'ธ.ก.ส.' พร้อมดูแล 'เยียวยาเกษตรกร' ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่
'ธ.ก.ส.' ออกมาตรการ "เยียวยาเกษตรกร" รับมือการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่โดยพักชำระหนี้ 6 เดือน - 1 ปี ให้กับเกษตรกร กลุ่มบุคคล กองทุนหมู่บ้านหรือชุมชน ผู้ประกอบการ (นิติบุคคล) องค์กร กลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ (ไม่รวมสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ)
นายสุรชัย รัศมี รองผู้จัดการ รักษาการแทนผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ระลอกใหม่ โดย ธ.ก.ส. ได้ออกมาตรการเยียวยาเกษตรกรเพิ่มเติมจากการพักชำระหนี้ต้นเงินทั้งระบบ เป็นเวลา 1 ปี ที่ดำเนินไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา และเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประกอบการ SMEs สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์บริการ วิสาหกิจชุมชน กองทุนหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวและอยู่ในพื้นที่ 28 จังหวัดที่อยู่ในเขตควบคุมสูงสุดและที่รัฐบาลประกาศเพิ่มเติม โดยธนาคารจะดำเนินการ
1) พักชำระต้นเงินสำหรับเกษตรกร 1 ปี
2) พักชำระต้นเงินผู้ประกอบการ SMEs สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์บริการ วิสาหกิจชุมชน กองทุนหมู่บ้าน ระยะเวลา 6 เดือน
กรณีเป็นสินเชื่อใหม่ที่มีหนี้ถึงกำหนดชำระในเดือนธันวาคม 2563 ถึงพฤษภาคม 2564 ให้พักชำระต้นเงินสินเชื่อฉุกเฉินโควิด-19 ที่ถึงกำหนดชำระออกไปอีก 6 เดือน รวมถึงพักชำระต้นเงินสินเชื่อผู้ที่เข้าร่วมโครงการแก้หนี้นอกระบบออกไปอีก 1 ปี
ข่าวที่น่าสนใจ :
- ‘เกษตรกร’ รับเยียวยา ‘เราชนะ’ 7,000 บาท คลังเคลียร์! ต้องลงทะเบียนหรือไม่!?
- สรุปครบ! 'เราชนะ' โอน 'เงินเยียวยา' ให้กลุ่มไหนบ้าง มีเงื่อนไขสำคัญ
- เปิดวิธีการลงทะเบียน 'เราชนะ' รับ 3,500 บาท 2 เดือน กลุ่มไหน ต้องทำอย่างไร
- ยังกู้ได้! 'สินเชื่อ' ออมสิน 'เสริมพลังฐานราก' กู้ 50,000 ผ่านแอพ 'Mymo'
- 'ประกันสังคม มาตรา 33' อดเงิน 'เราชนะ' ตกลงได้เยียวยา อะไรบ้าง?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- 'เราชนะ' รับเงินเยียวยา 7 พันบาท กดเป็นเงินสดไม่ได้!
- 'เราชนะ' สรุปใครได้ 7,000 บาทบ้าง? ลงทะเบียนอย่างไร เช็คที่นี่!
- เปิดไทม์ไลน์ 'เราชนะ' รับ 7,000 บาท เงินโอนวันไหนบ้าง?
- 'เราชนะ' รับ 7,000 บาท ใครเป็นกลุ่ม 3 ให้ลงทะเบียนได้ 29 ม.ค.นี้
สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ระลอกใหม่ ในภาพรวม ธ.ก.ส.ได้เตรียมวงเงินสนับสนุนรวมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นในครัวเรือน ผ่านโครงการสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงิน 20,000 ล้านบาท ให้กับเกษตรกรและครอบครัวของเกษตรกร ในอัตราดอกเบี้ยคงที่เพียงร้อยละ 0.1 ต่อเดือน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 10,000 บาท กำหนดชำระคืนไม่เกิน 2 ปี 6 เดือนนับจากวันกู้ มีระยะเวลาปลอดการชำระ 6 เดือน ไม่ต้องใช้หลักประกัน และสามารถแบ่งงวดชำระได้ตามความสามารถในการชำระคืน โดยขยายเวลาในการขอสินเชื่อดังกล่าวได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564
และสนับสนุนสินเชื่อใหม่เพื่อนำไปลงทุนและฟื้นฟูการผลิต ผ่านโครงการสินเชื่อฉุกเฉินเสริมสภาพคล่องดอกเบี้ยต่ำ สำหรับผู้ประกอบการและสถาบันเกษตรกร อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 4 ต่อปี วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท (ทั้งนี้คณะกรรมการธนาคารจะให้การอนุมัติสินเชื่อฉุกเฉินและสินเชื่อฉุกเฉินเสริมสภาพคล่องดอกเบี้ยต่ำก่อนการเปิดให้บริการภายในเดือนมกราคม 2564)
นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ได้เตรียมสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูและปรับโครงสร้างธุรกิจ ประกอบด้วย สินเชื่อระยะสั้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Jump Start Credit) อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ (Sufficient Loan) อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ในช่วง 3 เดือนแรก เดือนถัดไปดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี สินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิด อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ในช่วง 3 เดือนแรก เดือนถัดไปดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี สินเชื่อ SMEs (Soft Loan ของธนาคารแห่งประเทศไทย ระยะที่ 2) อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี และสินเชื่อแก้ไขหนี้นอกระบบ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน
นอกจากนี้ ยังช่วยลดภาระหนี้ผ่านโครงการชำระดีมีคืน สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะหนี้ปกติ ที่มีหนี้คงเหลือ ณ 31 ตุลาคม 2563 ยกเว้นสัญญาเงินกู้ตามโครงการที่ได้รับชดเชยดอกเบี้ยตามนโยบายรัฐบาล โดยกรณีเป็นเกษตรกร ทันทีที่ชำระหนี้จะได้รับคืนดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง ไม่เกินรายละ 5,000 บาท กรณีเป็นกลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ นิติบุคคล และกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จะได้รับเงินคืนในอัตราร้อยละ 10 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง แต่ไม่เกินแห่งละ 50,000 บาท วงเงินงบประมาณ 3,000 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 – 31 มีนาคม 2564 หรือจนกว่าจะเต็มวงเงินงบประมาณ
และโครงการลดภาระหนี้ สำหรับลูกค้าที่มีสถานะหนี้เป็นหนี้ค้างชำระเกินกว่า 15 เดือน ซึ่งมีหนี้คงเหลือ ณ 31 ตุลาคม 2563 ยกเว้นสัญญาเงินกู้ตามโครงการที่ได้รับชดเชยดอกเบี้ยตามนโยบายรัฐบาล โดย ธ.ก.ส. จะนำดอกเบี้ยที่คืนให้มาลดภาระหนี้ด้วยการตัดชำระต้นเงิน และหลังจากตัดชำระหนี้แล้ว มีเงินคงเหลือจะโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของเกษตรกรในวันถัดไป ซึ่งในกรณีลูกค้าเกษตรกร จะได้รับคืนดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง และกรณีกลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ นิติบุคคล และกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จะได้รับคืนดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราร้อยละ 10 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง ไม่จำกัดวงเงินที่จะคืน ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 – 31 มีนาคม 2564 รวมทั้งยังจัดทำมาตรการเพื่อผ่อนคลายภาระหนี้ โดยการบริหารจัดการหนี้และขยายเวลาการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับที่มาของรายได้ ทั้งในส่วนของเกษตรกร สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ
นายสุรชัย กล่าวอีกว่า เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และเป็นการดำเนินการตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมของกระทรวงสาธารณสุข ธ.ก.ส. ได้จัดเตรียมช่องทางสำหรับผู้ที่ประสงค์จะใช้บริการกับ ธ.ก.ส. โดยสามารถแสดงความจำนงขอเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้(ในพื้นที่ 28 จังหวัดที่อยู่ในเขตควบคุมสูงสุดและที่รัฐบาลประกาศเพิ่มเติม) ได้ผ่าน LINE Official BAAC Family เว็บไซต์ www.baac.or.th Call Center 0 2555 0555 และ ธ.ก.ส. พื้นที่ 28 จังหวัด สำหรับสินเชื่อฉุกเฉินสามารถส่งคำขอได้ทาง LINE Official BAAC Family สินเชื่อฉุกเฉินเสริมสภาพคล่องดอกเบี้ยต่ำ สินเชื่อระยะสั้นฤดูการผลิตใหม่ สินเชื่อแก้ไขหนี้นอกระบบและสินเชื่อ SMEs (Soft Loan ธปท. ระยะที่ 2) สามารถติดต่อขอสินเชื่อได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ และกรณีสินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพและสินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิด สามารถติดต่อได้ทั้งทาง LINE Official BAAC Family และ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และหลังจากรับเรื่องแล้ว ธ.ก.ส. จะนัดหมายเพื่อทำสัญญา ณ ธ.ก.ส. สาขาในพื้นที่ภูมิลำเนาของลูกค้า
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ไม่มีนโยบายการอนุมัติสินเชื่อผ่านช่องทางออนไลน์ นอกจากเป็นเพียงการแสดงความประสงค์ขอใช้บริการดังกล่าว ดังนั้น ขอให้โปรดระมัดระวังการให้ข้อมูลส่วนบุคคลที่นอกเหนือจากช่องทางที่ ธ.ก.ส. กำหนด