หนี้เสียกลุ่มแบงก์ส่อพุ่ง “ทีเอ็มบี” คาดปีนี้แตะ6.04 แสนล้าน เพิ่มขึ้น15%จากปีก่อน
“กูรู”คาด หนี้เสียกลุ่มแบงก์ปี 64 เพิ่มขึ้น ด้าน“ไทยพาณิชย์”รับ เอ็นพีแอลขึ้นต่อ จากการเร่งให้การช่วยเหลือลูกหนี้ แต่ยังอยู่ในทิศทางที่บริหารจัดการได้ ขณะที่ศูนย์วิจัยทีเอ็มบี คาดเอ็นพีแอลกลุ่มแบงก์ปีนี้แตะ6.04 แสนล้าน เพิ่มขึ้น15%
นางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)SCB กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ของธนาคารปี 2564 เชื่อว่ายังมีโอกาสเพิ่มขึ้นต่อ หากเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งมาจากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ทำให้ความสามารถชำระหนี้ของลูกหนี้มีโอกาสด้อยลง ดังนั้นแบงก์จึงต้องเร่งเข้าไปประคอง และดูแลให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มขึ้นจากผลกระทบรอบใหม่
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ประเมินว่าเอ็นพีแอลจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่เชื่อว่าจะเป็นระดับที่บริหารจัดการได้ เพราะลูกหนี้ส่วนใหญ่ของธนาคารได้รับการช่วยเหลือมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563
ดังนั้นผลกระทบจากโควิด-19 รอบใหม่ก็อาจไม่มากนัก ส่วนแนวโน้มสำรองเชื่อว่า ยังเห็นการตั้งสำรองอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics กล่าวว่า ประเมินภาพรวมหนี้เสียของระบบธนาคารพาณิชย์ปี 2564 คาดยังเพิ่มขึ้น 15% มาอยู่ที่ 604,000 ล้านบาท จากปี 2563 อยู่ที่ 525,000 ล้านบาท ขณะที่สัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อโดยรวมคาดมาอยู่ที่ 3.60% ซึ่งคิดเป็นการเติบโตราว 12% จากปีก่อนหน้าที่เอ็นพีแอลอยู่ที่ 3.20 %
ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลระบบธนาคารพาณิชย์ แม้จะเพิ่มขึ้นแต่ไม่ได้ก้าวกระโดด เพราะส่วนหนึ่งแบงก์มีการบริหารจัดการเอ็นพีแอลมากขึ้น รวมถึงการปรับโครงสร้าง ทำให้เอ็นพีแอลขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้สามารถรักษาสถานะลูกหนี้ไม่ให้ตกไปอยู่ในกลุ่มเอ็นพีแอลได้
“แนวโน้มหนี้เสียของกลุ่มแบงก์ปีนี้ ขึ้นมา12-15% ถือว่าไม่ได้มากนัก หากเทียบกับปี 2558-2559ที่เอ็นพีแอลโตต่อปีราว 20-30% เพราะที่ผ่านมาแบงก์เหมือนสร้างแก้มลิงเอาไว้แล้ว จากการบริหารจัดการเอ็นพีแอลมากขึ้น ทั้งขายหนี้ เร่งปรับโครงสร้างหนี้เลยทำให้หนี้เสียไม่ได้ขยับมาก ”
นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ประเมินภาพรวมผลการดำเนินงานของ 7 ธนาคาร คือ KBANK ,BBL,KKP,SCB,KTB,TMB,TISCO คาดมีกำไรสุทธิที่ 1.18 แสนล้านบาท เติบโต 5% หากเทียบกับปีก่อนที่ 1.13 แสนล้านบาท ขณะที่ปี 2565 คาดกำไรโต 22% แตะระดับ 1.43 แสนล้านบาท จากเศรษฐกิจ และโควิด-19 ที่น่าจะชัดเจนขึ้นในปีนี้
ส่วนแนวโน้มหนี้เสียทั้ง 7 ธนาคาร คาดการณ์อยู่ที่ 4.9% ปีนี้ จาก 4.2% ปีก่อนหน้า ส่วนสำรองหนี้เสีย คาดว่าจะเห็นการตั้งสำรองหนี้เสียเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สู่ 2.09 แสนล้านบาท จากปีก่อนหน้าที่ 1.99 แสนล้านบาท หลังจากแบงก์น่าจะเห็นผลกระทบจากโควิด-19ชัดเจนในปีนี้ ทำให้ตั้งสำรองหนี้เพื่อรองรับความเสี่ยงได้มากขึ้น
ด้านคำแนะนำ มองกลุ่มแบงก์ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และราคาหุ้นกลุ่มนี้เทรดที่P/B เพียง 0.69 เท่า แม้ขึ้นมาจากช่วงต่ำสุดปีก่อนที่ 0.45 เท่าของบุ๊ค แต่ยังถือว่าต่ำ ดังนั้นประเมินว่ามีโอกาสที่จะเห็นหุ้นแบงก์เทรดกันที่ 0.75-0.8 เท่าของบุ๊คได้ ดังนั้นแนะนำ ซื้อ BBL โดยให้ราคาเป้าหมายที่ 146 บาท ,KBANK ที่ 156 บาท , SCB 109 บาท