'รสนา' แนะรัฐใช้ระบบเน็ตมิเตอร์ริ่งซื้อไฟโซลาร์ภาคประชาชน
“รสนา” แนะรัฐวางเกณฑ์ใหม่โซลาร์ประชาชน ควรส่งเสริมระบบ NET METERING พร้อมจี้ กกพ. คลายเงื่อนไขต้องใช้วิศวกรระดับสูงต้องตรวจเข้มอาคารชี้เพิ่มภาระผู้ติดตั้ง ด้าน กกพ. เร่งถก 2 การไฟฟ้า ก่อนออกประกาศรับซื้อฯในช่วงไตรมาส 1
น.ส.รสนา โตสิตระกูล ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เปิดเผยว่า คปพ.อยู่ระหว่างติดตามการปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัย หรือ โครงการโซลาร์ภาคประชาชน จากทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่มีกำหนดแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้
โดยมองว่า ตามคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2563 ที่ให้ปรับเพิ่ม ราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากกลุ่มบ้านผู้อยู่อาศัย เป็น 2.20 บาทต่อหน่วย จากเดิมรับซื้อในราคาไม่เกิน 1.68 บาทต่อหน่วย และมีเป้าหมายการรับซื้อ 50 เมกะวัตต์ ระยะเวลารับซื้อ 10 ปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 นั้น ในส่วนนี้ ภาครัฐควรส่งเสริมให้ใช้ ระบบ NET METERING หรือ วิธีการหักกลบหน่วยอัตโนมัติจากไฟฟ้าที่ผลิตจาโซลาร์ใช้เองบนหลังคากับไฟฟ้าที่ใช้จากการไฟฟ้าแล้ว เพื่อให้กลุ่มบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปผลิตไฟฟ้าใช้เองเป็นหลัก เกิดการประหยัดค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือน
อีกทั้ง หากภาครัฐต้องการส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในภาคประชาชนจริง ทาง กกพ.ก็ควรผ่อนคลายเงื่นไขที่กำหนดให้ต้องมีวิศวกรระดับสูงเข้ามาตรวจเข้มความพร้อมของอาคาร เพราะตรงนี้จะเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน
“หากรัฐบาล เร่งสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในช่วงนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัวจากผลกระทบโควิด-19 นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่าย เสริมรายได้แล้ว ยังก่อให้เกิดการจ้างงานแก่ นักศึกษา ปวช. ปวส.ที่จะมาติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป และเกิดเป็นธุรกิจใหม่ New Normal และยังเป็นการใช้พลังงานสะอาด”
ส่วนกรณีที่ขยายผลการดำเนินโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ไปยังกลุ่มโรงเรียนสถานศึกษา โรงพยาบาล และสูบน้ำเพื่อการเกษตร (โครงการนำร่อง) โดยกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินที่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ในอัตรา 1.00 บาทต่อหน่วยนั้น เบื้องต้น มองว่า ผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในส่วนนี้ อาจไม่ได้รับประโยชน์จากการขายไฟฟ้ากลับเข้าระบบเท่าที่ควร เนื่องกลุ่มโรงพยาบาล และโรงเรียน โดยส่วนใหญ่ยังผลิตไฟฟ้าไม่พอใช้ และยังจำเป็นต้องซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้า
เช่น การที่กองทุนแสงอาทิตย์ ได้เข้าไปติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้กับโรงพยาบาล 7 แห่ง ใน 4 ภาค คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออก พบว่า ส่วนใหญ่มีความต้องการใช้ไฟฟ้า คิดเป็นรายจ่ายประมาณ 5 แสนบาท ถึง 1 ล้านบาท แต่สามารถติดตั้งได้แค่ 30 กิโลวัตต์ ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้า ดังนั้น การใช้ระบบ NET METERING ก็น่าจะเกิดประโยชน์มากกว่า
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ยังไม่สามารถนำระบบNET METERING มาใช้ได้ เนื่องจากยังติดขัดปัญหา เช่น การคำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น หากแก้ปัญหาได้ ก็จะทำให้ประชาชนที่ผลิตไฟฟ้าสามารถนำมาหักลบลบหนี้หน่วยไฟฟ้าที่ซื้อจากภาครัฐได้ และก็จะสามารถขายไฟฟ้าส่วนเกินเข้าระบบได้ด้วย
แหล่งข่าวคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ระบุว่า ความคืบหน้าการปรับปรุงหลักเณฑ์โครงการโซลาร์ภาคประชาชน กกพ.อยู่ระหว่างหารือกับการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) เพื่อออกระเบียบรับซื้อไฟฟ้าฯ ซึ่งยังต้องศึกษารายละเอียดวิธีดำเนินการให้รอบครอบ เพราะผ่านมายังไม่เคยมีการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์เซลล์จากกลุ่มโรงเรียนสถานศึกษา โรงพยาบาล และสูบน้ำเพื่อการเกษตร (โครงการนำร่อง) โดยจะเร่งดำเนินการให้เกิดความชัดเจนโดยเร็ว หรือเสร็จสิ้นภายในไตรมาส 1 ของปีนี้ เพื่อให้ทั้ง 2 การไฟฟ้าดำเนินการเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการตามขั้นตอนต่อไป
ส่วนกลุ่มครัวเรือนนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 ทาง กฟภ. และกฟน. ได้ปรับราคารับซื้อไฟฟ้า จาก 1.68 บาทต่อหน่วย เป็น 2.20 บาทต่อหน่วยระยะเวลา 10 ปีแล้ว โดยมีผลกับทั้งกลุ่มครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี 2562 และผู้สมัครเข้าร่วมโครงการใหม่ ซึ่งเป็นไปตามมติ กพช. 25 ธ.ค.2563