อำนาจหน้าที่ ‘นายกเทศมนตรี-ส.ท.’
ทำความเข้าใจอำนาจ หน้าที่ของ "นายกเทศมนตรี" และ "สภาเทศบาล" ก่อนที่จะไปเลือกตั้งในวันที่ 28 มี.ค.2564 ตามที่ กกต.กำหนด
พลันที่ ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 12 ม.ค.2564 ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาและผู้บริหารเทศบาล ซึ่งเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย โดย กกต.กำหนดให้วันที่ 28 มี.ค.2564 เป็นวันเลือกตั้ง แต่ด้วยเหตุที่โครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของเทศบาลได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมไปค่อนข้างมาก ผมจึงจะนำมาเสนอเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่สนใจ
ปัจจุบันโครงสร้างของเทศบาลในรูปแบบนายกเทศมนตรีนั้น มีโครงสร้างหลักที่คล้ายกับเทศบาลในรูปแบบคณะเทศมนตรี แต่ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารของเทศบาลกับฝ่ายสภาเทศบาลเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือเทศบาลในรูปแบบนายกเทศมนตรีนั้น นายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาลล้วนมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงทั้งคู่
ในขณะเดียวกัน นายกเทศมนตรีสามารถมี “ผู้ช่วย” ได้เช่นกัน แต่จะไม่ถูกเรียกว่า “เทศมนตรี” เนื่องจากในระบบนี้จะถูกเรียกว่า “รองนายกเทศมนตรี” “เลขานุการนายกเทศมนตรี” และ “ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี” โดยจำนวนของผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสามตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของนายกเทศมนตรีโดยตรงนั้นจะมีได้เท่าใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับขนาดของเทศบาล และสิ่งนี้ทำให้เกิดข้อแตกต่างจากเดิมซึ่งสมาชิกสภาฯ (ส.ท.) นั้นจะเป็นผู้เลือกคณะเทศมนตรีมาปฏิบัติหน้าที่ในสามตำแหน่งดังกล่าวนั่นเอง
1.หน้าที่ของนายกเทศมนตรี
มาตรา 48 เตรส แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2543 ได้กำหนดไว้โดยหลักสำคัญ ดังเช่น
(1) กำหนดนโยบายโดยไม่ขัดต่อกฎหมายและรับผิดชอบในการบริหารราชการของเทศบาล ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และเทศบัญญัติ
(2) สั่ง อนุญาต และอนุมัติเกี่ยวกับราชการของเทศบาล
(3) วางระเบียบเพื่อให้งานของเทศบาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
(4) รักษาการให้เป็นไปตามเทศบัญญัติ
ลักษณะการใช้อำนาจของนายกเทศมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงนี้ แตกต่างจากการใช้อำนาจของนายกเทศมนตรีในรูปแบบที่ใช้ร่วมกันของคณะเทศมนตรีในสมัยก่อน กล่าวคือนายกเทศมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงมีลักษณะการใช้อำนาจที่เด็ดขาดกว่า และเป็นผู้ใช้อำนาจแต่เพียงคนเดียว ไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจร่วมกับรองนายกเทศมนตรี
2.หน้าที่ของสภาเทศบาล ได้แก่ (1) หน้าที่ในการออกเทศบัญญัติโดยไม่ขัดหรือแย้งต่อบทกฎหมาย (2) หน้าที่ในการสะท้อนความต้องการของประชาชนในเขตเทศบาล และ (3) หน้าที่ในการตรวจสอบและถ่วงดุลฝ่ายบริหาร โดยอย่างน้อย 3 วิธีการ ได้แก่
(1) การตั้งกระทู้ที่เห็นว่าเป็นปัญหาถามฝ่ายบริหาร
(2) การตรวจสอบการทำงานโดยคณะกรรมการสามัญและวิสามัญของสภาเทศบาล
(3) การเสนอเพื่อให้มีการออกเสียงประชามติในเขตเทศบาล
3.ความสัมพันธ์ระหว่างนายกเทศมนตรีกับสภาเทศบาล มีสาระสำคัญ เช่น นายกฯ และรองนายกฯ จะต้องไม่เป็น ส.ท., สภาเทศบาลไม่ได้ทำหน้าที่ในการเลือกฝ่ายบริหาร เพราะประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งนายกฯ โดยตรง, การดำรงอยู่ของนายกเทศมนตรีไม่ขึ้นอยู่กับสภาเทศบาล
ในกรณีการรับหลักการหรือไม่รับหลักการแห่งร่างเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีของเทศบาลนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องตั้งคณะกรรมการ 15 คน เพื่อพิจารณาหาข้อยุติความขัดแย้ง โดยแก้ไข ปรับปรุง และยืนยันสาระสำคัญในร่างเทศบัญญัตินั้น เมื่อสภาเทศบาลได้รับร่างเทศบัญญัติฉบับที่ได้รับการแก้ไขตามกระบวนดังกล่าวจากฝ่ายของนายกเทศมนตรีแล้ว ให้สภาเทศบาลพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หากพิจารณาไม่แล้วเสร็จหรือไม่เห็นชอบ ก็ให้ร่างฯ นั้นตกไป แล้วให้ใช้เทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปีที่แล้วไปพลางก่อน และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้มีคำสั่งยุบสภาเทศบาล
นอกจากนี้ กฎหมายยังได้เปิดโอกาสให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยุบสภาเทศบาลได้ รวมถึงให้นายกเทศมนตรีพ้นจากตำแหน่งได้อีกด้วย
จากที่กล่าวมาคร่าวๆ ข้างต้น คงจะพอที่จะมองเห็นภาพของบทบาทอำนาจหน้าที่และความสัมพันธ์ของแต่ละฝ่ายที่มีต่อกัน ไม่มากก็น้อยนะครับ