เปิดประสบการณ์กับ 3 ทีมนักออกแบบพลังงานผ่านบอร์ดเกม

เปิดประสบการณ์กับ 3 ทีมนักออกแบบพลังงานผ่านบอร์ดเกม

เมื่อเด็กรุ่นใหม่ถ่ายทอดแนวคิดเรื่องความยั่งยืนทางพลังงานผ่านบอร์ดเกม เปิดประสบการณ์กับ 3 ทีมนักออกแบบผู้ชนะในโครงการ “Energy On Board by BANPU B-Sports Thailand”

วัยรุ่นกับเกมนั้นเป็นของคู่กัน เมื่อพูดถึงการเล่นเกมแล้วหลายๆ คนคงนึกถึงการรวมตัวกันของเพื่อนฝูงไม่ว่าจะเป็นทางออนไลน์หรือเจอกันแบบซึ่งๆ หน้า ที่นำมาซึ่งความสนุกสนาน เสียงหัวเราะ คลายเครียด หรือแก้เหงา แต่ในมุมกลับกันบางคนอาจมีคำถามว่า เล่นเกมแล้วได้ประโยชน์อะไร? เอาเวลาไปท่องหนังสือหรือหาความรู้ยังจะดีกว่า...  

 หากไปถาม “ซัน-วนวัฒน์ มณีโชติ” นักศึกษาชั้นปีที่ 2 จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ สาขาวิชาการออกแบบอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี หนึ่งในสมาชิกจากทีม NongPedTheCat ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากโครงการ Energy on Board  by BANPU B-Sports Thailand ปี 2563 ที่ผ่านมา บอกว่าเติบโตมากับการเล่นเกม เกมเป็นชีวิตจิตใจของผม และพอคนรักเกมอย่างผมได้มารู้จักกับ “บอร์ดเกม” ก็เหมือนการเปิดโลกทัศน์ใหม่ ความมีเสน่ห์เฉพาะตัวของบอร์ดเกม ความเรียลของวัสดุที่จับต้องได้ ผสมกับการสื่อสารและการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้เล่น เลยรู้สึกว่า แค่เล่นมันยังไม่พอ... จึงเกิดคำถามขึ้นในใจว่า แล้วถ้าเราอยากสร้างบอร์ดเกมเจ๋งๆ ขึ้นมาสักหนึ่งอัน เราจะทำได้รึเปล่า

161241800480

นั่นจึงเป็นที่มาให้ซันฟอร์มทีมกับเพื่อนๆ อีกสามคน ได้แก่ “เชฟ-นพดล จ้าวกวน” และ “โอม-วิธวินท์ อาชานุภาพ” เพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยของซัน กับ “แตงกวา-ภัทราพร จิวะณโกศลวงศ์” จากวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม สาขาการออกแบบสื่อปฏิสัมพันธ์และมัลติมิเดีย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยตั้งชื่อทีมว่า NongPedTheCat” แล้วสมัครเข้าประกวดออกแบบบอร์ดเกมในโครงการ Energy on Board by BANPU B-Sports Thailand ของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)  

ความตั้งใจของบ้านปูในการจัดการประกวดออกแบบบอร์ดเกมในครั้งนี้นั้น คุณรัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสาย – สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เล่าว่า “บ้านปูเห็นว่าบอร์ดเกมนั้นเป็นสิ่งที่อยู่ในกระแสความสนใจของคนรุ่นใหม่ นอกจากความสนุกสนานและการได้สร้างปฏิสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้เล่นแล้ว การออกแบบบอร์ดเกมยังช่วยพัฒนากระบวนการคิดและออกแบบเชิงสร้างสรรค์ รวมทั้งการสื่อสารเพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับผู้เล่น

