'ศบค' ชี้ 3 ข้อแตกต่าง 'พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด'
'หมอทวีศิลป์' แจง 3 ข้อกำหนด ของประชาชนใน พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด คือ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ต้องปฏิบัติเพิ่มเติม
6 ม.ค. 2563 ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)กล่าวถึงข้อสังเกตุ ความแตกต่าง พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด กับ พื้นที่ควบคุมสูงสุด ว่า พื้นที่ควบคุมสูงสุดได้ประกาศและมีข้อกำหนดออกมาแล้ว เมื่อมีคำว่า เข้มงวด เพิ่มขึ้นมา คือเป็นความเข้มงวดของการเคลื่อนย้ายผู้คน เพราะเป็นไปตามหลักการแพร่กระจายโรค ดังนั้นจึงต้องมีการจัดการคือปิดสถานที่ โดยให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด ที่จะปิดบางสถานที่ที่เป็นแหล่งโรค เช่น บ่อน ร้านอาหาร สถานบันเทิง คาราโอเกะ ตามพื้นที่ที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่ใช่การ 'ชัตดาวน์' หรือ'ล็อคดาวน์' ไม่มี 'เคอร์ฟิว' ไม่มีการปิดการเดินทาง เพราะฉะนั้นแตกต่างกันชัดเจน
ส่วน พื้นที่ควบคุมสูงสุด คือการลดการเดินทางไปมาหาสู่กันใน 28 จังหวัด แต่ในจำนวนนี้ มี 5จังหวัด คือ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด มีคำว่า 'เข้มงวด' เพิ่มขึ้นมาจะมีความยุ่งยากมากขึ้น 3 ข้อ
1.เข้าด่าน นั่งในรถจะต้องได้รับการตรวจอุณหภูมิ สอบถามเพื่อสังเกตอาการ 2.ต้องมีแอปฯหมอชนะ เพื่อใช้ติดตามตัวได้ 3. ต้องได้รับการสอบถามถึงเหตุผลความจำเป็นในการเดินทางของคนใน 5 จังหวัด และต้องแสดงหลักฐานในการรับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ จึงเพิ่มความยุ่งยาก แต่เป็นมาตรการที่ภาครัฐออกมาเพื่อให้คนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบน้อย แต่จำเป็นต้องเดินทาง เช่น ขนส่ง ส่งสินค้าส่งอาหาร โดยต้องไปแจ้งและขึ้นทะเบียนกับทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต.ต้องใช้มาตรการเข้มข้นขึ้นจากเบาไปหาหนัก ดังนั้น เจ้าพนักงานในท้องที่ อาจจะต้องลำบากเนื่องจากต้องมีผู้มาขอใช้บริการแต่ถ้ามีการสื่อสารกับลูกบ้านเพื่อขอร้องให้อยู่บ้านจะทำให้การเดินทางลดลงการเกิดโรคก็จะลดลงด้วย อย่างไรก็ตามที่ต้องเพิ่มมาตรการเช่นนี้เพราะต้องการให้คนที่ไม่มีธุระอยู่บ้าน
ส่วนคนที่อยู่ในจังหวัดอื่นๆขอให้ชะลอหรืองดการเดินทางหากไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ไปจนถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อชะลอการเกิดโรค โควิด-19 อยู่ห่างไว้ ใส่แมสกัน หมั่นล้างมือ มีแอปฯไทยชนะ หมอชนะ มาตรการเหล่านี้ช่วยได้ แต่ถ้าตัวเลขยังแสดงถึงความน่ากลัวหรือพุ่งขึ้นไปในทิศทางที่ชันมากขึ้นเราคงไม่ต้องรอ ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 อย่างพี่นายกรัฐมนตรีระบุว่าต้องดูสถานการณ์เป็นรายวันถ้าไม่ดีก็ต้องเข้มงวดมากขึ้นอีก ขอให้ทุกคนร่วมมือกันอยู่บ้านดีที่สุด
ผู้สื่อข่าวถามว่า หลักการในการพิจารณาพื้นที่ในการตั้งโรงพยาบาลสนาม โฆษกศบค.กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานเรื่องดังกล่าวว่าที่จังหวัดสมุทรสาคร ได้มีการเตรียมพื้นที่ตั้ง ศูนย์ห่วงใยสาคร3 โดยปรากฏเป็นข่าวที่ดีว่า นายวัฒนา แตงมณี นายกอบต. พันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ. สมุทรสาคร เจ้าของพื้นที่โครงการวัฒนาแฟคตอรี่ พร้อมให้ใช้พื้นที่ทำเป็นโรงพยาบาลสนามรองรับได้เป็นพันคน นอกจากนี้ยังมีอีก4-6 พื้นที่ที่เป็นของคนจังหวัดสมุทรสาครเองเสียสละให้เป็นที่พักพิงของคนสมุทรสาคร ที่ยืนยันการติดเชื้อเพื่อให้มาอยู่ด้วยกัน ซึ่งภาพข่าวเชิงบวกอย่างนี้ถือว่านำมาบาลาซ กับภาพข่าวเชิงลบได้ในขณะนี้
ตอนนี้เป็นบทบาทหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขที่จะต้องมองข้ามไปข้างหน้า2-3ก้าว เพื่อเตรียมการรองรับ สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อเป็นการควบคุมโรค ต้องขอขอบคุณภาคเอกชนที่อยู่ในจังหวัดต่างๆ ซึ่งวางแผนกันไว้ว่าโรงพยาบาลสนามที่ไหนก็ต้องเหมาะกับคนในจังหวัดนั้นๆ เพื่อรองรับคนในจังหวัดเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งต้องขอขอบคุณทุกคนล่วงหน้าที่ให้ความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องเตรียมการเอาไว้เพราะไม่ต้องการเห็นภาพที่เห็นกันในต่างประเทศ คือการนอนอยู่ริมถนน นอนอยู่ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม และเป็นอันตรายต่อทั้งผู้ป่วยและคนที่อยู่ใกล้เคียง เราเคยได้เห็นภาพที่ต้องทึ่งกันทั้งโลกแล้ว คือโรงพยาบาลสนามในประเทศจีนที่สร้างใน 7 วัน ในส่วนเมืองไทยของเราบางแห่งนำโรงแรมเดิม มีพื้นที่ว่าง โดยมีผู้บริจาค มาช่วยเหลือกันแบบไทยๆ ตน เชื่อว่าน้ำใจของคนไทยไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชาติอื่น ตอนนี้ต้องรวมใจ รวมไทย สร้างชาติ ยกการ์ด ต้านโควิด-19