'กันกุล' จ่อชิงเค้กโรงไฟฟ้าชุมชน 3 โครงการภาคอีสาน
“กันกุล” พร้อมควัก 1,000 ล้านบาท ร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 3 พื้นที่ภาคอีสาน กำลังผลิตรวม 15 เมกะวัตต์ หลังผนึกกำลังวิสาหกิจชุมชนฯเรียบร้อย เตรียม 4 พื้นที่ภาคอีสานรอโอกาสรัฐเปิดรับซื้อไฟพลังงานลม
นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด(มหาชน) หรือ GUNKUL เปิดเผยว่า บริษัท อยู่ระหว่างจัดทำข้อเสนอแบ่งปันผลประโยชน์ตอบแทนให้กับชุมชนรอบโรงไฟฟ้าตามเงื่อนไขโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ที่ภาครัฐเตรียมเปิดรับซื้อไฟฟ้า(โครงการนำร่อง) ไม่เกิน 150 เมกะวัตต์ โดยบริษัท มีความพร้อมที่จะยื่นเสนอโครงการเพื่อประมูลแข่งขัน จำนวน 3 แห่ง ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลทั้งหมด กำลังผลิตรวม 15 เมกะวัตต์ หรือ โครงการละ 5 เมกะวัตต์ คาดว่า จะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 1,000 ล้านบาท หรือ ประมาณ 60-70 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์
“บริษัท ได้ทำ MOU กับวิสาหกิจชุมชนทั้ง 3 พื้นที่แล้ว ตอนนี้ ก็อยู่ระหว่างเตรียมพร้อมยื่นข้อเสนอว่า กองทุนหมู่บ้านในแตละแห่งจะได้รับประโยชน์อะไร เช่น ได้รับโรงอบกล้วยตาก ได้รับแสงสว่างในหมู่บ้าน ได้รับโซลาร์ปั๊มน้ำ ได้รับโซลาร์กรองน้ำ เป็นต้น ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้จะถูกเขียนเข้าไปในแผนงานเพื่อยื่นบิดดิ้ง”
โดยบริษัท มีความพร้อมที่จะเข้าไปดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ทั้งการสนับสนุนเงินลงทุน และการก่อสร้างโครงการให้กับชุมชน ซึ่งจะใช้เชื้อเพลิงผสมผสาน โดยจะเป็นการปลูกพืชใหม่ พร้อมกำหนดราคาประกันการรับซื้อพืชแต่ละชนิดให้ชัดเจนตามเงื่อนไขโครงด้วยการ ขณะเดียวกันจากการศึกษาประเมินโครงการในเบื้องต้น ยังสามารถให้ผลตอบแทนการลงทุน(IRR) ระดับสองหลัก
นอกจากนี้ บริษัท ยังเตรียมความพร้อมด้านพื้นที่สำหรับรองรับการลงทุนโครงการพลังงานลม ใน 4 พื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเตรียมติดตั้งเสาวัดกำลังลม รองรับนโยบายรัฐที่เดิมมีแผนเปิดรับซื้อไฟฟ้า “พลังงานหมุนเวียน” ในปี 2564 เช่น โครงการพลังงานลม 270 เมกะวัตต์ หรือ เฉลี่ยปีละ 90 เมกะวัตต์ เข้าระบบปี 2565-2567 ปี แต่ทั้งนี้ ยังต้องรอติดตามนโยบายรัฐที่ชัดเจนอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม บริษัท มองว่า จากพัฒนาการของเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าพลังงานลมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในปัจจุบัน ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากลมในประเทศไทยที่ถือว่ามีกำลังลมต่ำ ยังเป็นโครงการที่น่าสนใจหากสามารถเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ก็จะสร้างโอกาสทางการลงทุนได้ แต่ขณะเดียวกันภาครัฐยังเตรียมทบทวนอัตรารับซื้อไฟฟ้าใหม่ เบื้องต้นเข้าใจว่า ต้องการเห็นราคาต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วย ซึ่งหากเป็นระดับราคาดังกล่าว บริษัทมองว่า ยังเป็นอัตราที่พอรับได้ ขณะที่การลงทุนพลังงานลม เบื้องต้นคาดว่า จะต้องใช้เงินประมาณ 80 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์
นายสมบูรณ์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ภาครัฐปรับอัตรารับซื้อไฟฟ้าและเงื่อนไขโครงการโซลาร์ภาคประชาชนใหม่นั้น บริษัท คาดว่า จะเป็นประโยชน์ต่อ “GRoof”(กรูฟ) ซึ่งเป็นธุรกิจการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา ที่จะเข้าไปใช้บริการกับกลุ่มบ้านอยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่บริษัท ได้เปิดตัว โครงการ “GRoof Smart Living by Gunkul” ที่จะสร้างมิติใหม่ของการประหยัดพลังงาน ไปกว่า 1 ปี ดำเนินการติดตั้งไปแล้วกว่า 300 หลังคา และในปี 2563 ได้ติดตั้งกว่า 100 หลังคา ฉะนั้นนโยบายส่งเสริมติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในกลุ่มบ้านอยู่อาศัย จะช่วยให้ DRoof บุกตลาดบ้านอยู่อาศัยได้มากขึ้น
ส่วนการลงทุนเพื่อรองรับเทคโนโลยีพลังงานรูปแบบใหม่ๆนั้น บริษัท ได้เตรียมพร้อมด้านนวัตกรรมเปิดตัว “กันกุล สเปกตรัม” (GUNKUL SPECTRUM) ซึ่งได้ออก 2 ผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ ความร่วมมือกับ เอไอเอส นำระบบ Mobile ID ที่พัฒนาภายใต้เทคโนโลยีบล็อกเชน เข้ามาสนับสนุนในตลาดซื้อขายพลังงานผ่านแพลตฟอร์ม P2P Energy Trading Platform ที่ได้ออกแบบรองรับไว้แล้ว
ขณะเดียวในเรื่องของยานยนต์ไฟฟ้า(EV) บริษัท ได้จับมือกับมหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ทุนการศึกษาทดลองความเป็นไปได้ในกระบวนการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ที่กำลังได้รับความสนใจในประเทศไทย ส่วนระบบกักเก็บพลังงาน(ESS) หรือ แบตเตอรี่ ทางบริษัท ได้รับเหมาติดตั้งให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ไปแล้ว 3-4 พื้นที่ และติดตั้งให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA) ในหลายพื้นที่ของจ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นการนำเข้าจากประเทศจีนที่มีคุณภาพสูงไปติดตั้งทั้งหมด
“ตอนนี้ต้นทุนโซลาร์ฯบวกกับแบตเตอรี่ ช่วยให้ราคาเท่ากับการซื้อไฟฟ้าแล้ว แต่ยังไม่มีช่องว่างให้ทำมาร์จิ้น ดังนั้นถ้าราคาแบตเตอรี่ถูกลง ก็เป็นโอกาสที่จะจับมือกับพาร์ทเนอร์ต่างประเทศนำเข้าติดตั้งแน่นอน”