นักลงทุนรุม “ซื้อ”สินทรัพย์เสี่ยง ดันมูลค่าพุ่งเกินเท่าตัว
สัจธรรมสำหรับการลงทุนทุกอย่างบนโลกใบนี้ไม่มีอะไรที่สามารถคงอยู่ถาวรได้ตลอดไป เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในการลงทุน ต้องอาศัย "ความโลภ” ของมวลชนที่เข้ามาผลักดัน ดังนั้นย่อมต้องมีผู้ได้และผู้เสียในแต่ละครั้ง
ที่เขียนแบบนี้เนื่องจากปรากฏการณ์จากการลงทุนในสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซี “บิทคอยน์” ในช่วงม.ค. ที่ผ่านมาทำราคาสูงสุดในประวัติศาสตร์ทะลุ 35,000 ดอลลาร์ต่อ 1 บิทคอยน์ หรือคิดเป็นเงินบาทอยู่ที่ราวๆ 1 ล้านบาทไทย และบางช่วงราคายังขึ้นไปถึง 40,000 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นราคาที่ไต่ขึ้นมาอย่างรวดเร็วจากช่วงปลายปี 2563 ราคายังอยู่ระหว่างการทดสอบที่ 25,000 ดอลลาร์
หลังมีประเด็นการล็อกดาวน์จากโควิด-19 เกิดขึ้นทั่วโลกอีกครั้งตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 จนมีการออกมาตรการเยียวยาอีกครั้งของรัฐบาลที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกทุกประเทศ จึงทำให้ผู้ที่ลงทุนในเงินดิจิทัลดังกล่าวอาศัยปัจจัยบวกดันราคาเพิ่มขึ้น บวกกับมีการลงทุนของสถาบันหรือกองทุนมากขึ้นจึงไม่แปลกที่จะทำให้ราคาบิทคอยน์ทำราคาล้านบาทแตกซ้อนๆ กันถึง 2 ครั้ง
แม้ว่าปัจจุบันราคาจะร่วงลงมาอยู่ที่ 33,861 ดอลลาร์ (1 ก.พ.) แต่ผู้ที่วิเคราะห์สกุลเงินตัวนี้ระดับโลก เช่น โกลด์แมน แซคส์ ต่างก็มองว่าราคามีสิทธิไปถึง 1 แสนดอลลาร์ หรือถ้าคิดเป็นเงินไทยคือ 3 ล้านบาท บนสมมติฐานคือความต้องการและการรองรับเงินสกุลนี้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งทุกอย่างล้วนเป็นไปได้แต่จะเมื่อไรเท่านั้น
ตามมาด้วยสกุลเงินดิจิทัล “โดชคอยน์ “ หรือ Dogecoin สกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซี ที่เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2556 แต่กลับไม่ได้รับความนิยมเพราะผู้พัฒนาต้องการทำออกมาเพื่อล้อเลียน บิทคอยน์ จึงสวนทางด้วยจำนวนเหรียญที่ออกมามากถึง 50,000 ล้านเหรียญ จนปัจจุบันมีการขุดขึ้นมาแล้วระดับ 1 แสนล้านเหรียญ และใช้โลโก้ด้วยสุนัขญี่ปุ่นพันธุ์ “ชิบะอินุ” เพื่อสร้างให้ดูน่ารักและใครๆ ก็ลงทุนได้
ที่ผ่านมาความเคลื่อนไหวของสกุลเงินนี้แทบจะไม่มีแรงบวกใดๆ เลยจนปี 2562-2563 เศรษฐีอันดับ 1 ของโลก “อีลอน มัสก์” เจ้าของบริษัท เทสลา จู่ๆ กล่าวถึงด้วยการโพสรูปเหรียญมีสุนัขชิบะ และข้อความ “ It’s inevitable “ และอีกครั้งหนึ่งปลายปี 2563 “one word:doge “ นั้นทำให้ราคาปรับตัวขึ้นแทบทุกรอบ
และยังไม่นับรวมกับกระแสที่เกิดขึ้นในแอพพลิเคชั่น TikTok มีการชวนให้ไปลงทุนคนละ 25 ดอลลาร์เพื่อให้ทุกๆได้กำไร ปรากฏเกิดการลงทุนกันมากขึ้นและยังดันราคาจากระดับ 0.0027 ดอลลาร์ หรือราคาไม่ถึงบาทไทย ขึ้นมาอยู่ที่ 0.081 ดอลลาร์ หรือคิดเป็น 2.30 บาท หรือเพิ่มขึ้น 800 กว่าเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเกิดขึ้นในเพียงระยะเวลาแค่ 2 วัน
ถัดมากระแสสงครามการเงินใน “วอลสตรีท” ดังกระหึ่มระหว่างกลุ่มนักลงทุนรายย่อยและกองทุน โดยมีเดิมพันคือหุ้น “GameStop” หรือ ตัวย่อ GME ด้วยการหาช่องว่างในการเข้าทำกำไรของแต่ละฝ่ายจนเรื่องราวบานปลายมีการเรียกร้องให้หน่วยงานกำกับตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐสกัดการซื้อขายหุ้นตัวนี้
เนื่องจากในปี 2563 หุ้น GME อยู่ในภาวะตกต่ำด้านธุรกิจจากการขายเกมและเครื่องเล่นเกมที่แทบไม่มีการเติบโต จนทำให้กองทุนหัวใสหยิบหุ้นตัวนี้มาทำธุรกรรมยืมหุ้น (SBL) เพื่อมาทำการขาย (Short) ในตลาดอนุพันธ์ และทำให้มีอีกหลายกองทุนทำแบบเดียวกันจนมีการ Short มากถึง 136% และทำกำไรให้กองทุนในวอลสตรีทมหาศาล
จนรายย่อยกลุ่มหนึ่งมองเห็นโอกาสเช่นกันและมองว่ากองทุนเหล่ากำลังเอาเปรียบรายย่อยเพราะเล่นกดราคาให้ลงต่ำตลอดเวลา จึงรวมตัวไล่ซื้อหุ้นที่มีปริมาณในตลาดน้อยอยู่แล้วให้ได้มากที่สุดและส่งผลทำให้ราคาหุ้นขยับกลายเป็นขาขึ้นแทน จนสามารถผลักดันราคาจากต่ำถึง 4 ดอลลาร์ ล่าสุดราคาพุ่งสูงขึ้นมาอยู่ที่ 325 ดอลลาร์
ผลที่ตามคือบรรดากองทุนที่เคยได้กำไรมหาศาลเผชิญการขาดทุนอย่างหนักและต้องนำหุ้น Short ปิดสถานะและทำการคือหุ้นที่ยืมมา จนกลายเป็นการพูดในวงกว้างว่าครั้งนี้เป็นการเอาคืนกองทุนที่เคยเอาเปรียบรายย่อย และเรื่องดังกล่าวมีโอกาสที่จะเห็นหุ้น GME ตัวที่ 2 เกิดขึ้นได้เพราะตราบใดที่ยังมีตลาดทุนยังมีความโลภให้ได้ช่วงชิงสร้่งความได้เปรียบให้ได้เห็นอยู่ตลอดเวลานั้นเอง