ความท้าทาย ‘ซัมซุง’ หากไร้เงาบอสใหญ่ ‘ลี แจยอง’

ความท้าทาย ‘ซัมซุง’ หากไร้เงาบอสใหญ่ ‘ลี แจยอง’

อนาคตของกลุ่ม “ซัมซุง” (Samsung) เต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถาม หลัง “ลี แจยอง” บิ๊กบอสประกาศยอมรับโทษจำคุก 2 ปีครึ่งจากมหากาพย์คดีติดสินบนสุดอื้อฉาว หลังจากนี้ ยักษ์ใหญ่เกาหลีใต้จะต้องเผชิญกับความท้าทายอะไรบ้าง หากไร้เงาหัวเรือใหญ่คนสำคัญ

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ศาลสูงกรุงโซลของเกาหลีใต้ได้ตัดสินจำคุก “ลี แจ-ยอง” วัย 52 ปี หลานชายของผู้ก่อตั้ง “ซัมซุง กรุ๊ป” เป็นเวลา 2 ปีครึ่ง ฐานติดสินบน ชเว ซุน-ซิล คนสนิทของอดีตประธานาธิบดีปาร์ค กึน เฮ เพื่อให้รัฐบาลสนับสนุนแผนการสืบทอดอำนาจในซัมซุง กรุ๊ป

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันจันทร์ (25 ม.ค.) ลีตัดสินใจว่าจะไม่อุทธรณ์คำตัดสินจำคุก 2 ปีครึ่ง โดยทนายความของเขาเปิดเผยว่า ลีน้อมรับคำตัดสินดังกล่าวแต่โดยดี

การตัดสินใจยอมรับโทษครั้งนี้ ทำให้รองประธานซัมซุงเตรียมกลับไปใช้ชีวิตในเรือนจำอีกครั้ง หลังเคยถูกพิพากษาว่ามีความผิดในข้อหาดังกล่าวและรับโทษจำคุก 5 ปีเมื่อปี 2560 แต่รับโทษเพียงปีเดียวก็ออกมา เนื่องจากศาลอุทธรณ์พลิกคำตัดสินให้เป็นการทำทัณฑ์บนเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน

จากนั้นในเดือน ส.ค. 2562 ศาลฎีกาได้ส่งคดีกลับไปให้ศาลสูงกรุงโซลตัดสิน จนกระทั่งมีคำตัดสินยืนให้จำคุก 30 เดือนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

161156892093

บรรดานักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุผลที่ลีตัดสินใจไม่ยื่นอุทธรณ์ อาจเป็นเพราะรับโทษจำคุกไปแล้ว 1 ปี จึงมีสิทธิได้รับทัณฑ์บนอย่างเร็วที่สุดในเดือน ก.ย.นี้ หากอัยการไม่สามารถอุทธรณ์ให้ศาลตัดสินโทษจำคุกนานกว่าเดิม แต่หากรับโทษครบ 2 ปี 6 เดือน เขาก็จะได้รับการปล่อยตัวในเดือน ก.ค. ปีหน้า

 

  • ผลกระทบต่อธุรกิจ

หลายปีที่ผ่านมา บริษัทซัมซุงถือเป็นเครือธุรกิจรายใหญ่และเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ แน่นอนว่า การตัดสินจำคุกลีซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ อาจสร้างความเสียหายอย่างหนักต่อชื่อเสียงและการดำเนินงานของซัมซุงด้วย ท่ามกลางความท้าทายจากวิกฤติการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกในปัจจุบัน

ยักษ์ใหญ่ซัมซุงประกอบธุรกิจหลายสิบประเภท ซึ่งซีอีโอของแต่ละหน่วยธุรกิจมีหน้าที่รับผิดชอบการดำเนินงานรายวันทั่วไป แต่การตัดสินใจเรื่องสำคัญจะต้องผ่านการเห็นชอบจากลีก่อน

