เมกะเทรนด์ต่อไป 'EV' หรือ 'รถไร้คนขับ' ?
ปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์หันมาจับตลาดรถพลังงานไฟฟ้า (EV) มากขึ้น และ Deloitte มีบทวิเคราะห์ออกมาคาดการณ์ตลาดว่าในปี 2573 จะมียอดขายสูงถึง 31 ล้านคันทั่วโลก ซึ่งสะท้อนว่าสุดท้ายแล้วรถ EV จะไม่ใช่อนาคตอีกต่อไป แต่คือปัจจุบัน ส่วนรถไร้คนขับจะเป็นอนาคต
รถพลังงานไฟฟ้า หรือรถ EV (Electric Vehicle) จริงๆ ถูกสร้างตั้งแต่ช่วงปี 2424 แล้ว แต่กว่าจะสามารถเข้าสู่ไลน์การผลิตและสามารถจัดจำหน่ายสู่ผู้บริโภคเป็นจำนวนมากก็ประมาณช่วงปี 2533 เป็นต้นไป ทั้งบริษัทอย่างฮอนด้า โตโยต้า จีเอ็ม ต่างพากันผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าขึ้นมากันทั้งนั้น แต่บริษัทเหล่านี้ตระหนักว่าถ้าทำรถยนต์ไฟฟ้าของตัวเองขึ้นมานั้น จะมา Disrupt ธุรกิจเดิมที่สร้างรายได้และกำไรอย่างมหาศาลอย่างรถยนต์เครื่องสันดาป
จึงทำให้หลายๆ บริษัทเลือกที่จะผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจำนวนน้อยๆ และบริษัทส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะทำสัญญาเช่าซื้อกับทางลูกค้าที่มีความสนใจในรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแทนที่จะขายขาด เมื่อสิ้นสุดสัญญาลง ลูกค้าก็ไม่มีสิทธิที่จะซื้อรถยนต์เหล่านั้นอีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในยุคนั้นไม่สามารถขับได้เป็นระยะทางไกล สามารถใช้ได้เพียงแค่ในตัวเมืองเท่านั้น การชาร์จไฟครั้งหนึ่งสามารถขับได้ไกลสุดเพียงแค่ 100 กิโลเมตรเท่านั้นเอง เนื่องจากว่าเป็นแบตเตอรี่กรด ทำให้วิ่งได้ไกลเพียงเท่านี้
แต่ตอนปี 2547 บริษัท เทสลา มอเตอร์ ได้ทำการพัฒนาและสร้างรถยนต์พลังงานไฟฟ้าขึ้นมา ในตอนแรกอีลอน มัสค์ เจ้าของและผู้ก่อตั้งบริษัท เทสลา มอเตอร์ ได้มีโอกาสพบเจอกับ เจ.บี. สตรอเบล (J.B. Straubel) นักเรียนจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผู้มีความคิดที่อยากจะเอาแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนมาใส่ในรถยนต์เพื่อที่จะให้เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้
หลังจากนั้นทั้งสองคนได้จับมือร่วมกัน โดยทางอีลอนก็เสนอเงินให้กับทางเจ.บี. 10,000 ดอลลาร์แรกในการสร้างรถยนต์พลังงานไฟฟ้า จากนั้นบริษัทเทสลาก็ได้มีการทำฟันดิ้งหลายรอบ และมีนักธุรกิจชื่อดังมาร่วมลงทุนในบริษัท ทั้งเซอร์เก บริน (Sergey Brin) และแลร์รี เพจ (Larry Page) สองผู้ก่อตั้งของ Google อดีตซีอีโอของ eBay อย่างเจฟฟ์ สโกล (Jeff Skoll) ก็เข้ามาร่วมลงทุนด้วย
จนในที่สุดในวันที่ 19 ก.ค.2549 บริษัทเทสลาได้เปิดตัวต้นแบบรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นแรกของบริษัท นั่นก็คือ Tesla Roadster ก่อนที่จะจัดจำหน่ายสู่ท้องตลาดตอนปี 2551 อุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกต่างตกตะลึงในความสำเร็จของเทสลา หลังจากที่เทสลาได้ออกจำหน่ายรถ Tesla Roadster ได้ไม่นาน ทางบริษัทนิสสันก็ออกรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของตนเองออกมาชื่อว่า Nissan Leaf ในปี 2553 ซึ่งมุ่งเป้าหมายไปที่ตลาดระดับกลางมากกว่าเทสลา ทั้งนิสสันและเทสลาก็ขับเขี้ยวในการเป็นเบอร์ 1 ของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั่วโลก
