ซีอีโอ ‘แอร์เอเชีย’ มั่นใจ ปลายปีนี้เปิดบินทุกเส้นทาง
"โทนี เฟอร์นานเดส" ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) แอร์เอเชีย สายการบินต้นทุนต่ำสัญชาติมาเลเซีย ให้สัมภาษณ์รายการ “สคว็อก บ็อกซ์ เอเชีย” ของซีเอ็นบีซี โดยคาดการณ์ว่าสายการบินจะหวนกลับมาให้บริการในเส้นทางต่างๆ ได้เกือบทุกเส้นทางภายในปลายปีนี้
เฟอร์นานเดส มีความเห็นว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมการบินโลกเริ่มฟื้นตัวเนื่องจากหลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ให้แก่ประชาชนของประเทศตัวเองในวงกว้าง และมั่นใจว่าแนวโน้มธุรกิจการบินจะดีขึ้น แต่ก็ยอมรับว่าการทำธุรกิจในช่วงนี้เป็นความท้าทายที่สุด
“ที่สำคัญที่สุดคือมีความต้องการเดินทางทางอากาศ เราแค่รอให้มีการเปิดพรมแดน ซึ่งผมคิดว่าเราอยู่ในกลุ่มธุรกิจแรกๆที่จะฟื้นตัวจากมุมมองของสายการบิน เพราะเราเป็นสายการบินในประเทศและระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่งมาก” ซีอีโอแอร์เอเชีย กล่าว
การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเดินทาง ทำให้สายการบินหลายแห่งต้องดิ้นรนเอาตัวรอดด้วยการลดต้นทุนธุรกิจครั้งใหญ่ ที่รวมถึงการปลดพนักงาน ระงับคำสั่งซื้อเครื่องบินโดยสาร และปลดระวางฝูงบินที่มีอยู่และลดเส้นทางบิน เมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ(ไออาต้า) ระบุว่า สายการบินต่างๆจะขาดทุนสุทธิ 118.5 พันล้านดอลลาร์ในปี 2563 ส่วนปีนี้ คาดว่าจะขาดทุนสุทธิ 38.7 พันล้านดอลลาร์
แอร์เอเชียก็เป็นหนึ่งในสายการบินที่ต้องดิ่้นรนเอาตัวรอด โดยเมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว บริษัทรายงานภาวะขาดทุนติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ห้าในช่วงเดือนก.ค.และก.ย.และกำลังอยู่ในขั้นตอนของการระดมทุนผ่านทางการกู้ยืมและเชิญชวนนักลงทุนที่สนใจเข้ามาลงทุนในบริษัท โดยเฟอร์นานเดส บอกว่า บริษัทกำลังระดมทุนให้ได้ 2.5 พันล้านริงกิต (618 ล้านดอลลาร์)เพื่อนำมาใช้กับทั้งเครือบริษัท รวมถึงธุรกิจดิจิทัลของแอร์เอเชีย และหน่วยงานด้านโลจิสติก ซึ่งทั้งสองธุรกิจนี้มีผลประกอบการสดใส
"ธุรกิจของเราล่าช้าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเป้าที่วางไว้แต่ส่วนใหญ่ถือว่าเป็นไปตามเป้า เรามั่นใจมากว่าเงินทุนก้อนนี้ที่เราจะระดมได้ จะช่วยให้การดำเนินธุรกิจราบรื่นไปจนถึงปี 2566 โดยบริษัทจะมีโครงสร้างต้นทุนที่ดีขึ้น ธุรกิจดิจิทัลแข็งแกร่งและความต้องการเดินทางทางอากาศจะเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของราคาหุ้นแอร์เอเชีย ปรับตัวร่วงลงเกือบ 22% ในปีนี้ หลังจากมีข่าวว่าสายการบินชลอการสั่งซื้อเครื่องบินโดยสารจากแอร์บัสไว้ก่อน ซึ่งในเรื่องนี้ เฟอร์นานเดส กล่าวว่า แอร์เอเชียอยู่ระหว่างเจรจากับแอร์บัสและการจองเครื่องบินโดยสารระยะยาวกับแอร์บัสยังคงมีอยู่ ไม่ได้ถูกยกเลิก "เราจำเป็นต้องปรับกำหนดเวลานิดหน่อย แต่การตัดสินใจระยะสั้นของเราเกี่ยวกับการสั่งซื้อเครื่องบินยังคงเหมือนเดิม
แอร์เอเชีย เป็นหนึ่งในกลุ่มลูกค้ารายใหญ่สุดของแอร์บัสนับตั้งแต่สายการบินต้นทุนต่ำแห่งนี้เปลี่ยนจากการซื้อเครื่องบินโดยสารของบริษัทโบอิงเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งสำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่าตอนนั้น แอร์เอเชียสั่งซื้อเครื่องบินเจ็ทของแอร์บัสจำนวนกว่า 660 ลำ รวมถึงเครื่องบินอีกหลายลำที่ยังไม่ได้ทำการส่งมอบ
ซีอีโอแอร์เอเชีย ยังกล่าวถึงบรรยากาศการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ว่า สายการบินบางแห่งปรับลดขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร และสายการบินบางแห่งก็ตัดสินใจปิดฉากธุรกิจ แต่แอร์เอเชีย ซึ่งเลือกใช้มาตรการต่างๆที่ลดต้นทุนธุรกิจและคาดว่ามาตรการนี้จะช่วยปรับปรุงผลประกอบการของบริษัทให้ดีขึ้นได้
เฟอร์นานเดส ยังคาดการณ์ว่า สายการบินต้นทุนต่ำที่ให้บริการเที่ยวบินระยะสั้นและให้บริการขายสินค้าตามที่ลูกค้าต้องการจะฟื้นตัวเร็วกว่าบรรดาสายการบินที่ให้บริการไปยังจุดหมายปลายทางระหว่างประเทศและเน้นพึ่งพาชั้นเฟิร์สต์คลาสหรือบิสสิเนสคลาส เพราะการเดินทางเพื่อทำธุรกิจต้องใช้เวลายาวนานกว่าจะฟื้นตัว ขณะที่มีผู้คนมากขึ้นเลือกที่จะทำธุรกิจในรูปแบบเสมือนจริง หรือรูปแบบติดต่อสื่อสารทางไกล
"เวลาจะเป็นตัวเยียวยาที่ดี และในท้ายที่สุด การเดินทางเพื่อทำธุรกิจของทั่วโลกจะกลับมาเหมือนเดิมเพียงแต่มีองค์ประกอบบางอย่างที่อาจจะทำให้เราพูดว่า ที่จริงเราประชุมทางธุรกิจได้นี่นาผ่านทางซูม" เฟอร์นานเดส กล่าวทิ้งท้าย