“แอลเอช-ทิสโก้”กำไรวูบ
แอลเอชไฟแนนซ์ ประกาศผลประกอบการปี 63 กำไรสุทธิ 2,056 ล้านบาท ลดลง 36% เหตุขาดทุนด้านเครดิต ตั้งสำรองหนี้ราว 1,090 ล้านบาท ด้าน ทิสโก้ กำไรร่วง 16% มาที่ 6,063 ล้านบาท หลังมีภาระสำรองพุ่ง 3 พันล้านบาท
บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHFG แจ้งผลประกอบการปี 2563 ระบุว่า บริษัท มีกำไรสุทธิ 2,056.9 ล้านบาท ลดลง 1,157 ล้านบาท หรือลดลง 36% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในปี 2562 บริษัทมีกำไรสุทธิที่ 3,214.6 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการงวดไตรมาส 4/2563 บริษัทมีกำไรสุทธิที่ 205 ล้านบาท ลดลง 674 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นลดลง 76.6% ซึ่งไตรมาส4/2562 บริษัทมีกำไรสุทธิที่ 879 ล้านบาท ทั้งนี้หากเทียบกับไตรมาส 3/2563 มีกำไรสุทธิลดลง 318 ล้านบาท
ผลกำไรสุทธิที่ปรับตัวลดลง เป็นผลขาดทุนจากด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพิ่มขึ้น 110.8% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการกันสำรองส่วนเพิ่มจากการบริการจัดการ เพื่อรองรับกลุ่มลูกหนี้ที่อาจเสื่อมลงในอนาคตที่ตั้งสำรองจำนวน 1,090 ล้านบาท ตามเกณฑ์มาตรฐานเดิมทำให้ธนาคารมีอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ที่ 119.8%
สำหรับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิปี 2563 ปรับเพิ่มขึ้น 4.4% จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ ปี2563 เพิ่มขึ้นจาก 2.11% เป็น 2.17% เมื่อเทียบกับปี 2562 ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยสุทธิ ปรับเพิ่มขึ้น 17.2% เมื่อเทียบกับ ปี 2562 ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นจากกำไรจากเงินลงทุน
ด้านบริษัท ทิสโก้ไฟแนนเซียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO ระบุว่า ผลประกอบการประจำปี 2563 บริษัทมีกำไรสุทธิ 6,063 ล้านบาท ลดลง 1,207 ล้านบาท คิดเป็นลดลง 16.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกำไรสุทธิงวดปี 2562 บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 7,270 ล้านบาท ส่วนผลกำไรงวดไตรมาส 4/2563 บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,636 ล้านบาท ลดลง 229 ล้านบาท คิดเป็นลดลง 12.27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยไตรมาส 4/2562 บริษัทมีกำไรสุทธิที่ 1,865 ล้านบาท อย่างไรก็ตามบริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 25 ล้านบาท คิดเป็น 1.55% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสก่อนหน้า
กำไรสุทธิที่ปรับลดลงเป็นไปตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจกดดันรายได้จากธุรกิจหลักของธนาคาร รวมถึงภาระการตั้งค่าเผื่อสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่สูงขึ้นเพื่อสะท้อนสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน
สำหรับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับเพิ่มขึ้น 2.4% จากการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินที่มีประสิทธิภาพในภาวะดอกเบี้ยขาลง ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 12.6% โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ทั้งธุรกิจนายหน้าประกันภัยและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อจากการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ลดลง