สมานฉันท์ฝ่ายค้าน-ฝ่ายแค้น ศึกกู้ศักดิ์ศรี-ปลอดดีลรัฐบาล
คีย์แมนของทุกพรรคเห็นตรงกันว่า สัดส่วนของเวลาการอภิปรายจะต้องเฉลี่ยจากจำนวน ส.ส. ให้เท่าเทียมกันมากที่สุด โดยแต่ละพรรคจะไปจัดเรียงเอาเองว่าจะมอบหมายให้ ส.ส.คนใด ใช้เวลาอภิปรายกี่นาที
ในที่สุดพรรคร่วมฝ่ายค้าน 7 พรรค ก็ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจการทำงานของรัฐบาลได้สำเร็จเสร็จสรรพเมื่อวานนี้(25ม.ค.) ต่อจากนี้่ก็เข้าสู่โหมด “ลับมีดรอ” เพราะยังมีเวลาอีกว่าครึ่งเดือนในการจัดเตรียมข้อมูล เอกสาร หลักฐาน รอเชือด “รัฐบาล” ซึ่งคาดว่านัดหมายกันวันที่ 16-20 ก.พ.ไม่น่าคลาดเคลื่อน
ศึกซักฟอกครั้งนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านรู้ดีว่า “มวลชน-แฟนคลับ” คาดหวังเอาไว้สูง ยิ่งบรรดา “ม็อบสามนิ้ว” ที่ลงทุน-ลงแรงไปเยอะ หวังว่าเกมในสภาจะช่วยดึงกระแสจุดประเด็นให้กลับมาเคลื่อนไหวบนถนนกันอีกครั้ง
เมื่อความคาดหวังสูง มาตรฐานการอภิปรายก็จะสูงตามไปด้วย ดังนั้นกลเกมที่พรรคแกนนำอย่าง “เพื่อไทย” เคยใช้กับพรรคร่วมฝ่ายค้าน จึงถูกนำมาถอดบทเรียนใหม่หมด
โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล หรืออดีตพรรคอนาคตใหม่ หากยังจำกันได้ศึกซักฟอกครั้งก่อน พรรคเพื่อไทยอาการความเก๋าเกม อภิปรายลากยาวกินเวลาของ ส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่ จนไม่สามารถอภิปรายในสภาได้ ทำให้ ส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่ ต้องหอบเอกสารมาซักฟอกนอกสภา
แถมปล่อยให้ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลอยนวลไม่ถูกอภิปราย ทั้งที่เป็นเป้าหลักที่ ส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่ โหมโรงว่ามีหมัดเด็ดไว้น็อค แม้จะนำหมัดเด็ดมาอภิปรายนอกสภา แต่ก็ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ เพราะไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครอง
บทเรียนที่ได้รับทำให้ พรรคก้าวไกล ต้องวางแผน-วางเกมอย่างสุขุมและรอบคอบมากที่สุด การประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน แม้จะมีการขอให้เปิดเผยประเด็นที่จะอภิปราย เพื่อจัดหมวดหมู่ จัดคิว แต่พรรคก้าวไกลขออุบไต๋ไว้ก่อน เพราะยังผวาว่า “ข้อสอบ” อาจจะรั่วเหมือนครั้งก่อน
ครั้งนี้พรรคก้าวไกลจึงแจ้งต่อที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านเพียงแค่รายชื่อ “รัฐมนตรี” ที่จะอภิปราย โดยมี 5 รายชื่อ ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี รมว.พาณิชย์ และนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย
ถึงแม้ระดับ “ผู้ใหญ่” อย่าง “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” หัวหน้าพรรคประชาชาติ จะขอให้เปิดประเด็นอภิปราย แต่พรรคก้าวไกลยืนยันจะไม่เปิดเผย ทำให้ที่ประชุมพรรคฝ่ายค้านจึงต้องปล่อยผ่าน