สัญญาณที่สะท้อนถึงอิทธิพลครอบจักรวาลของลี เห็นได้จากคำตัดสินจำคุกล่าสุดนั้น ทำให้เกิดการเทขายหุ้นบริษัทต่าง ๆ ในเครือซัมซุง จนมูลค่าตลาดหายวับทันทีหลายพันล้านดอลลาร์ช่วงสัปดาห์ที่แล้ว

“พวกเขาสูญเสียกัปตันคนสำคัญ อำนาจทั้งหมดรวมศูนย์อยู่ที่คน ๆ เดียว” ไมค์ โช ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจเกาหลีใต้จากมหาวิทยาลัยเกาหลีในกรุงโซล วิเคราะห์

อย่างไรก็ตาม แม้การหายไปของลีจะไม่ใช่ปัญหาใหม่สำหรับซัมซุง เพราะเป็นการเข้าเรือนจำครั้งที่ 2 ในรอบ 4 ปี แต่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสำคัญยิ่งในแง่ธุรกิจ

รอบนี้แตกต่างกับช่วงที่ลีถูกจำคุกเมื่อปี 2560 เนื่องจาก “ซัมซุง อิเลคโทรนิคส์” ไม่ได้อยู่ในช่วงบินสูงเป็นประวัติศาสตร์ในธุรกิจชิพหน่วยความจำแล้ว ช่วงเวลานั้นธุรกิจดังกล่าวรุ่งเรืองมากขนาดช่วยชดเชยผลกระทบจากการเรียกคืนสมาร์ทโฟน “Galaxy Note 7” ทั่วโลกในปีก่อนหน้านั้น

 

  • แผนขยายกิจการชะงัก

ช่วงต้นปี 2563 การระบาดของโควิด-19 ช่วยกระตุ้นยอดขายชิปสำหรับคอมพิวเตอร์และเซิร์ฟเวอร์ข้อมูล เนื่องจากคนจำนวนมากขึ้นหันมาทำงานจากบ้าน หรือ Work From Home เพื่อเลี่ยงการติดเชื้อไวรัส

ขณะนี้ อุตสาหกรรมชิปกำลังแข็งแกร่งขึ้นอย่างรวดเร็ว บรรดาคู่แข่งรายสำคัญของซัมซุงต่างขยายกิจการครั้งใหญ่ ขณะที่ซัมซุงยังไม่เคลื่อนไหวแม้จะมีงบก้อนโตเกือบ 1 แสนล้านดอลลาร์ นั่นเป็นเพราะการเดินหน้าและอนุมัติการซื้อกิจการสำคัญเป็นส่วนหนึ่งในหน้าที่รับผิดชอบของทายาทซัมซุง

ข้อตกลงสำคัญครั้งล่าสุดของซัมซุง ซึ่งใช้งบ 8,000 ล้านดอลลาร์เพื่อซื้อกิจการ “ฮาร์มัน อินเตอร์เนชันแนล อินดัสทรีส์ อิงค์” ผู้ผลิตเทคโนโลยียานยนต์ของสหรัฐ เกิดขึ้นเมื่อกว่า 4 ปีที่แล้วก่อนที่คดีความของลีจะเริ่มไต่สวน

161156932065

ขณะเดียวกัน ธุรกิจสมาร์ทโฟนของซัมซุง ซึ่งชิงส่วนแบ่งตลาดได้มากขึ้นช่วงที่ “หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ โค” คู่แข่งจากจีนเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐและต้องรับมือกับอนาคตที่ยากลำบาก

บรรดาคู่แข่งจากจีนที่ผลิตมือถือราคาถูกกว่าต่างรุกชิงฐานผู้ใช้ของซัมซุงในยุโรป อินเดีย และตลาดอื่น ๆ ขณะที่ “Apple Inc.” ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐเปิดตัว iPhone ที่รองรับเครือข่าย 5G รุ่นแรก ซึ่งเป็นการลดความได้เปรียบของซัมซุงที่กำลังจะเปิดตัวมือถือรุ่นใหม่

 

  • การบริหารเป็น “สุญญากาศ”

