SCG ลุยลงทุนปีนี้ 7 หมื่นล้าน หวัง 'วัคซีน' ฟื้นความเชื่อมั่น
“เอสซีจี” ตั้งเป้ายอดขายปี 64 โต 5-10% จากปิโตรเคมี-แพคเกจจิ้งขยายตัวต่อเนื่อง วางงบลงทุนปีนี้ 6.5-7.5 หมื่นล้านบาท ลุยขยายธุรกิจในมือ แนะรัฐ-เอกชน ผนึกกำลังนำเข้าวัคซีน ฟื้นเชื่อมั่นลงทุนเอกชน-ประชาชน
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จํากัด (มหาชน) หรือ SCG เปิดเผยว่า ตั้งเป้ายอดขายปี 2564 จะเติบโต 5-10% เมื่อเทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 3.99 แสนล้านบาท ซึ่งเติบโตจาก 2 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจเคมิคอลส์ และธุรกิจแพคเกจจิ้ง ส่วนธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างจะฟื้นตัวช่วงครึ่งปีหลัง โดยวางแผนใช้งบลงทุนปีนี้ 65,000-75,000 ล้านบาท จากปี 2563 มีแผนงบลงทุน 60,000 ล้านบาท แต่ใช้จริง 58,000 ล้านบาท
งบลงทุนส่วนใหญ่ในปี 2564 นำไปใช้ขยายการลงทุนโครงการเดิมที่มีศักยภาพ เช่น โครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ที่เวียดนาม ซึ่งช่วงต้นปีนี้คืบหน้าตามแผน 70% และจะเสร็จใน 2 ปีข้างหน้า รวมถึงขยายการลงทุนในธุรกิจอื่น เช่น แพคเกจจิ้ง ซีเมนต์
ส่วนธุรกิจเคมิคอลส์ได้ต่อยอดธุรกิจปลายน้ำและกลุ่มธุรกิจใหม่ เพื่อเพิ่มความแตกต่างด้านผลิตภัณฑ์ และความยืดหยุ่นให้กับธุรกิจ เช่น เร่งพัฒนาโซลูชันด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งการผลิตเม็ดพลาสติกจากขยะชุมชนและโรงงานสาธิตกระบวนการรีไซเคิลทางเคมี ซึ่งร่วมกับสตาร์ทอัพมีกำลังผลิต 4,000 ตันต่อปี โดยใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนพลาสติกใช้แล้วเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับโรงงานปิโตรเคมี
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีความชัดเจนในการขยายการลงทุนเชิงพาณิชย์อีก 3-6 เดือนข้างหน้า หลังจากทดสอบและการประเมินผลโครงการนำร่อง โดยเชื่อมั่นว่าจะเป็นโซลูชันตอบโจทย์การจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน และนำ Renewable Feedstock เป็นวัตถุดิบโรงงานปิโตรเคมีขั้นต้น
ขณะที่ราคาส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ (สเปรด) ปีนี้ประเมินยาก แต่หากดูราคาน้ำมันต้นปีนี้สูงขึ้นจากไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ส่งผลให้ราคาปิโตรเคมีปรับตัวขึ้น ประกอบกับครึ่งปีแรกการระบาดของโควิด-19 ยังหนักทำให้คาดว่าราคาน้ำมันจะปรับขึ้นจากไตรมาส 4 ที่ผ่านมา ในระดับ 5-10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลให้สเปรดแคบลง แต่ความต้องการปิโตรเคมียังทรงตัว
สำหรับการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้ทุกหน่วยงานต้องลุกขึ้นมาเข้มงวดกับเรื่องของสาธารณะสุขมากขึ้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และแน่นอนว่าย่อมมีผลกระทบต่อการอุปโภคและบริโภค ขณะที่บางธุรกิจยังไม่รับผลกระทบต่อเนื่อง เช่น การท่องเที่ยวที่เดิมกำลังจะฟื้นตัวพอเจอโควิด-19 ระลอกใหม่ ก็ทำให้ธุรกิจเงียบลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจยังลดลง ดังนั้น ภาครัฐและภาคธุรกิจ ควรร่วมมือกันในการประคับประคองให้ธุรกิจผ่านพ้นสถานการณ์ในช่วงนี้ไปได้
ขณะเดียวกันการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่เริ่มนำออกมาใช้ ทำให้ภาพของสถานการณ์เริ่มเห็นทางออกในการแก้ไขวิกฤตในครั้งนี้ ฉะนั้น หน่วยงายภาครัฐและภาคเอกชน ควรร่วมมือกันว่าทำอย่างไรให้วัคซีนที่ออกมามีความปลอดภัยและเข้าถึงประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้โดยเร็วที่สุด และบริษัทเองก็พร้อมสนับสนุนเรื่องของวัคซีนเพื่อให้ไทยก้าวผ่านปัญหาไปได้
ทั้งนี้ ผลกระทบจากโควิด-19 ต่อภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างตั้งแต่ปี 2563 อาจเห็นผลกระทบไม่มากนัก เพราะโครงการเก่ายังพัฒนาตามแผน แต่โครงการใหม่ของภาคเอกชนชะลอตัวชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 3-4 ปีที่แล้วถึงปัจจุบัน และจะชะลอต่อเนื่องจากผลกระทบโควิด-19 ระลอกใหม่ ฉะนั้นการลงทุนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับบ้านอยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์ต้องรอความเชื่อมั่นและหวังว่าจะเห็นการกลับมาฟื้นตัวได้ครึ่งปีหลัง
ส่วนแผนขยายการลงทุน บริษัท ได้แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ การลงทุนในส่วนของโครงการเดิมที่มีศักยภาพและต้องดำเนินการให้เสร็จตามแผน เช่น โครงการ ปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ที่เวียดนาม และโครงการ MOC Debottleneck จะแล้วเสร็จในไตรมาส 1 ปีนี้ หลังคืบหน้า 99% ซึ่งมีกำลังการผลิตโอเลฟินส์เพิ่มขึ้น 350,000 ตันต่อปี รวมถึงโครงการขยายการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ในฟิลิปปินส์ โดยมีกําลังการผลิตส่วนเพิ่ม 2.2 แสนตันต่อปี จะต้องทำให้แล้วเสร็จตามแผน
ส่วนโครงการที่เสริมสร้างความเข้มแข็งของฐานธุรกิจ เช่น ธุรกิจเคมิคอลส์ได้ต่อยอดและเพิ่มความยืดหยุ่นในการพัฒนาโซลูชันด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนรองรับเทรนด์ใหม่ และมีอีกหลายโครงการที่ขยายฐานการลงทุนในภูมิภาค ซึ่งในส่วนแพคเกจจิ้งก็มีอีกหลายโครงการ รวมถึงซีเมนต์ซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างก็พัฒนาช่องทาง Active Omni-Channel
อีกทั้งการลงทุนใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีนำเข้ามาเสริมและพัฒนาธุรกิจ เช่น เทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรม เรื่องความยั่งยืนและเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งจะส่งเสริมกลุ่มบ้านอยู่อาศัยและอุปกรณ์ทางการแพทย์ และพร้อมที่จะนำเข้าให้พัฒนาโซลูชั่นและผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการ
สำหรับผลการดำเนินงานปี 2563 มีรายได้จากการขาย 399,939 ล้านบาท ลดลง 9 % จากปีก่อนหน้า เพราะราคาและปริมาณขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ลดลง และมีกำไร 34,144 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากปีก่อน จากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในทุกธุรกิจ โดยปี 2563 มียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (HVA) 126,115 ล้านบาท คิดเป็น 32% ของยอดขายรวม
อีกทั้ง มีรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากไทยปี 2563 ทั้งสิ้น 168,719 ล้านบาท โดยคิดเป็นสัดส่วน 42% ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้นจาก 41% ในปีก่อนหน้า