อย่างไรก็ตามการจัดรูปแบบการอภิปรายในครั้งนี้ถือว่า พรรคร่วมฝ่ายค้าน ต่างก็มีส่วนร่วมกันทุกพรรค แตกต่างจากครั้งก่อนที่พรรคเพื่อไทย จะคอยกำกับการแสดงเพียงพรรคเดียว ทั้งการกำหนดเวลา การวางคนอภิปราย การลำดับประเด็นอภิปราย เป็นต้น
ปัญหาที่เคยเกิดจากการดีลเกมในสภา ที่เคยตกเป็นหน้าที่ของ “วิปฝ่ายค้าน-วิปรัฐบาล” ระหว่าง “สุทิน คลังแสง” ประธานวิปฝ่ายค้าน วางเกมร่วมกับ “วิรัช รัตนเศรษฐ์” ประธานวิปรัฐบาล ก็เป็นบทเรียนที่ฝ่ายค้านได้ปรับเปลี่ยนใหม่
เนื่องจากประเด็นขัดแย้งที่เคยเกิดขึ้นในครั้งที่แล้ว ในส่วนของฝ่ายค้าน เนื่องจากช่วงไพร์มไทม์ ที่มีประชาชนดูการถ่ายทอดสดมากที่สุด ซึ่งอยู่ระหว่างเวลา 18.00 น.-22.00 น. “สุทิน” วางให้ส.ส.พรรคเพื่อไทยเป็นผู้อภิปราย ส่วน ส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่ มักจะได้อภิปรายหลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป
ทว่าการวางเกม-วางคน ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ พรรคเพื่อไทย ยอมถอยให้พรรคร่วมฝ่ายค้าน เข้ามาช่วยบริหารจัดการทั้งเรื่องผู้อภิปราย-เวลาอภิปราย-ช่วงเวลาอภิปราย
โดย “ทีมพรรคร่วมฝ่ายค้าน” ได้ปรับรูปแบบการทำงานใหม่ ไม่ให้เอกสิทธิ์ “สุทิน”ในการตัดสินใจ และไม่ใช้แค่กลไก ระหว่างวิปฝ่ายค้านในการประสานงานกับวิปรัฐบาลเท่านั้น แต่ให้ทุกพรรคส่งตัวแทนมาพูดคุยทำความเข้าใจกันตลอดเวลา
คีย์แมนหลักในการกำหนดเกมในสภาฯ จึงประกอบด้วย “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล “ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคก้าวไกล “พล.ต.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส” หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย “วันมูหะหมัดนอร์ มะทา” หัวหน้าพรรคประชาชาติ โดยมี “ภูมิธรรม เวชยชัย” ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้าน คอยเป็นตัวเชื่อมทุกฝ่ายอีกชั้น
ล่าสุด คีย์แมนของทุกพรรคเห็นตรงกันว่า สัดส่วนของเวลาการอภิปรายจะต้องเฉลี่ยจากจำนวน ส.ส. ให้เท่าเทียมกันมากที่สุด โดยแต่ละพรรคจะไปจัดเรียงเอาเองว่าจะมอบหมายให้ ส.ส.คนใด ใช้เวลาอภิปรายกี่นาที
ส่วนช่วงเวลาที่จะอภิปรายจะจัดแบ่งอย่างเหมาะสม โดยจะแบ่งเวลาช่วงไพร์มไทม์ให้ พรรคก้าวไกล ได้มีโอกาสอภิปรายในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย ส่วนจะเป็นวันใดยังหาข้อสรุปกันอยู่
เมื่อตรวจสอบสถานการณ์ยามนี้ของฝ่ายค้าน ที่เคยเป็นฝ่ายแค้น มองหน้ากันไม่ติดในครั้งที่แล้ว มาถึงวันนี้ถือว่าเกิดความสมานฉันท์ของทุกพรรค ชนิดที่แพคเป็นทีมเดียวกัน พร้อมเปิดศึกกับพรรคร่วมอย่างเต็มรูปแบบ
งานหลักจึงอาจตกไปที่ “ขั้วรัฐบาล” ว่าจะใช้สูตรใดคอยพิทักษ์-ปกป้อง “รัฐมนตรี” ในสังกัด ที่จะถูกแซะแผลเก่าและเปิดแผลใหม่ เพราะเที่ยวนี้ถือเป็นศึกกู้ศักดิ์ศรี และไม่มีดีล เหมือนรอบที่แล้ว