ลีเข้ามานั่งตำแหน่ง “ผู้บริหารสูงสุดโดยพฤตินัย” ของซัมซุง กรุ๊ป นับตั้งแต่ ลี คุน ฮี ประธานซัมซุงซึ่งเป็นบิดาของเขา ล้มป่วยด้วยโรคหัวใจในเดือน พ.ค. 2557 แต่การเสียชีวิตของบิดาเมื่อเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว ทำให้มีโอกาสสูงมากที่ลีจะรับตำแหน่งประธานซัมซุงคนใหม่อย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม หากเขาต้องรับโทษจำคุกอีกรอบก็อาจต้องควบคุมเรื่องการถ่ายโอนอำนาจนี้จากในเรือนจำ

161156936055

“บทบาทของลีคือการคุมแนวทางโปรเจคใหม่ ๆ ของซัมซุง” เอสเค คิม นักวิเคราะห์จากบริษัทไดวะกล่าว และว่า รองประธานซัมซุงเคยมีส่วนสำคัญในข้อตกลงใหญ่ต่าง ๆ ของบริษัท เช่น การซื้อกิจการบริษัทฮาร์แมน อินเตอร์เนชันแนล มูลค่า 8,000 ล้านดอลลาร์

“ดีลเหล่านี้เป็นการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับเงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์” คิมเสริม“แต่การหายไปของลี จะทำให้ซัมซุงตัดสินใจเน้นปลอดภัยไว้ก่อนสำหรับการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง”

ขณะที่เจฟฟ์ ดองวอน คิม รองหัวหน้าฝ่ายการวิจัยจากบริษัทด้านการลงทุน “เคบี ซีเคียวริตีส์” ระบุว่า การที่ผู้บริหารใหญ่ต้องเข้าเรือนจำถือเป็นอีกปัญหาสำคัญสำหรับซัมซุง

“ลองนึกถึงผลกระทบทางธุรกิจทั่วโลก หากทิม คุก ซีอีโอของ Apple ถูกจำคุกจากคดีติดสินบนรัฐบาลสหรัฐหลายล้านดอลลาร์” คิมยกตัวอย่างและว่า บรรดาบริษัทการลงทุนมีจิตสำนึกทางสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และอาจต้องการเว้นระยะห่างจากบริษัทที่มีประวัติด่างพร้อยจากเรื่องอื้อฉาว

 

  • ส่งผลดีต่อเกาหลีใต้?

บรรดานักวิเคราะห์มองว่า คำตัดสินคดีอื้อฉาวของทายาทซัมซุง อาจมีผลกระทบเชิงบวกต่อเกาหลีใต้ไม่มากก็น้อย

หลายปีที่ผ่านมา การเลือกที่รักมักที่ชัง การติดสินบน และอิทธิพลทางการเมืองระหว่างนักการเมืองกับนักธุรกิจ ถือเป็นปัญหาเรื้อรังอย่างแท้จริงในเกาหลีใต้

แม้แต่บิดาผู้ล่วงลับของลีเองก็เคยถูกตัดสินว่ามีความผิดในคดีติดสินบนและเลี่ยงภาษี แต่รอดพ้นเรือนจำและได้รับอภัยโทษจากประธานาธิบดีสมัยนั้น นอกจากนี้ บรรดาผู้บริหารของธุรกิจแชโบลรายอื่น ๆ ก็เคยถูกตัดสินว่ามีความผิดในคดีอาญา แต่มักต้องโทษสถานเบาและได้รับอภัยโทษให้กลับมาบริหารธุรกิจของตนต่อไปได้

ชุง ซุน-ซุป หัวหน้าบรรณาธิการ Chaebol.com เว็บไซต์ที่เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ธุรกิจครอบครัวยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ ระบุว่า การส่งลี แจยอง กลับเข้าเรือนจำอีกครั้ง อาจเป็นสัญญาณว่า รัฐบาลเกาหลีใต้เต็มใจที่จะแก้ปัญหาทุจริตอย่างจริงจัง

“นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการทลายความสัมพันธ์อันฉ้อฉลระหว่างภาครัฐกับธุรกิจ ซึ่งถือเป็นเรื่องดีสำหรับเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในระยะยาว”

-----------------------

อ้างอิง: WSJ, Bloomberg, CNN