ส่องอัตราค่าเดินทางที่ ‘คนเมือง’ ต้องจ่าย หลัง 'กทม.' ปรับราคารถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย
ชวนส่องอัตราค่าเดินทางของ "คนเมือง" ที่ต้องจ่าย หากเดินทางด้วยการคมนาคมขนส่งประเภทต่างๆ จะมีค่าใช้จ่ายเท่าไร? และเกาะติดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS ล่าสุดที่ "กรุงเทพมหานคร" ปรับราคา ทำให้รวมค่าเดินทางเป็นสูงสุดที่ 104 บาท
เป็นเรื่องที่น่าจับตาไม่น้อย เมื่อคนเมืองอาจต้องแบกรับค่าใช้จ่ายมากขึ้น เพราะค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ได้สิ้นสุดการเปิดให้บริการฟรี ไปเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่ง ล่าสุดทางกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการปรับอัตราราคาค่าโดยสาร โดยมีการหารือกับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้บริหารโครงการเดินรถ
เรื่องนี้ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS เผยกับกรุงเทพธุรกิจ ให้รายละเอียดว่า วันที่ 15 ม.ค.2564 BTS ได้หารือกับ กรุงเทพมหานคร เพื่อกำหนดค่าโดยสารอัตราใหม่ช่วงต่อขยายที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 ก.พ.2564 เป็นต้นไป และจะใช้เป็นการชั่วคราว
โดยการปรับค่าโดยสารใหม่จะแบ่งเป็น 4 ช่วง รวมแล้วผู้โดยสารที่นั่งตลอดสายจะเสียค่าโดยสารไม่เกิน 104 บาท เพราะไม่ต้องเสียค่าแรกเข้าในช่วงที่รถไฟฟ้าวิ่งจากส่วนต่อขยายเข้าช่วงที่เป็นสัมปทานของ BTS โดยแบ่งได้ดังนี้
1. ช่วงสัมปทานของบีทีเอส (หมอชิต-อ่อนนุช และ สนามกีฬาฯ-สะพานตากสิน) ค่าโดยสาร 16-44 บาท
2. ส่วนต่อขยายหมอชิต-คูคต ค่าโดยสาร 15-45 บาท (ปรับเพิ่มขึ้นสถานีละ 3 บาท)
3. ส่วนต่อขยายอ่อนนุช-เคหะสมุทรปราการ 15-45 บาท (ปรับเพิ่มขึ้นสถานีละ 3 บาท)
4. ส่วนต่อขยายสะพานตากสิน-บางหว้า 15-33 บาท (ปรับเพิ่มขึ้นสถานีละ 3 บาท)
สำหรับการเจรจาครั้งนี้ตกลงกันที่จะไม่เก็บค่าแรกเข้า เพราะถ้าเก็บค่าแรกเข้าจะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสายอยู่ที่ 134 บาท ซึ่งกรุงเทพมหานครและ BTS มีความเห็นร่วมกันที่จะช่วยประชาชนในเรื่องนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19
"ค่าโดยสาร 104 บาท ยังถือว่าแพงสำหรับประชาชนในช่วงนี้ แต่ตอนนี้ยังทำอะไรไม่ได้ เพราะยังไม่มีการอนุมัติต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งจะมีการคำนวณราคาเป็นไม่เกิน 65 บาท”
ทั้งนี้ยังคงต้องรอการเจรจากันอีกครั้งหนึ่งว่าอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้า BTS จะลงตัวที่เท่าไรกันแน่
“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” จะพาไปส่องอัตราค่าโดยสารของรถขนส่งมวลชนประเภทอื่นๆ ว่าแต่ละประเภทมีอะไรบ้าง? และราคาอยู่ที่เท่าไร?
- รถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ : ค่าโดยสารสูงสุด 45 บาท
ปัจจุบันรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (ARL) ดำเนินการโดยบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด มีทั้ง 8 สถานี ได้แก่ สถานีสุวรรณภูมิ (สนามบินสุวรรณภูมิ) สถานีลาดกระบัง สถานีบ้านทับช้าง สถานีหัวหมาก สถานีรามคำแหง สถานีมักกะสัน (สามารถเชื่อมต่อรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สายสีน้ำเงินที่สถานีเพชรบุรี) สถานีราชปรารภ และสถานีพญาไท (สามารถเชื่อมต่อรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียวอ่อน ที่สถานีพญาไท)
โดยค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 15 บาท ใช้ระยะเวลาประมาณ 5 นาที และค่าโดยสารสูงสุด 45 บาท ใช้ระยะเวลาเดินทางโดยประมาณ 26 นาที
- รถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT)
สำหรับรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) แบ่งการเดินทางเป็น 2 สายหลักๆ คือ 1.สายสีน้ำเงิน และ 2.สายสีม่วง ซึ่งการขยายส่วนต่อออกไปเพื่อให้ครอบคลุมและรองรับการความต้องการเดินทางของประชาชน ที่ปัจจุบันแทบจะแยกกรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมฑลโดยรอบไม่ออกจากกันแล้ว
1. รถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) สายสีน้ำเงิน : สูงสุดอยู่ที่ 42 บาท
ปัจจุบันรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายสีน้ำเงิน หรือสายเฉลิมรัชมงคล มีทั้งหมด 38 สถานี รวมระยะทางทั้งหมด 48 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่เส้นทางหัวลำโพง-บางซื่อ ทั้งหมด 18 สถานี และมีการขยายต่อจากหัวลำโพง-บางแค 11 สถานี รวมถึงการขยายต่อช่วงบางซื่อ-ท่าพระ 9 สถานี
ซึ่งตรงสถานีสีลมสามารถเชื่อมต่อรถไฟฟ้า BTS ได้ที่สถานีศาลาแดง, สถานี MRT สขุมวิท เชื่อมต่อ BTS อโศกได้, สถานี MRT สวนจตุจักร เชื่อมต่อ BTS สถานีหมอชิต, สถานี MRT พหลโยธิน เชื่อมต่อ BTS ห้าแยกลาดพร้าว, สถานี MRT บางหว้า เชื่อมต่อ BTS บางหว้า
ปัจจุบันอัตราค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 42 บาท
2. รถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) สายสีม่วง : สูงสุด 20 บาท ถึงวันที่ 31 ม.ค.64 (อัตราปกติสูงสุด 42 บาท)
ปัจจุบันรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายสีม่วง หรือสายฉลองรัชธรรม มีทั้งหมด 16 สถานี รวมระยะทางทั้งหมด 23 กิโลเมตร เดินรถตั้งแต่สถานคลองบางไผ่-สถานีเตาปูน (ซึ่งจะสามารถเชื่อมต่อรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สายสีน้ำเงิน ที่สถานีเตาปูนได้)
ค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 14-20 บาท จากอัตราปกติสูงสุด 42 บาท โดยเป็นอัตราค่าโดยสารนี้จะมีถึงวันที่ 31 มกราคม 2564 เท่านั้น
ทั้งนี้ เมื่อคำนวณค่าเดินทางต่อเนื่องทั้งสายสีน้ำเงินและสีม่วงสูงสุด 48 บาท ซึ่งคำนวณจาก ค่าโดยสารสายสีม่วงสูงสุด 20 บาท + ค่าโดยสารสีน้ำเงินสูงสุด 42 บาท - ค่าโดยสารแรกเข้า 14 บาท ก็จะเท่ากับค่าโดยสารสูงสุด 48 บาท
- รถเมล์ : สูงสุด 25 บาท (ยังไม่รวมค่าทางด่วน)
ด้านการคมนาคม ขนส่ง การเดินทางที่คนเมืองส่วนใหญ่ใช้จำนวนมาก โดยมีองค์การขนส่งมวลชลกรุงเทพ รัฐวิสาหกิจประเภทสาธารณูปโภค กระทรวงคมนาคม เป็นผู้บริหารจัดการการบริการรถโดยสารประจำทางวิ่งรับ-ส่งประชาชนในเขตกรุงเทพฯ นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี และสมุทรปราการ
ซึ่งจากข้อมูลเมื่อพฤศจิกายน 2563 มีเส้นทางวิ่งทั้งหมด 396 เส้นทาง มีจำนวนรถรวม 8,914 คัน แบ่งเป็น รถ ขสมก. รถธรรมดา 1,520 คัน, รถปรับอากาศ 1,368 คัน, รถ PBC (รถเช่า) 117 คัน และมีรถของบริษัทเอกชนที่ร่วมวิ่งบริการดับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ รถร่วมบริการ รถธรรมดส 444 คัน, รถร่วมบริการ รถปรับอากาศ 162 คัน, รถมินิบัส 457 คัน, รถเล็กในซอย 1,936 คัน, รถตู้โดยสารปรับอากาศ 2,836 คัน และรถตู้ CNG เชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 74 คัน
โดยอัตราค่าโดยสารมีการแบ่งตามประเภทของรถที่ให้บริการ ซึ่ง ดังนี้
- รถธรรมดา (ครีม-แดง) อัตราราคา 8 บาท ตลอดสาย (กะสว่างเพิ่ม 1.50 บาท)
- รถทางด่วน (ครีม-แดง) อัตราราคา 10 บาท ตลอดสาย
- รถบริการตลอดคืน (ครีม-แดง) อัตราราคา 9.50 บาท ตลอดสาย
- รถปรับอากาศ (ครีม-น้ำเงิน) อัตราราคา 12-20 บาท (ตามระยะทาง) ทางด่วนเพิ่มค่าบริการ 2 บาท
- รถปรับอากาศ (ยูโรทู) (เหลือง-ส้ม) อัตราราคา 13-25 บาท (ตามระยะทาง) ทางด่วนเพิ่มค่าบริการ 2 บาท
- รถปรับอากาศ (PBC) (ขาว) อัตราราคา 13-25 บาท (ตามระยะทาง) ทางด่วนเพิ่มค่าบริการ 2 บาท
- รถปรับอากาศ ใช้ก๊าซ (NGV 489) (ฟ้า) อัตราราคา 15-25 บาท (ตามระยะทาง) ทางด่วนเพิ่มค่าบริการ 2 บาท