จับตาสายการบินเอเชีย-การบริการยุคหลังโควิด-19

จับตาสายการบินเอเชีย-การบริการยุคหลังโควิด-19

จับตาสายการบินเอเชีย-การบริการยุคหลังโควิด-19 ขณะซีอีโอแอร์เอเชียแสดงความมั่นใจว่าธุรกิจการบินของบริษัทจะกลับมาแข็งแกร่งในปี2564แน่นอน

สายการบินเอเชียเริ่มให้บริการเที่ยวบินต่างๆท่ามกลางความรู้สึกไม่สบายใจในช่วงหลังยุคโควิด-19ระบาด ประกอบกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สายการบินหลายแห่งถือโอกาสนี้ปรับโครงสร้างองค์กรแต่ท่ามกลางวิกฤติยังคงมีโอกาสให้เห็น ดังที่โทนี่ เฟอร์นานเดซ นักธุรกิจชาวมาเลเซียซึ่งเป็นซีอีโอของสายการบินแอร์เอเชีย กล่าวว่า "นี่คืออีกหนึ่งบทของสายการบินแอร์เอเชียที่ไม่เคยมีจุดจบ และยอมรับว่าปีนี้่เป็นปีที่มีการต่อสู้ดิ้นรนอย่างหนักเพื่อให้อยู่รอด

เฟอร์นานเดซ ซึ่งกล่าวในงานอีเวนท์ทางออนไลน์แห่งหนึ่งจัดโดยบริษัทวิจัยด้านการบินอย่างศูนย์กลางด้านการบิน(คาปา)เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ว่า“ธุรกิจการบินของบริษัทยังคงสดใส เรามั่นใจว่า แอร์เอเชียจะกลับมาแข็งแกร่งขึ้นในปี 2564”

แต่ก็ยอมรับว่ามองแง่บวกน้อยลงเกี่ยวกับสายการบินร่วมทุนในอินเดียที่ทำกับกลุ่มบริษัททาทา กรุ๊ป “อินเดียเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง เป็นตลาดที่เข้าถึงยากสำหรับคนนอกแต่เรารู้ดีว่าเรามีจุดแข็งอยู่ตรงไหน ถ้าเรารู้สึกว่านี่ไม่ใช่ตลาดที่ใช่สำหรับเรา เราก็จะมองหาตลาดทางเลือกอื่นๆ ที่ผ่านมา เราตัดสินใจออกจากตลาดญี่ปุ่นเพราะเรามีรายได้จากตลาดนี้น้อยมาก และการระบาดของโรคโควิดเป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายของเรา ส่วนประเด็นที่ว่าเราควรจะเดินหน้าลงทุนในอินเดียหรือลงทุนเพิ่มเพื่อสยายปีกธุรกิจในตลาดอาเซียน ยังเป็นสิ่งที่เรากำลังหารือกันอยู่ ”เฟอร์นานเดซ กล่าว

บริษัทแอร์เอเชีย กรุ๊ป ออกแถลงการณ์เมื่อวันอังคาร(29ธ.ค.) ว่า บริษัทเตรียมขายหุ้น 32.67% ที่ถืออยู่ในบริษัทแอร์เอเชีย อินเดีย ให้แก่บริษัททาทา ซันส์ เป็นวงเงิน 37.7 ล้านดอลลาร์

ซึ่งก่อนหน้านี้ แอร์เอเชีย กรุ๊ปถือหุ้น 49% ในแอร์เอเชีย อินเดีย ซึ่งเป็นธุรกิจร่วมทุนกับทาทา ซันส์ ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งของทาทา กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมของอินเดีย ขณะที่ทาทา ซันส์ถือหุ้น 51% ในแอร์เอเชีย อินเดีย

การประกาศขายหุ้นแอร์เอเชีย อินเดียส่งผลให้แอร์เอเชีย กรุ๊ปลดการถือครองหุ้นเหลือเพียง 16.33% ขณะที่ทาทา ซันส์เพิ่มการถือครองหุ้นในแอร์เอเชีย อินเดียเป็น 83.67% และแอร์เอเชีย กรุ๊ปคาดว่าจะสามารถปิดธุรกรรมการขายหุ้นในแอร์เอเชีย อินเดียให้แก่ทาทา ซันภายในเดือนมี.ค.ปี 2564

แอร์เอเชีย กรุ๊ป ระบุว่า การขายหุ้นดังกล่าวจะทำให้บริษัทสามารถให้ความสำคัญต่อการฟื้นฟูกิจการในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ที่ผ่านมา แอร์เอเชีย กรุ๊ป ประกาศยุติการดำเนินกิจการในญี่ปุ่นในเดือนต.ค. โดยแอร์เอเชีย เจแปน ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำในเครือแอร์เอเชีย กรุ๊ป ประกาศปิดกิจการ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19