ตลาดใหญ่ที่สุดในรถพลังงานไฟฟ้าอยู่ที่ประเทศนอร์เวย์ รัฐบาลให้การสนับสนุนอย่างมากทั้งลดค่าภาษีรถยนต์ถึง 50% อนุญาตให้ใช้ทางเฉพาะรถเมล์ได้ และจอดฟรีบนถนนบางสาย ทำให้กลายเป็นตลาดหลักของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยที่ Nissan Leaf นำเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วย Tesla Model S ถัดมาในปี 2559 เทสลาได้ออกตัว Tesla Model 3 ที่เริ่มต้นเพียง 35,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 1,050,000 บาท เพื่อมาแข่งกับ Nissan Leaf หลังการเปิดตัวเพียงแค่สัปดาห์เดียวยอดจองทะลุ 325,000 คัน ทะลุสถิติของ Tesla Model S ไปเกินกว่า 3 เท่า
แต่ไม่นานหลังจากนั้น ตลาดใหญ่ที่สุดของรถยนต์พลังงานไฟฟ้ากลับกลายเป็นประเทศยักษ์ใหญ่อย่างประเทศจีน ที่ทางรัฐบาลได้ต่างพากันสนับสนุนบริษัทภายในประเทศให้ทำรถยนต์พลังงานไฟฟ้าขึ้นมา ทั้งบีวายดี (BYD) เสี่ยวเผิง (Xpeng) และนีโอ (NIO) ทำให้ตอนปี 2558 ประเทศจีนเป็นตลาดอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าอันดับ 2 ของโลก
ในต้นปี 2563 ที่ผ่านมา Tesla Model 3 ขึ้นแซง Nissan Leaf เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอันดับหนึ่งของโลก และ บริษัทเทสลาเองก็เป็นบริษัทแรกที่จัดจำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้เกิน 1 ล้านคันทั่วโลก
แต่ตอนนี้เองคู่แข่งในตลาดเริ่มเข้ามาแย่งตลาดของเทสลามากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเมืองจีน ทั้งนีโอซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 7% และเสี่ยวเผิงที่มีอยู่ 4% หุ้นของนีโอเติบโตขึ้นมากกว่า 20 เท่าในเวลาเพียงแค่ 9 เดือน จาก 2.67 ดอลลาร์ต่อหุ้นมาเป็น 61.95 ดอลลาร์ต่อหุ้น ในขณะเดียวกันหุ้นของเทสลาเติบโตขึ้นประมาณ 8 เท่าจาก 114.60 ดอลลาร์ต่อหุ้นเป็น 846.64 ดอลลาร์ต่อหุ้น
นอกจาก นีโอ เสี่ยวเผิง และบีวายดี ยังมีอีกหลายๆ บริษัทที่แห่กันจับมือเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งแอ๊ปเปิ้ล (Apple) ที่ล่าสุดไปจับมือกับฮุนได (Hyundai) เพื่อพัฒนารถ EV ร่วมกัน อะเมซอน (Amazon) เปิดตัว Zoox รถยนต์แท็กซี่ไฟฟ้า EV ไร้คนขับ และล่าสุด อาลีบาบาก็ไปจับมือกับบริษัท SAIC Motors (บริษัทแม่ของ MG) เพื่อเปิดตัวบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าของพวกเขาที่มีชื่อว่า IM และป๋ายตู้ (Baidu) เสิร์ชเอนจิ้นยักษ์ใหญ่ของจีน ก็ไปจับมือกับ Geely (บริษัทแม่ของ Volvo) เพื่อให้ดีไซน์โครงรถขึ้นมา ส่วนตัวป๋ายตู้จะดูแลเรื่องของซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีให้ในรถอีกที
สุดท้ายนี้ผมอยากจบบทความด้วยบทวิเคราะห์จากทาง Deloitte ที่พูดถึงอนาคตของรถ EV ในปี 2573 ว่าจากเดิมที่ยอดขายรถ EV ในปี 2562 จะอยู่ที่ 2 ล้านคันทั่วโลก ในปี 2573 เขาคาดการณ์ว่ารถ EV จะมียอดขายสูงถึง 31 ล้านคันทั่วโลก โดยที่จีนจะมีส่วนแบ่งมากถึง 49% นั่นแปลว่าถ้าสุดท้ายระหว่างนีโอ หรือเทสลาเอง ใครครองตลาดจีนได้ก่อนก็มีหวังจะเป็นอันดับ 1 ต่อไป
แต่ในอนาคตผมเชื่อว่าอาจจะไม่วัดกันแล้วว่าใครทำรถยนต์ไฟฟ้าได้หรูกว่ากัน แต่ใครกันที่สามารถทำรถไร้คนขับ หรือ Autonomous Vehicle ได้ก่อนกันแน่ เพราะสุดท้ายแล้วรถ EV ไม่ใช่อนาคตอีกต่อไปแล้วแต่คือปัจจุบัน แต่รถไร้คนขับต่างหากคืออนาคต