สั่งเดินหน้าแก้ปัญหาขยะทะเล หลัง ทช. ลงนามร่วมมือ The Ocean Cleanup
"วราวุธ" สั่งเดินหน้าแก้ไขปัญหาขยะทะเลหลัง ทช. ลงนามความร่วมมือ The Ocean Cleanup "บิ้กป้อม" เร่งรัดจัดการด่วน
ปัญหาขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันยังคงเป็นปัญหาที่หลายฝ่ายให้ความสนใจและพยายามป้องกันและแก้ไขปัญหา ซึ่งที่ผ่านมาได้กำหนดมาตรการและแนวทางการในการลดและบรรเทาปัญหาขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด
ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ช่วงปีที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อมมีความคืบหน้าและเห็นผลเป็นที่ประจักษ์ โดยในวันนี้ (วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ลงนามร่วมกับองค์กร The Ocean Cleanup จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ในการนำนวัตกรรม Interceptor ในการดักเก็บขยะในแม่น้ำก่อนไหลลงสู่ทะเล ซึ่งได้ผ่านการศึกษาความเหมาะสมมาอย่างละเอียด รวมถึง ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ซึ่งมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งรองนายกได้เร่งรัดให้จัดทำความร่วมมือและใช้เครื่องมือดังกล่าวแก้ไขปัญหาโดยเร็ว
นายวราวุธ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ตนได้พยายามหาแนวทางและผลักดันการดำเนินงานเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อม ทั้งความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศ ซึ่งระยะต่อไป ทส. โดยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม จะได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ เพื่อจัดการสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งร่างข้อตกลงดังกล่าวอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
ทั้งนี้ เมื่อปลายปี 2562 ตนได้มีโอกาสหารือกับทางนายโบแยน สแลต ผู้ก่อตั้งองค์กร The Ocean Cleanup จากประเทศเนเธอร์แลนด์ และผู้คิดค้นเครื่อง Interceptor ในการดักขยะในแม่น้ำก่อนลงสู่ทะเล จึงได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ไปศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการนำมาใช้งานในประเทศไทย และให้นำเสนอคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ซึ่งมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งท่านรองนายกได้ให้เร่งทำความตกลงร่วมกับทาง TOC และนำเครื่องดังกล่าวมาทดลองใช้ในประเทศไทย ทั้งนี้ ตนได้สั่งการให้เดินหน้าดำเนินการทันที และให้วางแผนขยายผลในการศึกษา วิจัย และพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ ให้สามารถดำเนินงานได้ตามมาตรฐานระดับสากล ต่อไป
ภายหลังการร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจการใช้นวัตกรรม Interceptor เพื่อการแก้ปัญหาขยะแม่น้ำก่อนไหลลงสู่ทะเล
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ให้สัมภาษณ์ว่า นับตั้งแต่ กรมได้ประสานหน่วยงานพันธมิตร ร่วมกันศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการใช้งานในประเทศไทย ทั้งนี้ ตนก็เห็นว่านวัตกรรมดังกล่าวจะช่วยลดปัญหาขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อมก่อนไหลลงสู่ทะเล อีกทั้ง ยังช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดต่อสัตว์ทะเลหายาก ทรัพยากรทางทะเลและระบบนิเวศชายฝั่งอีกด้วย และที่สำคัญเครื่อง Interceptor ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ในการทำงาน สามารถจัดเก็บขยะได้ 3 – 4 ตันต่อวัน ซึ่ง TOC เลือกประเทศไทยเป็นพื้นที่ดำเนินการ เนื่องจากความเหมาะสมและความพร้อมทั้งในด้านสถานที่ บุคคลากรเจ้าหน้าที่ และนักวิชาการ
สำหรับพิธีลงนามความร่วมมือในวันนี้ ตนในฐานะผู้แทนกรมฯ ได้ลงนามร่วมกับนายโบแยน สแลต ประธานกรรมการบริหารองค์กร The Ocean Cleanup (TOC) ผ่านระบบออนไลน์ โดยมี Mr. Kee Rede เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย ดร. สุรชา อุดมศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ดูแลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผู้แทนทหารเรือ กรมควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมกรมทรัพยากรทางทะและชายฝั่ง กว่า 50 คน และผ่านทางช่องทางออนไลน์อีกกว่า 50 คน ทั้งนี้ กรมฯ จะมีการติดตามผลการดำเนินงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด และร่วมพัฒนาแนวทางการดำเนินงานในอนาคต ต่อไป
ด้านนายโบแยน สแลต ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งองค์กร The Ocean Cleanup ได้กล่าวผ่านทางออนไลน์ พร้อมกล่าวแสดงความยินดีที่ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจการใช้นวัตกรรม Interceptor กับทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเป็นการสืบสานพันธกิจขององค์กรในการกำจัดขยะก่อนไหลออกสู่ทะเล
โดยคาดหวังที่จะเห็น การจัดการขยะในแม่น้ำโดยใช้เครื่อง Interceptor ได้ในเร็ววัน และคาดหวังถึงความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึง ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมทางทะเลของประเทศไทย อีกทั้ง จะสานความร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในการพัฒนาการจัดการปัญหาขยะทะเลต่อไปในอนาคต นายโบแยน กล่าวผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เร้นท์ จากประเทศเนเธอร์แลนด์