เจาะภารกิจ'จารุวรรณ โชติเทวัญ' ปั้นแบรนด์'พอลดีย์'สานอาณาจักรสหฟาร์ม
การต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจ "สหฟาร์ม" อยู่ในสายเลือดทายาท การตัดสินใจสร้างแบรนด์ "พอลดีย์" ฝ่าวิกฤติโควิด ไม่ง่าย แต่ "จารุวรรณ โชติเทวัญ" ขอใช้เป็นประตูเปิดโอกาสครั้งใหม่ สานอาณาจักรฟาร์มไก่
หากเอ่ยชื่อ “สหฟาร์ม” แวดวงอาหาร ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยรู้จักเป็นอย่างดี เพราะเป็นยักษ์ใหญ่ส่งออกไก่ของเมืองไทย ทำตลาดมานานกว่า 5 ทศวรรษ ธุรกิจถูกขับเคลื่อนโดย 2 หัวเรือใหญ่ “ดร.ปัญญา-ดร.มนูญศรี โชติเทวัญ” ในฐานะผู้ก่อตั้งอาณาจักรอาหารป้อนประชากรโลกจนทำยอดขายระดับหมื่นและแสนล้านบาท
ธุรกิจที่เคยเติบใหญ่ แต่บางห้วงเวลาเจอพายุถาโถม ทำให้ทุกคนในครอบครัวหาทางฝ่ามรสุมให้ได้ แม้กิจการสหฟาร์มที่อยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ แต่ “ทายาท” ที่มีดีเอ็นเอนักสู้ และสายเลือดการทำธุรกิจที่หล่อหลอมจากบิดามารดา “จารุวรรณ โชติเทวัญ”ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบสท์โพลทรี จำกัด จึงขยับตัวออกมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ไก่และไข่ภายใต้แบรนด์ “พอลดีย์”ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ระบาด
จารุวรรณ เท้าความการเข้ามาช่วยขับเคลื่อนธุรกิจครอบครัวอย่าง “สหฟาร์ม” ตั้งแต่เด็กๆ ร่วมกับพี่ๆ โดยพ่อแม่มักจะให้ลูกๆ มาช่วยค้าขายสินค้าที่ซูเปอร์มาร์เก็ต ได้โอกาสรับฟังการทำงานเมื่อมีประชุม ครั้นจบการศึกษาจากประเทศอังกฤษได้เข้ามารับไม้ต่อเต็มตัวดูแลด้านการเงิน ก่อนมองหาความท้าทายใหม่กุมบังเหียนงานการตลาดต่างประเทศ ดูแลลูกค้ารายใหญ่ที่มีออเดอร์มหาศาล
สหฟาร์มเป็นองค์กรเก่าแก่กว่า 50 ปี ส่วน “จารุวรรณ”สานกิจการครอบครัวกว่า 20 ปี เห็น Pain point ที่แปลงเป็น “โอกาส” คือการสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ไก่และไข่ทำตลาดอย่างจริงจัง
“เป็นความฝันตั้งแต่เด็กที่จะมีแบรนด์สินค้า เคยถามพ่อว่าทำไมไม่สร้างแบรนด์ตัวเองเพื่อนำสินค้าขายปลีกในห้าง...คำตอบจากพ่อที่ชี้อุปสรรคการค้า และลองบุกตลาดเองจึงรู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย"
จารุวรรณ ใช้เวลา 2 สัปดาห์ปลุกปั้นแบรนด์“พอลดีย์”(Pualdy) ซึ่งมีที่มาจากชื่อบิดา “ปัญญา : PY” ส่วนผลิตภัณฑ์ไก่และไข่ มีแต้มต่อจากการลงทุนร่วมพันล้านบาท ทำฟาร์มไก่อารมณ์ดีบนเนื้อที่ 596 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขาธรรมชาติ ล้อมรอบด้วยเทือกเขาเป็นป้อมปราการธรรมชาติป้องกันเชื้อโรคเข้ามาในพื้นที่ โรงเรือนถูกควบคุมด้วยมาตรฐานการเลี้ยงระดับโลก ไม่ใช้สารเร่งปฏิกิริยาเติบโต และไฮไลท์สำคัญคือการทำให้ไก่มีความสุขด้วยการเปิดเพลงคลาสสิกให้ฟังตั้งแต่วันแรกจนเติบโต ทำให้เป็นไก่ที่มาจากฟาร์มไก่อารมณ์ดี
