กลุ่มแบงก์ร่วงยกกลุ่ม คาดกำไรปี 63ลดลงกว่า 30 %
กลางสัปดาห์นี้ตลาดหุ้นจะเริ่มมาโฟกัสที่ผลการดำเนินงานไตรมาส 4 ปี 2563 ซึ่งจะมีผลต่อทิศทางการลงทุน โดยกลุ่มแรกที่เตรียมประกาศ (18-21 ม.ค. 2564 ) กลุ่มธนาคารพาณิชย์ และธนาคารแรกคือ ทิสโก้ ไฟแนนซ์เซียล กรุ๊ป หรือ TISCO (18 ม.ค. 2564)
ที่ผ่านมากลุ่มแบงก์พึ่งมีปัจัยบวกเข้ามาไม่นาน ยิ่งการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ขอรับความช่วยเหลือจนสามารถกลับชำระหนี้ได้ตามปกติ เกิดความคลายความกังวลและทำให้ธนาคารพาณิชย์ได้รับอนุญาตให้สามารถกลับมาจ่ายเงินปันผล ปี 2563 จนการระบาดรอบ 2 ในไทยที่รุนแรงในช่วงต้นเดือนม.ค. จนภาครัฐต้องออกมามาตรการควบคุมพื้นที่สูงสุด 28 จังหวัด รวมทั้งกรุงเทพฯ จึงทำให้เกิดความกังวลสถานการณ์การชำระหนี้ที่ปะทุขึ้นอีกครั้ง
วันนี้ (12 ม.ค.) ได้มีการคาดการณ์ว่าภาครัฐจะอออมาตรการเยียวยา ด้วยการนำร่องสถาบันการเงินภาครัฐมีทั้งเติมสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจ การพักหนี้ลดดอกเบี้ย ส่วนธนาคารพาณิชย์จำกัดเฉพาะบางกลุ่มในการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะมีผลต่อทิศทางกลุ่มในช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 ว่าจะได้รับผลกระทบด้านผลประกอบการ
ก่อนหน้านี้ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ทั้งประเทศธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ช่วยเหลือลูกหนี้พักหนี้ ลดชำระดอกเบี้ย ระยะเวลา 6 เดือน หลังจากมีตัวเลขการขอรับการช่วยเหลือสูงถึง 7.2 ล้านล้านบาท ในเดือนก.ค. 2563 จนสามารถลดลงเหลือ 6 ล้านล้านบาท ในเดือนต.ค. 2563เป็นหนี้ของธนาคารพาณิชย์ 55 % ที่เหลือเป็นของสถาบันการเงินภาครัฐ
สำหรับไตรมาส 4 และทั้งปี 2563 จะมีการประกาศตัวเลขออกมา หลายโบรกประเมินแล้วว่าจะยังไม่เห็นการฟื้นตัวของกำไรจนปี 2564 ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ดีบีเอส วิคเคอร์ส คาดว่าผลประกอบการปี 2563 อ่อนแอจากการตั้งสำรอง ECL สูงขึ้น
โดยประเมินกำไรสุทธิปี 2563 ที่วิเคราะห์ไว้ที่ 8.68 หมื่นล้านบาทหดตัวลดลง 33% จากช่วงเดียวกันปีก่อน มีตัวเลขการตั้งสำรอง ECL เพิ่มขึ้นถึง 59% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ ธนาคารทหารไทย (TMB) เป็นธนาคารเดียวที่คาดว่ากำไรสุทธิปี 2563 จะเติบโต เพราะมีการทำงบการเงินรวมกับ TBANK ตั้งแต่ธ.ค. 2562
ส่วน ธนาคารกสิกรไทย ( KBANK) จะมีกำไรสุทธิลดลงมาที่สุด 47% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะตั้งสำรอง ECL มากและรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยลดลง ด้านกำไรจากการดำเนินงานก่อนตั้งสำรอง (PPOP) ของปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวได้ ซึ่งเป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิสูงขึ้นและค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้ลดลง ประมาณการ PPOP ของกลุ่มเพิ่มขึ้น 17% นำโดย TMB ซึ่ง PPOP โตกว่าเท่าตัวหลังควบรวมกับ TBANK ตามมาด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่โต 14%, ธนาคารกรุงไทย (KTB)13% และ ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) 12%
ให้น้ำหนักลงทุน Overweight สำหรับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยมีหุ้น Top picks เป็น KBANK และ TISCO ทั้งนี้จุดเด่นของกลุ่มคือ ธุรกิจที่ยังมั่นคง ฐานะเงินกองทุนธนาคารพาณิชย์ไทยแข็งแรง และมูลค่าจูงใจ
โดยเลือก KBANK เป็นหุ้นเด่นปี 2564 เพราะคาดว่ากำไรจะฟื้นตัวได้ดี ส่วนหนึ่งมาจากฐานกำไรปี 2563 อยู่ในระดับต่ำ ทำให้คาดว่ากำไรสุทธิปี 2564 จะขยายตัวได้ +10% ขณะที่แบงค์อื่นๆ กำไรทรงตัวถึงขยายตัวเลขหลักเดียว รวมทั้งราคาปัจจุบันมี P/BV ต่ำเพียง 0.6 เท่า
ส่วน TISCO ชอบที่มีเงินกองทุนสูง, ROE สูง และให้ปันผลสูง ส่วนกำไรสุทธิปี 2564 ประเมินว่าจะโต 8% (เป็นลำดับรองลงมาจาก KBANK และพอๆ กับ SCB)
บล.ยูโอบีเคย์ เฮียน (ประเทศไทย)คาดกำไรสุทธิของกลุ่มในไตรมาส 4 ปี 2563 อ่อนตัวลง ปีก่อนและไตรมาสก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงตามฤดูกาล โดย BBL, TCAP และ TISCO มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ส่วนปี2564 คาดว่ากำไรสุทธิของกลุ่มจะเพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อน