ส่องเทรนด์ Health Care มาแรง น่าจับตา

ส่องเทรนด์ Health Care มาแรง น่าจับตา

แม้หลายคนอาจมองว่าอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ (Health Care) น่าจะเป็นไปด้วยดีจากโรคภัยในปัจจุบัน แต่ความจริงแล้วกลับได้รับผลกระทบทางลบในบางกลุ่มจากการที่ผู้ป่วยไป รพ.น้อยลง รวมถึง Medical Tourism จากการปิดประเทศ และกลุ่มยาปฏิชีวนะ จากคนป่วยลดลง

อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ของยอดขาย พบว่า ยังมีบางภาคส่วนที่ธุรกิจไปได้ดีและเติบโต เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ และ วิตามิน ถือว่าได้รับผลกระทบทางบวก

กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เติบโตทั้งก่อนสถานการณ์โควิด-19 และในระหว่างสถานการณ์นี้ เรียกว่าเติบโตมาโดยตลอด คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับดูแลตัวเอง เช่น อาหารเสริม เนื่องจากคนดูแลตัวเองมากขึ้น ถัดมา คือ อุปกรณ์การแพทย์ จากสังคมผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ในกลุ่ม Implantable medical device ฝั่งเข้าไปในร่างกาย เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือ เกี่ยวกับกระดูก และสุดท้าย คือ ในกลุ่มที่เกี่ยวกับ “มะเร็ง” เพราะมีคนที่มีความต้องการในแง่ของการดูแลรักษามะเร็งวิทยามากขึ้น จากผู้ป่วยมะเร็งที่มีเพิ่มขึ้น

“จอห์น แคลร์” รองประธานฝ่ายบริหาร หน่วยธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ประเทศไทยและอินโดจีน (เมียนมาร์ กัมพูชา ลาว) บริษัท ดีเคเอสเอช ให้ความเห็นว่า แนวโน้มในธุรกิจ Health Care หลักๆ ที่ควรจะจับตามอง คือ Digital Health Care เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่หันมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นอย่าง “เทคโนโลยีที่สวมใส่ได้” (Wearable Tech) เช่น Apple Watch ที่มีแอพฯ สามารถติดตามสถานะสุขภาพได้ เนื่องจากคนรุ่นใหม่นิยมติดตามสถานะสุขภาพตัวเองอยู่เสมอ ดังนั้น จึงมีการเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น

161235722416

จอห์น แคลร์

“ขณะที่อีกหนึ่งแนวโน้มมาแรงแน่นอน คือ “การแพทย์ทางไกล” หรือ Telemedicine เป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยบางราย สามารถใช้ Telemedicine ในการโทรหาหมอ คุยกันผ่านหน้าจอได้ เป็นแนวโน้มที่มาแน่ จากสถานการณ์โควิด-19 จะพบว่าผู้ป่วยหลายคนไม่อยากจะเข้าไปโรงพยาบาล หรือพาพ่อแม่ที่อายุมากไป หากมีทางเลือกที่จะคุยกับแพทย์ได้ทางไกล ผ่านทางหน้าจอ ก็จะเป็นอีกหนึ่งแนวโน้มที่น่าสนใจ” จอห์น กล่าว

ด้าน “ฟาริด บิดโกลิ” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โรช ไทยแลนด์ เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว ในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจยา (Roche Pharmaceuticals) และ ธุรกิจการตรวจวินิจฉัย (Roche Diagnostics) ระบุว่าปัจจุบันโรงพยาบาลหล่ายแห่งมี การนำแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine มาใช้ ซึ่งโควิด-19 เป็นตัวเร่งทำให้ทุกอย่างก้าวหน้าเร็วขึ้น รวมถึงการเข้าถึงยาโมเดลใหม่ๆ ในการรักษา และการเข้าถึงการตรวจมะเร็งอย่างครอบคลุม และมีแนวโน้มเทรนด์ไปในทิศทางของการรักษาที่ตรงจุด และใช้ดิจิทัลดาต้า เพื่อให้แพทย์ สามารถคาดการณ์ ไปถึงการป้องกันโรค และรักษาที่มีประสิทธิภาพ

