พัฒนาสารสกัดกัญชา-กัญชง ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์สู่เชิงพาณิชย์

พัฒนาสารสกัดกัญชา-กัญชง ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์สู่เชิงพาณิชย์

ทีเซลส์ – ไบโอ เจเนเทค – วิสาหกิจชุมชน เกษตรอินทรีย์บ้านทุ่งแพม ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากสารสกัดกัญชาและกัญชง เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์สู่เชิงพาณิชย์

วานนี้ (14 มกราคม 2564) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) ร่วมกับ บริษัท ไบโอ เจเนเทค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกและแปรรูปบุก เกษตรอินทรีย์บ้านทุ่งแพม จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็น ภาครัฐ-เอกชน-ชุมชน โดยทั้ง 3 ฝ่าย ร่วมลงนามความร่วมมือพัฒนาและเตรียมความพร้อมของกลุ่มยาที่มีสารสกัดจากกัญชาและกัญชงเพื่อนำไปผลิตเชิงพาณิชย์ และเพื่อใช้ในการรักษาทางการแพทย์ ทั้งในลักษณะที่เป็นยาสมุนไพรและยาแผนปัจจุบัน ภายใต้สัญญา 5 ปี ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ "การพัฒนาและเตรียมความพร้อมของกลุ่มยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีสารสกัดจากกัญชาและกัญชง" โดยจัดงานผ่านทางออนไลน์  Live ผ่าน Facebook TCELS THAILAND ในวันที่ 13 ม.ค. 64  ณ อาคารเอสเจ อินฟินิท วัน บิสซิเนส คอมเพล็กซ์

ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ทีเซลส์ (TCELS) มีพันธกิจในการสนับสนุนบ่มเพาะงานวิจัย และนวัตกรรม เพื่อทำให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการด้านการแพทย์ และสุขภาพ ร่วมถึงผลักดันผลงานวิจัยให้นำไปใช้ได้จริง เชื่อมโยงและนำพาเครือข่ายร่วมกันพัฒนาธุรกิจและการลงทุน ให้พร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร  โดยทีเซลส์ (TCELS) ให้การสนับสนุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทย ให้เกิดพัฒนายาจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนายาใช้เองภายในประเทศ ลดการนำเข้าและเพิ่มการส่งออก

“ด้วยประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพเป็นสมบัติและทรัพยากรสำคัญ จึงมีการนำผลิตภัณฑ์ธรรมชาติมาใช้ในด้านการแพทย์แผนไทยมายาวนาน เช่น กัญชา ซึ่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ได้ระบุว่าผู้ที่สามารถปลูกและผลิตผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป (ในประเทศ) ได้แก่ 1. หน่วยงานของรัฐ ที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัย จัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เกษตรศาสตร์ และให้บริการทางการแพทย์ เภสัชกรรม วิทยาศาสตร์ และเกษตรกรรมเพื่อการแพทย์หรือเภสัชกรรม 2. บุคคลต่อไปนี้ ซึ่งต้องดำเนินการร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ ได้แก่ 2.1) สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่ศึกษาวิจัยหรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์, 2.2) ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร ซึ่งดำเนินการภายในหน่วยงานของรัฐหรือสถาบันอุดมศึกษา และ 2.3) ผู้ขออนุญาตอื่น ตามที่กำหนดในกฏกระทรวง ซึ่งการดำเนินการทุกอย่างต้องได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อน”

161061842947

“และเมื่อ 14 ธ.ค. พ.ศ. 2563 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการปลดล็อก "กัญชา กัญชง" มีผลในวันที่ 15 ธ.ค. 2563 โดยสรุป ส่วนที่ไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด ได้แก่ 1. กัญชาและกัญชงในส่วนของใบที่ไม่ติดกับช่อดอก เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่ง ก้าน และราก 2. เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือ สารสกัดจากเมล็ดกัญชง 3. สารสกัดที่มีสารแคนนาบิไดออล (cannabidiol, CBD) เป็นส่วนประกอบและต้องมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก แต่ส่วนที่ยังเป็นยาเสพติด ได้แก่ ช่อดอกกัญชาและกัญชง รวมทั้งเมล็ดกัญชา ซึ่งยังไม่ปลดล็อกจากยาเสพติด สำหรับส่วนที่ปลดล็อกจากยาเสพติดสามารถนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ อาทิ ใบ อาจนำไปทำผสมเป็นแชมพูและสบู่ เป็นต้น”

ดร.ศิรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “โดยการพัฒนายาจากสารธรรมชาติเพื่อให้เป็นยาใหม่ได้นั้น ประกอบด้วย กระบวนการวิจัยพัฒนายาใหม่ ซึ่งมีความซับซ้อนและยังต้องใช้เวลายาวนาน จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขามาร่วมกันตลอดกระบวนการของการวิจัยและค้นพบยา การพัฒนาตัวยาและผลิตภัณฑ์ การศึกษาวิจัยทางคลินิก และการขึ้นทะเบียนยาเพื่อจำหน่าย โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือ ผลิตภัณฑ์สุขภาพจากกัญชาและกัญชง ซึ่งต้องเริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกที่ได้มาตรฐาน การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งทีเซลส์ (TCELS) ได้ให้การสนับสนุนสถานวิจัยเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากกัญชา ซึ่งจะต้องมีการนำมาศึกษาทางคลินิกเพื่อดูประสิทธิภาพและความปลอดภัย และต้องมีการขึ้นทะเบียนยา จึงจะสามารถผลิตเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้ต้องอาศัยเครือข่ายของผู้เล่นในภาคอุตสาหกรรมและเงินลงทุนจำนวนมากจึงจะสามารถสร้างอุตสาหกรรมการผลิตยาใหม่ในห้ประเทศได้”

