สมัคร 'เราชนะ' แต่มีประวัติ 'ปกปิดไทม์ไลน์-แจ้งเท็จ' ระวังถูกตัดสิทธิ!
สมัคร "เราชนะ" ผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com วันที่ 29 ม.ค. พบเงื่อนไขสำคัญ หากผู้สมัครมีประวัติ "ปกปิดไทม์ไลน์" หรือ "แจ้งเท็จ" ระหว่างการสอบสวนโรคโควิด-19 นอกจากอาจถูกดำเนินคดีซึ่งมีโทษปรับหรือจำคุกแล้ว ระวังถูกตัดสิทธิร่วมเราชนะด้วย
เว็บไซต์ www.เราชนะ.com เปิดให้ลงทะเบียนในเวลา 06.00-23.00 น.ของทุกวันตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค.2564 โดยเปิดรับเรื่อย ๆ ไม่จำกัดจำนวน ไปจนถึงวันที่ 12 ก.พ. 2564
ขณะที่กระทรวงการคลัง เผยว่า มียอดผู้ลงทะเบียน "เราชนะ" นับถึงเวลา 12.00 น.วันนี้ (29 ม.ค.) อยู่ที่ 4.9 ล้านรายแล้ว และยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าตัวเลขจะเพิ่มอีกจำนวนเท่าไร
อย่างไรก็ตาม ก่อนลงทะเบียน ประชาชนควรรับรู้เงื่อนไขสำคัญของโครงการเราชนะ โดย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้ตรวจสอบ "หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และความยินยอมสำหรับประชาชนที่เข้าร่วมโครงเราชนะ" จากหน้า www.เราชนะ.com พบว่า มีเงื่อนไขที่หลายคนอาจยังไม่รู้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการฝ่าฝืนมาตรการของรัฐในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 รวมอยู่ด้วย
ทั้งนี้ การฝ่าฝืนมาตรการคุมโควิด-19 รวมไปถึงการปฏิเสธแจ้งไทม์ไลน์ต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ หรือการแจ้งข้อมูลเท็จต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งนอกจากอาจถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีตามกฎหมายและต้องโทษปรับหรือจำคุกแล้ว ก็อาจถูกตัดสิทธิจากการรับเงินเยียวยา 7,000 บาทจากโครงการเราชนะด้วย
เงื่อนไขผู้ลงทะเบียน เราชนะ แบ่งออกเป็นสำหรับประชาชนทั่วไป และ ผู้ประกอบการร้านค้า/บริการ
- ประชาชนทั่วไป
สำหรับประชาชนทั่วไป ให้อ่านข้อ 1.3 ซึ่งระบุว่า ประชาชนซึ่งไม่ใช่ผู้มีบัตรฯ ที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการฯ ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
- เงื่อนไขสำหรับประชาชนทั่วไป -
(3.9) ระบุว่า ต้องไม่เป็นผู้ที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขของมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ หรือฝ่าฝืนมาตรการใด ๆ ของรัฐเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
หมายความว่า ผู้ที่เข้าเงื่อนไขข้างต้น หากลงทะเบียนเราชนะ อาจจะไม่ได้รับสิทธิหรือถูกตัดสิทธิในภายหลัง
- ผู้ประกอบการร้านค้า
สำหรับผู้ประกอบการร้านค้า/บริการ ให้อ่านข้อ 1.6 ซึ่งระบุว่า ผู้ประกอบการ/ร้านค้า/บริการรายย่อย (ผู้ประกอบการ) ที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการฯ ต้องมีคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- เงื่อนไขสำหรับผู้ประกอบการร้านค้า/บริการ -
ข้อ 3 กรณีเป็นผู้ประกอบการประเภทบริการสัญชาติไทย
(3.5) ระบุว่า ต้องไม่เป็นผู้ที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขของมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ หรือฝ่าฝืนมาตรการใด ๆ ของรัฐเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ข้อ 4 กรณีเป็นผู้ประกอบการประเภทบริการด้านขนส่งสาธารณะสัญชาติไทย
(4.5) ระบุว่า ต้องไม่เป็นผู้ที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขของมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ หรือฝ่าฝืนมาตรการใด ๆ ของรัฐเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
หมายความว่า ผู้ประกอบการที่เข้าเงื่อนไขข้างต้น หากลงทะเบียนเราชนะ อาจจะไม่ได้รับสิทธิหรือถูกตัดสิทธิในภายหลัง เช่นกัน
- "ปกปิดข้อมูล-แจ้งเท็จ" อาจผิดกฎหมายใดบ้าง
วันที่ 28 ม.ค. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) แถลงเรื่องการเอาผิดบุคคลที่ปิดข้อมูลว่า กรณีที่บุคคลให้ข้อมูลไม่สอดคล้องกัน หรือมีการปฏิเสธหรือปกปิดข้อมูลซึ่งควรต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ อาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตามมาตรา 55 แห่งพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท
แต่หากให้ข้อมูลที่ไม่เป็นจริงหรือข้อมูลเท็จต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ อาจมีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ตามมาตรา 137 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