นักวิชาการ คาดปี 64 ส่งออกบวก 3.6 %
ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทยประเมินส่งออกปีนี้เป็นบวก 3.6 % จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวและมีวัคซีนต้านโควิด จับตาปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า ฉุดส่งออกกลับมาติดลบได้ 0.8 %
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์ฯได้วิเคราะห์ทิศทางการส่งออกไทยปี 2564 ภายใต้สถานการณ์ที่ทั่วโลกยังเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 โดยคาดว่าปี 2564 การส่งออกไทยจะขยายตัว 3.6 % มูลค่าการส่งออก 237,200 ล้านดอลลาร์ จากการที่เศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าฟื้นตัว การผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้ตามเป้าหมาย 40 % ของประชากรโลก ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และการลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรืออาร์เซ็ป แต่หากในกรณีเลวร้ายไม่สามารถผลิตวัคซีนโควิด-19ได้ตามเป้าหมาย และจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มวันละ 7-8 แสนคน การส่งออกของไทยจะติดลบ 0.8 % มูลค่า 227,165 ล้านดอลลาร์
ปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกที่สำคัญคือ ไม่สามารถผลิตวัคซีนโควิด-19 คลอบคลุมประชากรโลก ปัญหาค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง โดยประเมินว่า หากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 1 % จะทำให้มูลค่าส่งออกของไทยลดลง 0.11 % ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน ส่งผลให้ต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้น 3-5 เท่าและการส่งออกของไทยในปี 64 จะลดลง 2.2 % มูลค่า 5,159 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือปัญหาใหญ่ที่สำคัญและน่าจะเป็นปัญหาต่อเนื่องของการส่งออกไทย สิ่งที่ภาครัฐต้องเร่งแก้ไข คือ รัฐตั้งกองทุนช่วยเหลือภาระต้นทุนค่าขนส่งทางเรือแก่ผู้ประกอบการส่งออก เร่งคุยกับเจ้าของตู้คอนเทนเนอร์เพื่อให้นำตู้คอนเทนเนอร์เปล่ากลับมาที่ท่าเรือไทย โดยรัฐยอมรับภาระค่าใช้จ่าย เป็นต้น รวมทั้งผลกระทบผลกระทบจากกรอบความตกลงเอฟทีเอเวียดนาม-สหภาพยุโรปหรือ EVFTA ซึ่งประเมินว่า จะทำให้การส่งออกของไทยลดลง 1,1072 ล้านดอลลาร์หรือลดลง 0.47 %
“วัคซีนยังไม่ใช่คำตอบของทั้งหมดเพราะแม้แต่จะมีวัคซีนไม่ได้หมายความว่าทั่วโลกจะปลอดวัคซีนและอาจยังมีการล็อกดาวน์ในบางประเทศ เวลานี้มีความเป็นห่วงว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนและแผนในการกระจายวัคซีนจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยวัคซีนหลายตัวมีข่าวประสิทธิภาพไม่ได้ตามที่มีการประกาศไว้ รวมถึงมีวัคซีนไม่เพียงพอกับความต้องการของประชากร ทำให้เศรษฐกิจโลกก็ยังมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น“
นายอัทธ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามคือ นโยบายของนายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบาย BUY America ที่จะเน้นการเจรจาการค้าแบบพหุภาคี ที่ต้องจับตาคือการเข้ามาเป็นสมาชิกซีพีทีพีพี รวมทั้งนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม การกลับเข้าร่วมความตกลงปารีส ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจรวมโดยรวม การเปลี่ยนแปลงหลังสหราชอาณาจักรลงประชามติให้ถอนตัวออกจากการเป็น สมาชิกสหภาพยุโรป(เบร็กซิท)อังกฤษและแคนาดา แบนสินค้าจีน