อว.ดัน 4 บิ๊กโปรเจค ดึงมหาวิทยาลัยร่วมพัฒนาประเทศ
รมว.อว. ถกอธิการบดีทั่วประเทศดัน 4 บิ๊กโปรเจค “มหาวิทยาลัยสู่ตำบล - พลิกโฉมมหาวิทยาลัย - เศรษฐกิจเชิงพื้นที่ - อว. ส่วนหน้า” ดึงศักยภาพมหาวิทยาลัยร่วมพัฒนาประเทศ
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือเชิงนโยบาย เรื่อง บทบาทของสถาบันอุดมศึกษาในการขับเคลื่อนประเทศโดยมีอธิการบดีและผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเข้าร่วม ว่า อว. มีนโยบายในการสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญ 4 เรื่อง ได้แก่ 1.มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ 2. การพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) 3. มหาวิทยาลัย : ขั้วความเจริญเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ (University as a Marketplace) และ 4.อว. ส่วนหน้า
ทั้ง 4 เรื่องได้ให้แนวทางในการดำเนินงาน ดังนี้ 1. โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบลฯ มีความเกี่ยวข้องกับโครงการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้า โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งการดำเนินงานในลักษณะนี้ จะทำให้มหาวิทยาลัยมีโอกาสและบทบาทมากขึ้นในการพัฒนาจังหวัดที่ชัดเจน โดยให้ อว.ส่วนหน้า ทำหน้าที่เป็นหน่วยราชการภูมิภาคของ อว. เพื่อพัฒนาทั้งจังหวัดและพัฒนามหาวิทยาลัยเอง
2. ให้ปรับรูปแบบการทำงาน จากเดิมที่เป็นการพัฒนาแบบพื้นฐาน ใช้แรงงงานราคาถูก เปลี่ยนเป็นการพัฒนาที่ใช้นวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่ม และเน้นการทำงานแบบรวมพลังของคนในมหาวิทยาลัย เพื่อการพัฒนาประเทศให้พ้นกับดักรายได้ปานกลาง
3. มหาวิทยาลัย มีงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นจำนวนมาก ซึ่งหลายเรื่องสามารถนำมาต่อยอดและใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และเชิงสังคมได้ แต่ยังขาดการประชาสัมพันธ์ในภาพรวมของ อว. ทำให้ไม่เกิดผลกระทบ ในวงกว้างเท่าที่ควร ดังนั้น ควรมีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง โดยนำเสนอผลลัพธ์ ผลกระทบที่ประชาชนได้รับมากกว่าข้อมูลทางสถิติทั่วไป
4.การพลิกโฉมมหาวิทยาลัย เป็นการปรับบทบาทของมหาวิทยาลัยให้มีความสำคัญมากขึ้นในการพัฒนาประเทศ บัณฑิตได้รับการพัฒนาทักษะ ที่จำเป็นสำหรับการมีงานทำ
รมว.อว.กล่าวต่อว่า สำหรับการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย : ขั้วความเจริญเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ (University as a Marketplace) เนื่องจากงบประมาณทั้งในส่วนของ อว. และในส่วนของบุคลากรของ อว. เองสามารถผลักดันให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ได้ ทั้งในส่วนของตลาดกายภาพ ตลาดออนไลน์ หรือการพัฒนาศักยภาพของผู้ขายในตลาดได้
หากมีการปรับแนวคิดและแนวทางในการดำเนินงานจะส่งผลให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถผลิตบัณฑิตได้ตรงตามความต้องการของตลาด และสอดรับกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน เนื่องจากมีการลงพื้นที่เพื่อดำเนินการตอบโจทย์ปัญหาของพื้นที่/ชุมชน อีกทั้งยังก่อให้เกิดการปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย ให้มีการเรียนรู้จากการลงพื้นที่ปฏิบัติจริงมากกว่าการเรียนรู้แต่เพียงทฤษฎีในห้องเรียนเท่านั้น
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังมีนายกสภาและอธิการบดีมหาวิทยาลัยหลายท่านได้เสนอแนะความคิดเห็นเพิ่มเติม อาทิ ในการดำเนินงานแม้จะมีเป้าหมายเรื่องการจ้างงาน แต่ควรเน้นเรื่องการพัฒนาทักษะที่จำเป็น สำหรับการทำงาน และการใช้ชีวิตรวมไปถึงการมีห้องแล็ปที่ช่วยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ และควรให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทร่วมกับมหาวิทยาลัยในการพัฒนาประเทศ ขณะที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีความพร้อมไม่เท่ากัน
ดังนั้น การจัดสรรทรัพยากรและการประเมินผลก็ควรจะต้องจำแนกตามความเชี่ยวชาญของแต่ละสถาบัน มหาวิทยาลัยต้องดำเนินภารกิจของสถาบันทั้งในส่วนของการผลิตบัณฑิตและการพัฒนาความเป็นเลิศ ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนพื้นที่ได้ และเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ควรมีความต่อเนื่องในการดำเนินโครงการ เป็นต้น