ซึ่งปี 2563 ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้นกว่า 190,636 ราย โดย 3 อันดับ ได้แก่ มะเร็งปอด 27,394 ราย มะเร็งตับ 23,713 ราย มะเร็งเต้านม 22,158 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งกว่า 124,866 ราย 3 อันดับ ได้แก่ มะเร็งตับ 26,704 ราย มะเร็งปอด 20,395 ราย และมะเร็งลำไส้ 10,478 ราย โดยมีผู้ป่วยมะเร็งตับเสียชีวิต 3 รายทุกชั่วโมง

ปัจจุบัน บริษัท ได้สนับสนุนโครงการวิจัยทางคลินิกอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีผู้ป่วยชาวไทยเกินกว่า 1,000 คน ซึ่งได้รับการรักษาจากการเข้าร่วมใน 35 โครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ อีกทั้ง มียาจำนวน 12 ชนิด บรรจุอยู่ในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติของประเทศไทย โดยปี 2564 จะเน้นใน 4 ประเด็นหลัก คือ การดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคล (Personalised healthcare) โดยใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถระบุประเภทของความเจ็บป่วยและวินิจฉัยผู้ป่วยได้ละเอียดถึงระดับโมเลกุล และดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคลด้วยข้อมูล การวิเคราะห์ และเทคโนโลยี

“ปัจจุบัน มียาเฉพาะบุคคล หรือ ยาพุ่งเป้า ซึ่งต่อไปจะมีการนำบิ๊กดาต้ามาวิเคราะห์ว่ายาแต่ละตัว สามารถรักษาคนไข้ ในแต่ละบุคคลได้ตรงจุดมากขึ้นควรจะเป็นยาชนิดใด เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต ควบคู่ไปกับฐานข้อมูลผู้ป่วย”

161235722436

ฟาริด บิดโกลิ

นอกจากนี้ ยังมี "การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล” โดยร่วมมือกับ 2 บริษัทใหญ่อย่าง Flatiron และ Foundation Medicine จัดเก็บและนำข้อมูลของผู้ป่วยในเครือข่ายกว่า 58,000 รายการ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทางคลินิก หรือ ข้อมูลด้านยีนส์กลายพันธุ์ ที่จะนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็ง เพื่อวิเคราะห์ถึงโอกาสการเป็นโรคมะเร็ง หรือ เป็นมะเร็งแล้ว ยาชนิดใดสามารถรักษาให้หายขาดได้ เพื่อเป็นประโยชน์ทางการแพทย์ พร้อมจัดทำแพตฟอร์มออนไลน์ LungAndMe ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ เสมือนผู้ช่วยให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งปอดได้เข้าถึงแหล่งความรู้ด้านการดูแลตัวเอง เป็นศูนย์รวมของการถ่ายทอดเรื่องราวให้กำลังใจ และบันทึกอาการให้แก่ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย

ผลักดัน “การเข้าถึงการดูแลสุขภาพ” ซึ่งปี 2563 สนับสนุนเงินทุนให้กับ Agnos Heath สตาร์ทอัพไทยสายเฮลท์เทค ซึ่งเป็นทีมที่ชนะเลิศจากการจัดประกวด Roche Open Innovation Challenges for ‘Greater Accessibility’ เพื่อร่วมกันสร้างแพลตฟอร์มสำหรับกลุ่มผู้ป่วย โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI และในเร็วๆนี้อาจจะมีประกันชีวิตรูปแบบใหม่ที่ครอบคลุม 3 ล้านบาท โดยจ่ายเบี้ยเพียง 59 บาทต่อเดือนช่วยเหลือผู้ป่วยให้เริ่มการรักษาหรือดำเนินการรักษาต่อได้ตลอดระยะเวลาอันสมควร

สำหรับ “การรักษามะเร็งของผู้ป่วยไทย” ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด ขยายโอกาสการเข้าถึงการรักษาที่ดีที่สุดแก่ผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการวิจัยทางคลินิก พร้อม เดินหน้าพัฒนาการรักษาและเครื่องมือวินิจฉัยสำหรับผู้ป่วยโรคอื่นๆ ทำงานร่วมกับผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพ ห้องปฏิบัติการ หน่วยงาน และองค์กรต่างๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ป่วยจะยังคงได้รับการตรวจคัดกรอง การรักษา และการดูแลที่จำเป็น

161235736351