หอการค้าหวั่น“อีอีซี”บอบช้ำ
หอการค้าภาคตะวันออก ชงรัฐอัดมาตรการฟื้นพิษโควิด หวังดึงเศรษฐกิจในพื้นที่ฟื้น ชี้ แม้ไม่ล็อคดาวน์ในพื่้นที่ก็เหมือนล็อคดาวน์ เหตุคุมเข้มเข้า-ออก พื้นที่ คาดสถานการณ์กลับมาเป็นปกติเดือนก.พ.หลังตัวเลขผู้ติดเชิ้อน้อยลง
ภาคตะวันออกเป็นคลัสเตอร์สำคัญในการระบาดโควิด-19 รอบใหม่ โดยเฉพาะ “ชลบุรี” และ “ระยอง” ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคตะวันออกที่กำลังจะฟื้นตัวจึงต้องการให้ภาครัฐเร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก หอการค้าไทย กล่าวว่า การระบาดโควิด-19 รอบใหม่ ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจในระดับ “สาหัส” เพราะมีผู้ติดเชื้อในจังหวัดภาคตะวันออกตั้งแต่ “ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด” ทำให้มีมาตรการควบคุมการเดินทางข้ามจังหวัดเข้มข้นและต้องมีใบอนุญาต
การระบาดรอบนี้ทำให้เศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวจากการระบาดรอบแรกต้องมากระทบซ้ำเข้าไปอีก รวมทั้งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและนักธุรกิจ ซึ่งทุกคนตั้งการ์ดป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อแต่กลับกลายเป็นว่าต้นตอมาจากบ่อนการพนัน ส่งผลให้มีการแพร่ระบาดไปทั่วพื้นที่ ซึ่งส่วนนี้ภาครัฐจะต้องบังคับใช้กฏหมายอย่างเคร่งครัด แต่ภาครัฐกลับมายืนยันว่าไม่มีบ่อนทำให้ประชาชนคนในพื้นที่เสียความรู้สึกต่อรัฐบาล
ทั้งนี้ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดเกิดขึ้นคนในพื้นที่ภาคตะวันออกร่วมมือแก้ปัญหา ซึ่งจะเห็นได้จากตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มน้อยลงทั้งในชลบุรีและระยอง ซึ่งเดิมเป็นศูนย์กลางการระบาดในภาคตะวันออก ขณะนี้ทุกคนคาดหวังว่า หากไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในปลายเดือน ม.ค.นี้ หรือต้นเดือน ก.พ.นี้ สถานการณ์จะดีขึ้น แต่หากปล่อยให้มีการแพร่ระบาดรอบ 3 จากพื้นที่ที่มีการทำผิดกฎหมายเชื่อว่าคนในพื้นที่คงไม่ยินยอมอีกแน่
สำหรับความสูญเสียด้านเศรษฐกิจนั้น มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่าทั้งประเทศมีความเสียหายทางเศรษฐกิจ 1.5 แสนล้านบาท แต่ในภาคตะวันออกประเมินได้ยาก เพราะมีความเชื่อมโยงกัน แต่คาดว่าน่าจะประมาณหมื่นล้านบาท ทั้งจากภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การลงทุน
“แม้การระบาดรอบนี้ไม่ได้ประกาศล็อคดาวน์ แต่ใช้มาตรการคุมเข้มให้จังหวัดสีแดงห้ามคนเข้า-ออก แต่สภาพคล้ายล็อคดาวน์ ธุรกิจท่องเที่ยวหาย โรงแรมไม่มีลูกค้ามาพัก ร้านอาหารบางร้านก็ปิดเพราะไม่มีคนมารับประทานอาหาร”
ขณะที่ด้านการลงทุนที่เดิมมีน้อยอยู่แล้ว ยิ่งมีสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งน้อยลงไปอีก ซึ่งใน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) การลงทุนต่างชาติลดลงมาก โดยเฉพาะจากจีน ปัญหาใหญ่ของการลงทุนไม่ใช่โควิด-19 อย่างเดียว แต่เป็นเพราะปัจจัยสนับสนุนการลงทุนไม่ตอบสนองเศรษฐกิจสมัยใหม่ได้ แม้ไม่มีโควิด-19 การลงทุนก็น้อยอยู่แล้ว โดยมีหลายปัจจัยทั้งด้านแรงงานที่ไม่ตอบสนองอุตสาหกรรมใหม่ เทคโนโลยี ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเดิม แต่ในอุตสาหกรรมใหม่ หรือ New S-Curve มีการลงทุนน้อย
ส่วนมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการนั้นทางหอการค้าไทยเสนอรัฐบาลหลายมาตรการ คงต้องดูรัฐบาลว่าจะตัดสินใจอย่างไร เช่น การจ่ายเงินเยียวยา สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การตั้งกองทุนชื้อทรัพย์สินผู้ประกอบการ
ธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล ประธานหอการค้าจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดเริ่มน้อยลง ทำให้เกิดความมั่นใจกลับมามากหลังจากที่ช่วงแรกมีคนติดเชื้อมาก แต่ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจได้รับผลกระทบหนักสุด โดยเฉพาะการท่องเที่ยว เห็นได้จากพื้นที่พัทยา บางแสน นักท่องเที่ยวหายไปหมด
ส่วนร้านอาหาร โรงแรม ก็ยังพอประคองตัวไปได้บ้าง เพราะไม่ได้มีการปิด เช่น ร้านอาหารยังนั่งรับประทานได้ต่างจากการระบาดครั้งที่แล้วที่ล็อคดาวน์หมด ขณะที่ธุรกิจโรงแรมลูกค้าหายไปเกินครึ่ง แต่เมื่อเทียบกับครั้งแรกก็ยังดีกว่าเพราะไม่ต้องล็อคดาวน์จึงดำเนินธุรกิจได้ แต่ก็ไม่เหมือนเดิมซึ่งก็ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดยังขับเคลื่อนได้บ้าง
ขณะนี้คนในพื้นที่ป้องกันตัวเองและใช้ชีวิตระมัดระวัง ซึ่งการที่ประชาชนมั่นใจว่าการระบาดคลี่คลายในเร็ววันเพราะผู้ติดเชื้อน้อยลง และเริ่มมีการเดินทาง ท่องเที่ยวหรือทำธุรกิจ
ทั้งนี้ ภาคเอกชนต้องการการอัดฉีดงบประมาณลงในพื้นที่ให้เร็วที่สุด เช่น โครงการคนละครึ่งที่เข้าถึงประชาชน กระตุ้นการใช้จ่ายในพื้นที่ทั้งเอสเอ็มอี โชห่วยและร้านอาหาร รวมทั้งต้องการให้แก้ปัญหาการเข้าถึงซอฟท์โลน
ส่วนผู้ประกอบการที่จะเยียวยาก็ใช้มาตรการเดิมโดยการขยายเวลามาตรการออกไปอีก เช่น โครงการซอฟโลนโดยที่ผ่านมามาตรการนี้เอกชนยังไม่สามารถเข้าถึงได้หมด อยากให้มีการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ต่างๆให้ผู้ประกอบการได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มาก
นพดล ตั้งทรงเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดระยอง กล่าวว่า เศรษฐกิจระยองทั้งการท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหารธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องได้รับผลกระทบมากกว่า 90% ภาคค้าปลีกหายไป 50-70% แม้ว่าสถานการณ์เริ่มดีขึ้นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเริ่มกลับบ้างมาในต้น ก.พ.นี้ แต่ต้องการให้ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการการเดินทางข้ามจังหวัด โดยการห้ามเข้า-ออกพื้นที่ยกเว้นที่ต้องขออนุญาต ซึ่งหอการค้าจังหวัดระยองต้องการความชัดเจนว่าจะปลดล็อคได้เมื่อไหร่
“ไม่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวในพื้นที่เพราะหากมาต้องกักตัว14 วัน ซึ่งได้เสนอผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วและรับปากจะไปหารือกับส่วนกลางให้ เพราะหอการค้าฯไม่อยากให้ดำเนินการให้เร็วที่สุดเพราะยิ่งช้าแย่”
รวมทั้งต้องการเห็นมาตรการเยียวยาจากภาครัฐ เพราะเศรษฐกิจในจังหวัดย่ำแย่จากผลโควิด-19 และเอกชนได้เสนอหลายมาตรการ โดยเฉพาะการขอให้เร่งรัดมาตรการเยียวยา เช่น การอัดฉีดเม็ดเงินลงในพื้นที่โดยไม่ต้องผ่านหน่วยงานใด การพักชำหระหนี้ การลดค่าน้ำค่าไฟ โดยเฉพาะการพักชำระหนี้ที่เอสเอ็มอีขาดสภาพคล่องทางการเงินมาก และมีผลต่อการจ่ายเงินเดือนพนักงาน แต่ถ้ายังไม่มีความคืบหน้าเรื่องการแก้หลักเกณฑ์ซอฟโลนจะทำให้เอสเอ็มอีเป็นหนี้เสียมากขึ้น
ทั้งนี้ มาตรการเร่งด่วน คือ การพักชำระหนี้ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟโลน โดยต้องการให้ภาครัฐกำหนดงบประมาณในพื้นที่จังหวัดสีแดง 1 ก้อน เพื่อจังหวัดบริหารงบนี้ช่วยและเยียวยาผู้ประกอบการในพื้นที่