161061842980

“โดยบทบาทของทีเซลส์ (TCELS) จะให้การสนับสนุนด้านการวางแผนเพื่อผลักดันการพัฒนาการผลิตเชิงพาณิชย์ของกลุ่มยาที่มีสารสกัดจากกัญชาและกัญชงเพื่อใช้ในการรักษาทางการแพทย์ รวมถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ ที่มีสารสกัดจากกัญชาและกัญชงเป็นส่วนประกอบ และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากสารสกัดกัญชาและกัญชงที่ได้การทำการวิจัยในการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อนำไปศึกษาต่อในการทดลองทางคลินิก รวมถึงมีหน้าที่ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อนำไปผลิตในเชิงพาณิชย์ต่อไปให้การสนับสนุนในการประสานงานกับหน่วยงานราชการเครือข่าย และส่งเสริมต่อยอดผลิตภัณฑ์บริการจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ อีกทั้งทีเซลส์ (TCELS) จะจัดให้มีกิจกรรมส่งเสริมความร่วมมือ เช่น การจับคู่ธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ” ดร. ศิรศักดิ์ กล่าว

นายมารุต บูรณะเศรษฐกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไบโอ เจเนเทค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจโรงงานรับจ้างผลิตยาชีววัตถุและวางระบบที่เกี่ยวข้องกับการผลิตยาชีววัตถุ เปิดเผยว่า “บริษัทฯ ได้ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกและแปรรูปบุก เกษตรอินทรีย์บ้านทุ่งแพม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในการพัฒนาและเตรียมความพร้อมของกลุ่มยาที่มีสารสกัดจากกัญชาและกัญชงเพื่อนำไปผลิตเชิงพาณิชย์ และเพื่อใช้ในการรักษาทางการแพทย์ ทั้งในลักษณะที่เป็นยาสมุนไพรและยาแผนปัจจุบัน รวมถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ ที่มีสารสกัดจากกัญชาและกัญชงเป็นส่วนประกอบ โดยมีระยะเวลาความร่วมมือเป็นเวลา 5 ปี”

“ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ทีเซลส์ (TCELS) ให้การสนับสนุนด้านการวางแผน เพื่อผลักดันการพัฒนาการผลิตเชิงพาณิชย์ของกลุ่มยาที่มีสารสกัดจากกัญชาและกัญชง เพื่อใช้ในการรักษาทางการแพทย์ รวมถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ ที่มีสารสกัดจากกัญชาและกัญชงเป็นส่วนประกอบ พร้อมให้การสนับสนุนในการประสานงานกับหน่วยงานราชการ ประสานงานกับเครือข่าย และส่งเสริมต่อยอดผลิตภัณฑ์บริการจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ตลอดจนจัดให้มีกิจกรรมส่งเสริมความร่วมมือ เช่น การจับคู่ธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น”

161061843164

นายมารุต กล่าวอีกว่า ในส่วนของ “บริษัท ไบโอ เจเนเทค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด” จะให้การสนับสนุนในการบริหารจัดการและประสานงานให้เกิดความร่วมมือระหว่างคู่สัญญาทั้งสามฝ่ายและหน่วยงานภายนอก รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการทำการทดลองทางคลินิค (Clinical Trials) ผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการผลิตเชิงพาณิชย์ เป็นต้น

“ไบโอ เจเนเทคฯ ยังจะดำเนินการกำหนดด้านนโยบายและแผนในการพัฒนาและเตรียมความพร้อมเพื่อนำไปผลิตเชิงพาณิชย์ของกลุ่มยาที่มีสารสกัดจากกัญชาและกัญชง รวมถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น ๆ ที่มีสารสกัดจากกัญชาและกัญชงเป็นส่วนประกอบอีกด้วย”

ขณะที่ วิสาหกิจชุมชนบ้านทุ่งแพม จังหวัดแม่ฮ่องสอน จะให้การสนับสนุนด้านสายพันธุ์กัญชาและกัญชง การปลูก และการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากต้นกัญชาและกัญชงเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการสกัดสารแคนนาบิไดออล (cannabidiol, CBD) และสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC)  รวมทั้งดำเนินการวางแผนและเตรียมความพร้อมด้านการผลิตวัตถุดิบกัญชาและกัญชงเพื่อรองรับการนำไปผลิตเชิงพาณิชย์ของกลุ่มยาและกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีสารสกัดจากกัญชาและกัญชง

นายมารุต กล่าวในตอนท้ายว่า “ในกรณีที่มีการพัฒนาโครงการย่อยภายใต้บันทึกความร่วมมือฉบับนี้ คู่สัญญาทั้งสามฝ่ายตกลงทำสัญญาเป็นข้อตกลงโครงการย่อยโดยทำเป็นลายลักษณ์อักษร มีรายละเอียดอย่างน้อย ประกอบด้วยแผนการดำเนินงาน ขอบเขตการดำเนินงานของแต่ละฝ่าย ระยะเวลาการดำเนินงาน งบประมาณการดำเนินงาน และการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ฯลฯ เป็นรายกรณีไป”