัทผู้ผลิตวัคซีนที่มีศักยภาพ ส่วนงานวิจัยภายในประเทศ ยังไม่น่าจะมีวัคซีนที่จะนำมาใช้ได้ในปีหน้า
สำหรับวัคซีนที่ไทยจองไปแล้ว จากบริษัทแอสตร้า เซนเนก้า โดยจำนวนที่ต้องการยังขาดอีก 30% คณะกรรมการเร่งรัดจัดหาวัคซีน ที่มีปลัดกระทางสาธารณสุขเป็นประธาน ก็ให้แนวทางไปจัดหาวัคซีน โดยดูศักยภาพของบริษัทผู้ผลิตว่ามีแนวโน้มประสิทธิผลเป็นอย่างไร ดูเรื่องราคา ความปลอดภัย และระยะเวลาในการส่งมอบ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญ
โดยหลักเกณฑ์เรื่องความปลอดภัย ต้องดูเรื่องการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้วัคซีนว่ามีมากน้อยขนาดไหน เพราะต้องใช้กับคนหมู่มาก ฉะนั้นมาตรฐานความปลอดภัยจึงต้องสูงมาก แต่ธรรมชาติของการใช้วัคซีน บางคนอาจจะมีอาการข้างเคียง ซึ่งต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลข้างเคียง กับความคุ้มค่าของผลในการป้องกันโรค
มีคำถามว่า หากฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้วพบอาการแพ้ ควรฉีดเข็มที่ 2 ต่อไปหรือไม่ นพ.นคร กล่าวว่า ขึ้นกับอาการแพ้ว่าเป็นอย่างไร ถ้าเป็นอาการแพ้ที่ไม่รุนแรง ก็อาจจะรับวัคซีนต่อไปได้ ต้องดูว่าฉีดไปแล้วเกิดอาการอย่างไร และติดตามดูข้อมูลต่อเนื่อง 30 นาที 1 ชั่วโมง 1 วัน ไปจนถึง 2 วันหลังฉีด
เป้าหมายของการฉีดวัคซีนอีกด้านหนึ่ง คือความครอบคลุมในการรับวัคซีน ซึ่งไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องได้รับวึคซีน แต่ถ้าคนจำนวนมากพอสมควรได้รับวัคซีนแล้ว ก็จะช่วยป้องกันคนที่ไม่ได้รับวัคซีนไปด้วย เช่น ฉีดวัคซีนไปประมาณ 80% ของประชากร คนที่ไม่ได้รับวัคซีนก็จะได้รับความคุ้มกันไปด้วย ถ้ามีภูมิคุ้มกันสัก 70% สำหรับโควิด-19 ก็จะป้องกันคนอื่นๆ ได้ด้วย