ด้านผลิตภัณฑ์การันตีถึงคุณภาพ เพราะการบ่มเพาะประสบการณ์ในธุรกิจมาอย่างยาวนานทำให้เข้าใจการเลี้ยงไก่อย่างถ่องแท้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ดังนั้น ของดีทั้งไก่และไข่พอลดีย์จึงวางตำแหน่งทางการตลาด “พรีเมี่ยม” ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ยินดีจ่ายเพื่อสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ
พอลดีย์มีผลิตภัณฑ์ "ไก่" เป็นพระเอก "ไข่" เป็นพระรองที่มาแรง และสินค้าพร้อมมทานพร้อมปรุงตอบโจทย์ผู้บริโภค ส่วนหน้าร้าน“จารุวรรณ”มุ่งช่องทาง “ออนไลน์” เช่น เว็บไซต์ pauldy.comไลน์แอด อินสตาแกรม ฯ เพราะต้องการให้สินค้าจากฟาร์มสดถึงมือผู้บริโภค ซึ่งปีนี้จะผนึกพันธมิตรแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่ม 10 ราย ด้านกลยุทธ์การตลาดมีศิลปิน เซเลบริตี้ช่วยสร้างการรับรู้แบรนด์ และวางแผนนำ "ฟู้ดทรัค" พอลดีย์ไปสร้างประสบการณ์ เสิร์ฟความอร่อยให้ผู้บริโภคยังสถานที่ต่างๆด้วย
โควิดระบาดอีกระลอก เป็นวิกฤติผู้ประกอบการ แต่“จารุวรรณ”เคยเผชิญมรสุมใหญ่อย่างโรคไข้หวัดนกมาแล้ว ซึ่งกระทบการส่งออกไก่ยาวนานเป็น 10 ปี ถึงขั้นขายไก่ในราคาต่ำมากแต่ลูกค้าไม่ซื้อ
“สหฟาร์มเจอโรคไข้หวัดนกระบาดมาก่อน สำหรับเราถือว่าร้ายแรงมากๆ แต่เป็นบทเรียนทำให้เรารับมือวิกฤติได้ดี ขณะที่โควิดถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะทำให้เราลุกขึ้นมาสร้างแบรนด์พอลดีย์ เป็นประตูแห่งโอกาสทางธุรกิจ”
แม้พอลดีย์จะเป็นแบรนด์น้องใหม่ แต่ด้วยจุดเด่นผลิตภัณฑ์ไก่ที่เชื่อว่าแตกต่างจากคู่แข่งจะทำให้เข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภคได้ เป้าหมายการสร้างแบรนด์ครั้งนี้หวังยอดขายกว่า 300 ล้านบาท และแตะ 1,000 ล้านบาท ภายใน 2-3 ปี
ทว่า เป้าหมายใหญ่สุด "จาวุวรรณ" ต้องการเห็นพอลดีย์ เป็นมากกว่าแบรนด์อาหาร เพราะต้องการเห็นแบรนด์ไทยเติบใหญ่และขยายสินค้าไปได้กว้างไกลมาากขึ้น ส่วนจะเป็นอะไร ต้องติดตาม!
ขณะเดียวกันเธอต้องการเห็น “สหฟาร์ม” กลับมาเป็นดาวเด่นอีกครั้งและทำหน้าที่ผลิตอาหารเพื่อป้อนแก่มวลมนุษยชาติ เพราะไม่ว่าแบรนด์ “พอลดีย์” หรือสหฟาร์ม ที่สุดก็คืออาณาจักรที่ครอบครัว “โชติเทวัญ” สร้างมากับมือ
“การสร้างแบรนด์พอลดีย์ ทำให้การตัดสินใจเร็ว เพราะธุรกิจยุคนี้ไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่ช้า การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอด หากเราทำแล้วพบข้อบกพร่องจะเปลี่ยนกลยุทธ์ทันทีจนกว่าจะเจอจุดที่ใช่ แบรนด์เราเกิดภายใน 2 สัปดาห์ โคลนนิ่งทุกอย่างจากประสบการณ์ที่พ่อแม่บ่มเพาะมาตลอด”