พาณิชย์ ชี้ข้อตกลง BREXIT ทำไทยได้ลดภาษีรวม1,524 รายการจากยูเค
สนค.เผยผลวิเคราะห์ BREXIT ชี้สหราชอาณาจักร ลดภาษีสินค้าเพิ่มอีก 700 กว่ารายการ รวมของเก่าอีก 700 รายการทำไทยได้ลดภาษีรวม 1,524 รายการ พร้อมเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอ
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยสถานการณ์เบร็กซิทว่า ตามที่สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป (อียู) ได้บรรลุข้อตกลงการค้าและความร่วมมือ (EU-UK Trade and Cooperation Agreement) ระหว่างกัน เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2563 และสองฝ่ายได้ลงนามข้อตกลงการค้าฯ แล้วนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการให้สัตยาบันจากรัฐสภายุโรป ซึ่งคาดว่าจะประชุมภายในเดือนก.พ. 2564 ในส่วนของสหราชอาณาจักรได้ให้สัตยาบันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับอัตราภาษีนำเข้าของสหราชอาณาจักรหลังเบร็กซิท หลังจากวันที่ 1 ม.ค. 2564 ผู้ส่งออกสินค้าไปยังสหราชอาณาจักรจากประเทศที่ไม่มีข้อตกลงทางการค้า จะต้องใช้อัตราภาษีนำเข้าของสหราชอาณาจักร (UK Global Tariff: UKGT) แทนอัตราภาษีภายใต้กรอบเดิมของอียู (Common External Tariff: EU CET) เป็นครั้งแรกในรอบ 50 กว่าปี
โดยอัตราภาษี UKGT สหราชอาณาจักรได้พิจารณาปรับให้เหมาะสมกับความต้องการของประเทศ สนับสนุนธุรกิจในประเทศให้มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ซึ่งสหราชอาณาจักรได้ลดอัตราภาษีแก่สินค้าอุปโภคบริโภค ของใช้ในครัวเรือน สินค้าที่เป็นปัจจัยการผลิตในห่วงโซ่อุปทาน และสินค้าที่สหราชอาณาจักรไม่สามารถผลิตได้เอง รวมถึงสินค้าที่สนับสนุนอุตสาหกรรมสีเขียว (เช่น ขวดสุญญากาศ หลอดไฟ LED เป็นต้น) นอกจากนี้ สหราชอาณาจักรยังได้ยกเว้นอัตราภาษีนำเข้าชั่วคราวแก่สินค้ายาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ใช้ป้องกันโรคโควิด-19
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยจะได้ประโยชน์จากโครงสร้างอัตราภาษีใหม่ของสหราชอาณาจักร เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมมากขึ้น (Fair Competition) และทำให้เกิดการค้ากันมากขึ้น (Trade Creation) สินค้าไทยจะได้รับประโยชน์จากอัตราภาษีใหม่ของสหราชอาณาจักรที่มีการยกเว้นอัตราภาษี เพิ่มขึ้นจำนวน 732 รายการ จากตารางภาษีเดิมของอียูที่ยกเว้นอัตราภาษีจำนวน 792 รายการ ทำให้สินค้าไทยได้รับการยกเว้นอัตราภาษีทั้งหมด 1,524 รายการ สินค้าสำคัญที่ UK นำเข้าจากไทยและได้ประโยชน์จากภาษีนำเข้าที่ลดลง ได้แก่ ไก่แปรรูป ถุงมือยาง รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องเพชรพลอย ซอสปรุงรส อาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น (ตารางแนบท้าย)
กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญต่อการเจรจาจัดทำความตกลงทางการค้า (FTA) ระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร โดยมีการศึกษาประโยชน์และผลกระทบจากการจัดทำ FTA กับสหราชอาณาจักร เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการเจรจาในอนาคต ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรมีเป้าหมายจะมุ่งหาพันธมิตรทางการค้าใหม่ เพื่อให้ครอบคลุมร้อยละ 80 ของสัดส่วนการค้าทั้งหมด ภายในระยะเวลา 3 ปี ตามนโยบายมุ่งสู่ภูมิภาคเอเชีย All of Asia ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกให้ไทยเป็นเป้าหมายดึงดูดการทำข้อตกลงทางการค้าที่สำคัญ ถ้าหากไทยบรรลุข้อตกลง FTA กับสหราชอาณาจักร จะทำให้ไทยมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นเทียบกับคู่แข่ง เกิดการสร้างการค้าเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป อัญมณี เครื่องเงิน เครื่องนุ่งห่ม ชิ้นส่วนยานยนต์ ยางรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
ทั้งนี้ ในช่วงเวลา 11 เดือนแรกของปี 2563 สหราชอาณาจักรเป็นตลาดส่งออก อันดับที่ 20 ของไทย (เปรียบเทียบในภูมิภาคยุโรป รองจากสวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี) มีมูลค่าการส่งออก 2,828 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 1.3% ของการส่งออกทั้งหมด หดตัว 20.8% ไทยนำเข้าจากสหราชอาณาจักร มูลค่า 1,643 ล้านดอลลาร์ หดตัว 26.7% และเกินดุลการค้ามูลค่า 1,185 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเกินดุลการค้าลดลง10.8%