กรมควบคุมโรค เผยจุดเสี่ยงที่สัมผัสร่วมในที่สาธารณะแพร่'โควิด-19'

กรมควบคุมโรค เผยจุดเสี่ยงที่สัมผัสร่วมในที่สาธารณะแพร่'โควิด-19'

กรมควบคุมโรค เผยจุดเสี่ยงที่สัมผัสร่วมในที่สาธารณะ หากสัมผัสแล้วควรรีบล้างมือ ป้องกันโควิด 19 พร้อมแนะผู้ที่ทำงานนอกบ้านต้องเข้มมาตรการ D-M-H-T-T

วันนี้ (23 มกราคม 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ระลอกใหม่ ที่ยังคงพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการลดจำนวนผู้ป่วย ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสจุดที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด 19 ในที่สาธารณะ และลดการเดินทางไปยังสถานที่แออัดอากาศถ่ายเทไม่สะดวกหรือมีคนอยู่เป็นจำนวนมาก แต่หากจำเป็นต้องเดินทางไปทำงานหรือออกนอกบ้านไปทำธุระส่วนตัว ควรปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 อย่างเข้มข้น


สำหรับจุดเสี่ยงที่มีโอกาสจะสัมผัสร่วมกันบ่อยๆ ในที่สาธารณะ ที่ประชาชนควรระมัดระวังเป็นพิเศษ เช่น ราวบันได ห้องน้ำสาธารณะที่ใช้ร่วมกัน ลูกบิดหรือที่จับประตู โทรศัพท์ที่ใช้ร่วมกันในองค์กร ไมโครโฟน ราวจับรถสาธารณะ เหรียญหรือธนบัตร ตู้ ATM โต๊ะทำงาน รถเข็นหรือตะกร้าในห้างหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต ปุ่มกดลิฟต์ และที่เปิดประตูรถสาธารณะ เป็นต้น หากมีการสัมผัสจุดเสี่ยงหรือใช้ของร่วมกับผู้อื่น ควรรีบล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์โดยเร็ว และเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน เพื่อลดความเสี่ยงในแพร่และรับเชื้อดังกล่าว


นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิด 19 ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่จำเป็นต้องเดินทางออกไปทำงานนอกบ้าน หรือยังออกนอกบ้านไปทำธุระส่วนตัว ควรยึดหลัก D-M-H-T-T ได้แก่ D:Social Distancing เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร เลี่ยงการอยู่ในที่แออัด M:Mask Wearing สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา H:Hand Washing ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรืเจลแอลกอฮอล์ T:Testing การตรวจวัดอุณหภูมิและตรวจหาเชื้อโควิด 19 (เฉพาะกรณี) T:Thai Cha Na สแกนไทยชนะก่อนเข้า-ออกสถานที่สาธารณะทุกครั้ง เพื่อให้มีข้อมูลในการประสานงานได้ง่ายขึ้น และ หากกลับถึงบ้านแล้วต้องทำความสะอาดร่างกายทันที เพื่อลดโอกาสการนำเชื้อเข้ามาติดต่อสู่คนในครอบครัว โดยเฉพาะผู้อยู่ร่วมบ้านกับผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว เพราะถ้ากลุ่มดังกล่าวได้รับเชื้อจะมีอาการรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนโหลดแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” เพื่อใช้ในการติดตามไทม์ไลน์ ช่วยให้การสอบสวนควบคุมโรคและติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงได้รวดเร็วยิ่งขึ้น สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422