161241800353

นอกจากนี้ บ้านปู ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในฐานะบริษัทพลังงานชั้นนำที่มุ่งมั่นเปลี่ยนผ่านสู่การทำธุรกิจพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ยังต้องการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องความยั่งยืนทางพลังงานให้กับคนรุ่นใหม่อีกด้วย เราคิดว่าหากใช้บอร์ดเกมเข้ามาเป็นสื่อ จะทำให้การพูดเรื่องพลังงานที่ยั่งยืนที่หลายคนอาจมองว่าไกลตัวหรือจับต้องยาก เข้าใจง่ายและน่าสนใจยิ่งขึ้น

บ้านปูจึงร่วมมือกับคุณวัฒนชัย ตรีเดชา นักออกแบบบอร์ดเกมและผู้ผลิตรายการ “บอร์ดเกมไนท์” (Board Game Night) หรือ BGN รายการแคสต์บอร์ดเกมที่มีผู้ชมสูงที่สุดในประเทศไทย จัดกิจกรรมนี้ขึ้นเพื่อเป็นการเปิดเวทีและเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาได้แสดงความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ และโชว์ศักยภาพที่มีในตัวออกมา ผ่านกระบวนการคิดค้น ออกแบบ และพัฒนาบอร์ดเกม” 

ความน่าสนใจอยู่ที่การคิดงานของเหล่าทีมผู้เข้าประกวด ว่าจะตีโจทย์การสร้างบอร์ดเกมโดยชูประเด็น “ความยั่งยืนทางพลังงาน” ออกมาอย่างไร โดยพลังงานที่ยั่งยืนจะต้องประกอบด้วย การมีราคาที่สมเหตุสมผล (Affordable) มีความต่อเนื่องในการส่งมอบพลังงาน (Reliable) และต้องมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Friendly) ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นจุดมุ่งหมายในการดำเนินธุรกิจของบ้านปู 

ทีม NongPedTheCat เลือกตั้งต้นด้วยการเริ่มหาข้อมูลจากเว็บไซต์ของบ้านปู ว่าบ้านปูทำธุรกิจพลังงานประเภทไหนบ้าง จากนั้นน้องๆ จึงคิดกันต่อว่า จะทำอย่างไรให้ข้อมูลที่มากมายและซับซ้อนเหล่านี้มาอยู่รวมในบอร์ดเกมแล้วสามารถบาลานซ์ความสนุกกับความรู้เรื่องพลังงานได้แบบกำลังพอดี นั่นจึงเป็นที่มาให้เกม Recharge” ของพวกเขาถูกออกแบบมาในรูปของเกมแนวพัฒนากองทรัพยากร (Pool Building) ที่ผู้เล่นจะได้รับบทเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนที่ประจำอยู่ในมหานครสัตว์ขนาดใหญ่ – ใช่แล้ว ทีมนี้มีภาพยนตร์เรื่อง Zootopia เป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจในการทำงานด้วย! 

161241800337

ในเกม Recharge ผู้เล่นจะต้องจัดสรรทรัพยากรและวางแผนการพัฒนา เพื่อให้สามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการขยายตัวของธุรกิจและอุตสาหกรรมในเมือง อย่างมีเสถียรภาพ ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หากผู้เล่นเลือกใช้แต่พลังงานสะอาดก็อาจทำให้เมืองไม่สามารถพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็วเท่าคนอื่น แต่หากเลือกผลิตไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลจำนวนมาก และไม่มีเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แม้ทำให้เมืองพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว แต่ผู้เล่นก็จะได้รับ token มลพิษเป็นของแถม ซึ่งท้ายที่สุดจะเป็นตัวตัดคะแนนเมื่อจบเกมอีกด้วย เกมนี้จึงเกิดความสนุกของการชิงไหวชิงพริบว่าคนที่จะยืนระยะอยู่จนกลายเป็นผู้ชนะ ย่อมต้องเป็นคนที่สามารถบาลานซ์การเลือกใช้พลังงานได้อย่างเหมาะสม  