แอร์เอเชีย กรุ๊ป รายงานผลประกอบการในเดือนก.ค.-ก.ย.ขาดทุนเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน ขณะที่วิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมการบิน

มาตรการคุมเข้ม เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ที่ครอบคลุมถึงการล็อกดาวน์ ประกอบกับกระแสความหวาดกลัวว่าการแพร่ระบาดจะรุนแรงยิ่งกว่านี่้ ทำให้ผู้คนจำนวนมากทั่วโลกเลี่ยงเดินทางด้วยเครื่องบิน ส่งผลให้สายการบินหลายแห่งประสบปัญหาขาดแคลนรายได้เป็นเวลานานติดต่อกัน โดยข้อมูลของบริษัทที่รวบรวมข้อมูลด้านการบินอย่างโอเอจี อาวิเอชัน เวิลด์ไวด์ ระบุ่า ที่นั่งบนเครื่องบินในปีนี้่น้อยกว่าปีที่แล้วประมาณ 2.6 พันล้านที่นั่ง หรือมีสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของระดับปี 2562 ขณะที่ซิริอุม บริษัทจัดหาข้อมูลด้านการเดินทางทางอากาศอีกแห่ง ระบุว่า การเดินทางของผู้โดยสารในปีนี้ลดลง 67% เมื่อเทียบกับปี 2562

สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ(ไออาต้า)จัดทำรายงานคาดการณ์เมื่อเดือนพ.ย.ว่า สายการบินทั่วโลกจะประสบภาวะขาดทุน118,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ เลวร้ายกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนมิ.ย.ว่าจะขาดทุน 84,000 ล้านดอลลาร์ ล่าสุด มีความพยายามควบรวมกิจการกันของสายการบินบางแห่งเพื่อความอยู่รอดท่ามกลางสถานการณ์ที่เลวร้ายนี้ เช่น โคเรียน แอร์และเอเชียนา แอร์ไลน์ ของเกาหลีใต้ประกาศแผนควบรวมกิจการกันภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลโซล ซึ่งบรรดาผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม เชื่อว่าจะมีสายการบินเอเชียแห่งอื่นๆเดินตามรอยโคเรียน แอร์ และเอเชียนา แอร์ไลน์ เพราะไม่สามารถทนกับภาวะการผลิตล้นเกิน ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงก่อนที่โรคโควิด-19 จะระบาด

ไออาต้า ระบุว่า ก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกลายเป็นตลาดใหญ่สุดของอุตสาหกรรม โดยปีที่แล้วมีผู้โดยสารคิดเป็นสัดส่วน 35% เทียบกับยุโรป 27% และอเมริกาเหนือ 22%

แม้การบินของภูมิภาคนี้จะมีบทบาทในฐานะเป็นฟันเฟืองหลักขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยได้แรงหนุนจากผู้โดยสารระดับชนชั้นกลางในจีน อินเดีย และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบกับการผงาดขึ้นมาของบรรดาสายการบินต้นทุนต่ำทั้งหลายแต่ก็มีสัญญาณบ่งชี้หลายอย่างว่าสายการบินเหล่านี้กำลังดิ้นรนต่อสู้เพื่อพยุงฐานะทางการเงินมาตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดหนักของโรคโควิด-19

“ความสามารถในการทำกำไรของการบินในเอเชียยังตามหลังภูมิภาคอื่นๆของโลกเพราะมีการแข่งขันที่ดุเดือดและมีผลผลิตล้นเกินความต้องการ”เบรนดัน โซบี ผู้ก่อตั้งโซบี อาวิเอชัน บริษัทที่ปรึกษาด้านการบินมีฐานดำเนินงานในสิงคโปร์ ให้ความเห็น

ขณะที่อัตราการบรรทุกผู้โดยสารในแต่ละเส้นทาง ซึ่งเป็นตัวชี้วัดว่าสายการบินแต่ละแห่งจำหน่ายตั๋วโดยสารไปจำนวนเท่าใดนั้น เมื่อปีที่แล้ว มีอัตราการบรรทุกเพียง 81.9% ต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยทั่วโลกที่ 82.6% และต่ำกว่ายุโรปซึ่งอยู่ที่ 85.2% อยู่มาก ส่วนในอเมริกาเหนือมีอัตราที่ 84.9% แต่ข้อมูลของซิริอุม ระบุว่าความจุที่นั่งโดยรวมของภูมิภาคยังคงเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2.2 พันล้านที่นั่งในปี 2562 เพิ่มขึ้น 28% จากปี 2558