หุ้นชิ้นส่วนฯ เกาะเทรนด์โลก ดัน ‘HANA’ จ่อยอดขายเพิ่ม

หุ้นชิ้นส่วนฯ เกาะเทรนด์โลก ดัน ‘HANA’ จ่อยอดขายเพิ่ม

หุ้นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เวียนลงทุนและมีการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นน่าสนใจไม่น้อย จากบริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA  ไปสู่ บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA   

จนทำให้หุ้นในกลุ่มดังกล่าวขึ้นมานำตลาดหุ้นไทยสลับตัวลงทุนอยู่ตลอดเวลา

หลังจากกระแสหุ้น DELTA  ที่ขึ้นมาแรงหลังเข้า SET 50  แต่ฟรีโฟลตกลับน้อนมากจนตลาดหลักทรัพย์ต้องมีการออกมาตรการเข้ามาแก้เกณฑ์ในหุ้นที่มีฟรีโฟลตต่ำและมีผลต่อดัชนีตลาดหุ้น ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลงมาแรงเช่นกัน

หากแต่เสน่ห์ของหุ้นในกลุ่มชิ้นส่วนอีเล็กโทรนิคส์ไม่ได้ลดลงเลย เพราะมีหุ้นอย่าง HANA เข้ามาดึงความสนใจของนักลงทุนแทน  ด้วยราคาหุ้นช่วงเดือนม.ค. 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 50 % จากราคา 39.75 บาท มาทำราคาสูงสุดที่ 59.50 บาท ( 25 ม.ค. 2564) ซึ่งราคาหุ้นยังมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อ

ภาพธุรกิจถือว่าอิงกับปัจจัยบวกที่เกิดขึ้นทั่วโลกจากความต้องการอุปกรณ์ไอทีเพิ่มสูงขึ้น ตอบรับกับวิถีใหม่ หรือนิวนอมอล ที่ต้องทำงานจากบ้าน  หรือเรียนหนังสือผ่านออนไลน์  จนทำให้กลุ่มผู้ผลิตมียอดออเดอร์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย     

ด้าน HANA ถือว่าเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกในฐานผู้ผลิตเซมิคอนดัคเตอร์ ที่ใช้ในอุปกรณ์ไอทีหรือสมาร์ทโฟนติดอันดับ 1 ใน 50 รายใหญ่ของโลกเลยก็ว่าได้  โดยมีผลิตภัณฑ์ 3 ประเภทหลักๆ คือ ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แผงวงจร (PCBA)  กลุ่มไอซี (IC) และผลิตภัณฑ์ Liquid Crystal on Silicon (LCoS )

ด้วยฐานการผลิต 6 แห่ง ในไทย –จีน –สหรัฐ  และกัมพูชา  ด้วยพื้นที่การผลิต 1.1 ล้านตารางฟุต  และมีการผลิตเพื่อส่งให้กับฐานลูกค้าไอที 30 %ของรายได้ และ 15-17 % ผลิตให้กับกลุ่มยานยนต์

ก่อนหน้านี้บริษัทเจอผลกระทบจากสงครามการค้าจีนกับสหรัฐ   มีการย้ายฐานการผลิตจากจีน  บวกกับทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งมีผลโดยตรงกับบริษัทเนื่องจากซื้อขายสกุลเงินดอลลาร์ 100 %  จึงทำให้รายได้ในปี 2562 ได้รับผลกระทบ

ช่วงปี 2563 สถานการณ์ความต้องการเซมิคอนดัคเตอร์ยังทรงตัวและอาจจะติดลบได้ จากปริมาณการผลิตที่ลดลง แต่การมาของ 5G และสถานการณ์โควิด-19 กลับกลายเป็นผลดีให้บริษัทจนยอดขายค่อยๆเห็นการฟื้นตัวรายไตรมาส

International Data Corporation (IDC) ประเมินว่ายอดขาย สมาร์ทโฟนทั่วโลกจะกลับมาเติบโตได้ประมาณ 3.4% ต่อปี ตั้งแต่ช่วงปี 2564-2566 (เทียบกับอัตราการเติบโตที่ลดลง 3.3% ต่อปี ในช่วงปี2559-2563 )  สาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีจาก 4G เป็น 5G ส่งผลให้ความต้องการเปลี่ยนสมาร์ทโฟน เพิ่มขึ้น

มุมมองของ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ดีบีเอส วิคเคอร์ (ประเทศไทย) ประเมินดไตรมาส 4 ปี 2563 กำไรจากธรุกิจ  ลดลง  33% จากปีก่อน  เป็น 275 ล้านบาท เพราะอัตรากำไรขั้นต้นอ่อนลงจากค่าเงินบาทแข็ง โดยคาดไว้ที่ 10% จาก 13.2% ในไตรมาส 4 ปี 2562  และ 11.9% ใน ไตรมาส 3 ปี 25963 และมีขาดทุนสต็อก อย่างไรก็ดี มีตัวช่วยคือ กำไรค่าเงินบาทที่ป้องกันความเสี่ยง180 ล้านบาท ทำให้กำไรสุทธิบรรทัดสุดท้ายเป็น 455 ล้านบาท (-11%YoY, +42%QoQ)

ยอดขายเพิ่มขึ้น 1.5%YoY และ 7.4%QoQ เป็น 165 ล้านดอลลาร์ ซึ่งดีขึ้นมากจากช่วง  9 เดือนแรก 2563 ที่หดตัวเกือบ -10% การฟื้นตัวมาจากอุปสงค์จากลุ่มสมาร์ทโฟนสูงขึ้นหลังเปิดตัว 5G และความต้องการซื้อจากกลุ่มยานยนต์ดีขึ้น

แนวโน้มไปได้ดี โดยเฉพาะในครึ่งปีแรก 2564  โดยอุปสงค์จากกลุ่มสมาร์ทโฟนและยานยนต์ยังแข็งแกร่งต่อ เพราะอุตสาหกรรมอยู่ในช่วงของการเพิ่มสต็อกหลังมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเมื่อมีวัคซีนโควิด บริษัทกลับมาสั่งซื้ออุปกรณ์เพื่อขยายธุรกิจอีกครั้ง แนะนำถือ ให้ราคาพื้นฐานใหม่ 54.75 บาท