ผู้ผลิต ยัน อาหารทะเลปลอดโควิด คุมเข้มตลอดกระบวนการผลิต
ภาคเอกชน ประสานเสียง สินค้าประมงไทยไร้โควิด-19 เข้มตลอดกระบวนการผลิต ได้มาตราฐานGMP ด้านกรมประมง ย้ำสัตว์น้ำไม่ใช่พาหะโรค
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ธุรกิจประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของประเทศไทย ในปัจจุบัน มีแหล่งแพร่กระจายมาจากตลาดกลางกุ้งในจังหวัดสมุทรสาคร และได้มีการขยายวงกว้างไปยังพื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดและนอกจังหวัด ทำให้ผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับอาหารทะเลสด เยือกแข็งและกระป๋องว่า การบริโภคอาหารทะเลแล้วจะติดโรคโควิด-19
จากข้อมูลทางวิชาการของกรมประมงได้ชี้ชัดว่าการแพร่ระบาดของเชื้อ โรคโควิด-19 ในครั้งนี้ ไม่ใช่เกิดจากการแพร่ระบาดจากสัตว์น้ำสู่คน แต่เป็นการแพร่ระบาดจากคนสู่คนซึ่งได้สร้างความเข้าใจผิดให้แก้ผู้บริโภคว่า การบริโภคอาหารทะเลแล้วจะติดโรคโควิด-19 สาเหตุหลักของการแพร่ระบาดโควิด-19มาจากแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมายและได้นำเชื้อไวรัสโควิด-19เข้ามาเมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา และเข้ามาอยู่ปะปนกับชุมชนแรงงานต่างด้าวเก่าที่อยู่ประเทศไทยมานานทำให้มีการแพร่เชื้อโควิด-19ต่อๆ กันมา
ที่ผ่านมาภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในจังหวัดสมุทรสาคร ได้ร่วมมือกันดำเนินมาตรการป้องกันเชิงรุกการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19อย่างเข้มข้นในส่วนโรงงานอุตสาหกรรมหรือสถานประกอบการที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ได้มีการเร่งรัดการดำเนินการความร่วมมือภาครัฐและสถานประกอบการเร่งรัดการตรวจคัดกรองพนักงานและแรงงาน เพื่อแยกแยะบุคลากรที่มีเชื้ออยู่ในตัวแต่ไม่มีอาการหรือป่วยไข้ด้วยโรคโควิด-19แต่สามารถเป็นพาหะนำโรคหรือทำให้คนอื่นติดเชื้อได้ เพื่อหยุดการแพร่ระบาดในจังหวัด
อีกทั้ง สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐตั้งแต่เดือนส.ค.2563ในการป้องกัน การปนเปื้อนเชื้อโควิด-19ในสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ผ่านโครงการ “การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา2019ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก (COVID - 19 Prevention Best Practice)”และจะได้รับหนังสือรับรองว่าสินค้าได้มีการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไโควิด-19ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออกให้กับผู้ผลิตอาหาร โดยหนังสือรับรองดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ ผู้บริโภค และผู้นำเข้าต่างประเทศได้ เป็นต้น
“ขอยืนยันกับประชาชน ผู้บริโภค ผู้ซื้อ และผู้นำเข้า ว่า สัตว์น้ำไทยได้มีการดูแลปฏิบัติ ป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19ในตัวสินค้า เพื่อการบริโภคทั้งในและต่างประเทศ อย่างเต็มที่ที่สุด และให้ความร่วมมืออย่างดีกับภาครัฐที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจากที่ผ่านมาและในอนาคต “
นายวิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า สัตว์น้ำ หรืออาหารทะเลไม่ใช่พาหะในการนำเชื้อโควิดไปติดสู่คนเพราะสัตว์น้ำเป็นสัตว์เลือดเย็นอาศัยในน้ำ หายใจโดยเหงือก แต่ไวรัสโควิดจะแพร่กระจายทางอากาศ อย่างไรก็ตามเมื่อมีการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่จากแรงงานในจ.สมุทรสาคร ทำให้เกิดความกังวลในการบริโภคอาหารทะเล กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงได้เพิ่มมาตรการในการดูแล ควบคุม ตรวจสอบคุณภาพ และมาตรฐานในกระบวนการผลิตสินค้าประมงในโรงงานแปรรูปอย่างเข้มงวด เพื่อยืนยันว่า สินค้าประมงที่ผลิตจากโรงงานที่มีมาตรฐาน Good Manufacturing Practice (GMP) และ Hazard Analysis Critical Control Point (HACCP) มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคสูงสุด
นอกจากนี้ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย กำหนดมาตรการป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำที่มีความเข้มข้นมากขึ้นในทุกขั้นตอนตั้งแต่วัตถุดิบ การปฏิบัติงานในโรงงาน ตลอดจนการขนส่ง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ในส่วนของผู้ซื้อและผู้นำเข้าว่าสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงที่ผลิตจากประเทศไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มาตรฐาน
“สิ่งที่จะลดความเสี่ยงจากปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 โดยในส่วนของการรับประทานอาหาร นั้นผู้บริโภคต้องเลือกซื้อสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ที่มีมาตราฐาน ไม่ควรรับประทานสัตว์น้ำที่ดิบหรือไม่สุก ขณะทีการเลือกซื้่อสัตว์น้ำ ผู้บริโภคควรมีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการหยิบจับสัตว์น้ำเพื่อป้องกันเชื้อโรค"
นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ที่มีการระบาดในรอบแรก สมาคมฯ ได้กำหนดให้สมาชิกทั้งโรงงานทูน่า และโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนผู้ค้าจัดส่งปัจจัยการผลิต (Supply chain) ปฏิบัติตามมาตรการพิเศษของกระทรวงสาธารณสุข และกรมประมงอย่างเข้มงวด และยังมีการจัดทำคลิปวีดีโอขั้นตอนการผลิตจนถึงการขนส่งเผยแพร่ไปทั่วโลกเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ทำให้ตัวเลขการส่งออกทูน่าของไทยยังเติบโต ปัจจุบันก็ยังดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆอยู่ โดยเฉพาะกระบวนการผลิต และกระบวนการควบคุมคุณภาพของปลาทูน่ากระป๋องทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเก็บรักษาปลาทูน่าหลังจับจากทะเลจนถึงส่งขาย อยู่ภายใต้ระบบ HACCP, สินค้าผ่านการฆ่าเชื้อในหม้อนึ่งความดัน (RETORT) ที่อุณหภูมิสูงกว่า 115 องศาเซลเซียส เป็นเวลานานจนค่าความร้อนมากพอที่จะฆ่าเชื้อโรคได้ จึงมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป๋องปลอดภัยจากการปนเปื้อนโควิด-19
นายผณิศวร ชำนาญเวช นายกกิตติคุณ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า ผู้ผลิตและส่งออกสินค้าประมงแช่เยือกแข็ง ตลอดจน Supply Chain ของห้องเย็นทุกโรงงานต่างตระหนักและให้ความสำคัญในการป้องกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนไวรัส รวมถึงสิ่งปนเปื้อนอื่นๆ เข้าสู่กระบวนการผลิตอาหารเพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าอาหารที่ผลิตออกจากโรงงานจนถึงมือผู้บริโภคมีความสะอาดและปลอดภัยตามมาตรฐานสากล
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า สมาคมฯ ให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตอาหารที่ปลอดภัยด้วยระบบ GMP และ HACCP เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าอาหารสำเร็จรูปมีความปลอดภัย และมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อระดับสเตอริไลซ์ด้วยอุณหภูมิสูงกว่า 110 องศาเซลเซียส โดยกระบวนการฆ่าเชื้อดำเนินการภายหลังการปิดฝาแล้ว จึงยืนยันได้ถึงความปลอดเชื้อ และสามารถจัดเก็บได้นานที่อุณหภูมิปกติ และโรงงานยังเพิ่มมาตรการที่เข้มงวดตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข และองค์การอนามัยโลก เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ในผลิตภัณฑ์อาหารและบุคลากรที่ทำการผลิต