12 ก.พ.นี้ สธ.เปิดลงทะเบียน "สมัครใจฉีดวัคซีนโควิด-19"
12 ก.พ.นี้ สธ.เปิดลงทะเบียน "สมัครใจฉีดวัคซีนโควิด-19"ผ่าน "หมอพร้อม" กลุ่มแรกบุคลากรการแพทย์ด่านหน้า ล็อตนำเข้าของแอสตราเซเนก้า 50,000 โดส เผยติดตามผลการฉีดวัคซีนแอสตราฯในต่างประเทศ ผลข้างเคียงน้อยกว่าวัคซีนตัวอื่นๆ ถือว่ามีประสิทธิภาพ-ปลอดภัยสูง
เมื่อวัน 25 ม.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข (สธ.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สธ. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ. พร้อมด้วย ผู้บริหารสธ. ได้มีการประชุมทางไกลกับผู้บริการ/นพ.สสจ./ผอ.รพ.รัฐและเอกชน เพื่อชี้แจงการบริหารจัดการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระยะที่ 1 สำหรับบุคลากรการแพทย์ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนส์ โดยนายอนุทิน ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมฯ สั้นฯ ว่า ขณะนี้ระบบสุขภาพ ทั้งสถานพยาบาล บุคลากรและอุปกรณ์ต่างๆ มีการเตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซเนก้าที่จะเข้ามาล็อตแรกต้นเดือนก.พ.จำนวน 50,000 โดส
นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กล่าวว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในระยะแรก จะให้กับกลุ่มเสี่ยง ในพื้นที่เสี่ยง เช่น บุคลากรการแพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ทำงานหน้าด่านในพื้นที่เสี่ยง เช่น จังหวัดสมุทรสาคร กทม. อ.แม่สอด จ.ตาก และชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ เพื่อให้ระบบสาธารณสุขเดินหน้าต่อ และเศรษฐกิจไปต่อได้ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนมั่นใจด้วยว่าแพทย์ก็กล้าฉีด อย่างไรก็ตาม ต้องเป็นไปตามความสมัครใจ โดยให้ลงทะเบียน ลงนามความยินยอม พร้อมติดตามผลตั้งแต่อยู่ที่รพ. 30 นาที จากนั้นติดตามต่อในวันที่ 1 วันที่ 7 และวันที่ 28 หลังรับวัคซีน ทั้งนี้ในจำนวน 50,000 โดสแรกนี้จะให้เป็นเข็มแรกทั้งหมดหรือจะเก็บจำนวนหนึ่งไว้เป็นเข็ม 2 ด้วยหรือไม่นั้น ให้กรรมการผู้เชี่ยวชาญพิจารณาอีกครั้ง เพราะล็อตถัดไปที่จะเข้ามานั้นเบื้องต้นที่แจ้งมาคือเดือนมี.ค., เม.ย. อีก 1 แสน เมื่อวัคซีนมาเมื่อไหร่ก็ต้องนำมาปรับอีกครั้ง ซึ่งกรรมการจะประชุมสรุปอีกครั้ง
“วัคซีนจะมาต้นก.พ.จากนั้นจะต้องมาผ่านกระบวนการต่างๆ ก่อน และกระจายวัคซีนได้ในสัปดาห์ที่ 2 คาดว่าประมาณ สัปดาห์ที่ 3 ถึงจะสามารถฉีดได้ แต่ปลัดสธ.เสนอให้ฉีดวันที่ 14 ก.พ.อย่างไรก็ตาม การฉีดก็ต้องเป็นไปตามความสมัครใจ โดยให้บุคลากรการแพทย์ที่ทำงานหน้าด่านในพื้นที่เสี่ยงลงทะเบียนได้ที่Line Official Account “หมอพร้อม” วันที่ 12 ก.พ. 2564 ส่วนประชาชนกำลังพิจารณาช่องทางการลงทะเบียนที่เหมาะสมอีกครั้ง ซึ่งท่านรองนายกฯ ได้เน้นย้ำว่าการฉีดต้องเป็นธรรม โปร่งใส ไม่ให้มีการเหลื่อมล้ำ” นพ.โสภณ กล่าว
ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า จากการติดตามผลการฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซเนกาที่เริ่มมีการฉีดให้ประชากรในต่างประเทศผลข้างเคียงน้อยกว่าวัคซีนตัวอื่นๆ ถือว่ามีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยสูง เป็นประโยชน์ในการควบคุมโรคในประเทศ สำหรับเป้าหมายการฉีดระยะแรกจะให้ กลุ่มที่ 1 บุคลากรด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีประมาณ 6-7 พันคน กลุ่มที่ 2 คือผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับงานควบคุมป้องกันโรคโควิด ในพื้นที่เสี่ยง กลุ่มนี้มีอยู่ราวๆ หลักพันคน และกลุ่มที่ 3 ประชากรกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อแล้วอาการรุนแรง หรือเสี่ยงเสียชีวิต คือผู้สูงอายุ อายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน หัวใจ และโรคไต ซึ่งมีอยู่หลักแสนคน ทั้งหมดนี้คือตัวเลขที่มี แต่การฉีดสุดท้ายจะต้องเป็นไปตามความสมัครใจ
" เรื่องเข็มฉีด และอุปกรณ์ที่ต้องใช้นั้นมีเพียงพอเพราะมีการผลิตได้เองในประเทศ โดยสัปดาห์หน้าจะทยอยส่งเข็มฉีดไปยังรพ.ต่างๆ จำนวน 2.5 ล้านชุด สำหรับการเตรียมตัวเพื่อรับวัคซีนก็ไม่มีอะไรมาก แค่ดูแลตัวเองให้แข็งแรง เพราะปกติจะไม่ฉีดวัคซีนให้กับคนมีไข้"นพ.โสภณกล่าว