สิ่งที่น่าสนใจในการทำงานของทีม NongPedTheCat คือการที่เพื่อนๆ วาง “โอม” ให้เป็นนักค้นหาข้อมูล โอมไม่ใช่คนที่คลั่งไคล้และเชี่ยวชาญด้านบอร์ดเกมเหมือนซัน แต่โอมชอบการค้นคว้าและการตีโจทย์ที่ได้รับแล้วเอามาแชร์ให้เพื่อนๆ ฟัง โดยเริ่มจากการหยิบประเด็นสำคัญเกี่ยวกับความยั่งยืนด้านพลังงานมาออกแบบโครงเรื่องของเกม ประกอบกับการได้เข้าร่วมเวิร์คช็อปเรียนรู้เกี่ยวกับพลังงานจากหน่วยงานภาครัฐ และพี่ๆ พนักงานบ้านปู ที่มาร่วมให้ความรู้ ให้คำแนะนำ ก็ยิ่งจุดประกายให้โอมได้เก็บเกี่ยวไอเดียใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น   

161241800347

จากการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน การแลกเปลี่ยนไอเดียกันอยู่ตลอดเวลา การผนึกพลังความคิดสร้างสรรค์ และความมุ่งมั่นยืนหยัด ทำให้เกม Recharge สามารถถ่ายทอดความรู้ด้านความยั่งยืนด้านพลังงานได้อย่างลงตัว และสามารถชนะใจกรรมการได้ในที่สุด 

ส่วนทีมอื่นๆ ออกแบบความยั่งยืนด้านพลังงานผ่านบอร์ดเกมแบบไหนกันบ้าง แล้วแต่ละทีมได้อะไรจากการมาเข้าร่วมการแข่งขัน Energy on Board ในครั้งนี้? 

CO-BLOC ทีมนักออกแบบจากคณะมัณฑนศิลป์ สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในการประกวดครั้งนี้ เลือกสร้างบอร์ดเกมแนววางแผน (Strategy Game) ในชื่อเดียวกันกับชื่อทีม โดยต่อยอดมาจากโปรเจกต์ก่อนเรียนจบในวิชา Sustainable Design ที่ต้องออกแบบเมืองอัจฉริยะหรือ Smart City ที่โฟกัสเรื่องการจัดการอาคารอย่างยั่งยืน พอได้มาเข้าร่วมประกวดในโครงการ Energy on Board ทั้งทีมเลยปรับโฟกัสของเกมใหม่มาที่การออกแบบสมาร์ทซิตี้ในอุดมคติแทน โดยผู้เล่นจะต้องบริหารจัดการความต้องการพลังงาน ทรัพยากร และคาร์บอนฟุตฟริ้นท์ เพื่อร่วมกันสร้างเมืองอัจฉริยะที่ยั่งยืน

161241800366  

“ไอซ์-สาธิตา แสงสวัสดิ์” และเพื่อนร่วมทีมที่ประกอบด้วย “บอล-นลธวัช จัตวี” “เฟร้น-อธิกพันธ์ เชาวกุล” และ “มี่-ดนิตา ดีประสิทธิกุล เล่าว่า “ด้วยความที่เราตั้งต้นกันที่ประเด็นเรื่องสมาร์ทซิตี้อยู่แล้ว พอผ่านเข้ามาในรอบ 10 ทีมสุดท้าย จึงได้มีโอกาสไปดูระบบการทำงานของสมาร์ทซิตี้หรือ Smart Campus ของจริงที่โรงเรียนนานาชาติรักบี้ จังหวัดชลบุรี ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าบอร์ดเกมของเราได้ตอบโจทย์ในเรื่องการสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับการวางแผนและการจัดการพลังงานสะอาดและการนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาเมืองให้ฉลาดขึ้น” ทุกคนได้ดึงศักยภาพด้านการออกแบบมาใช้กันอย่างเต็มที่ จึงทำให้วัสดุ อุปกรณ์ และโครงสร้างต่างๆ ของเกม CO-BLOC มีความโดดเด่น แปลกตา ไม่เหมือนกับการ์ดเกมที่ทำมาจากกระดาษทั่วไป  

ทางด้านทีมรองชนะเลิศอันดับ 2 อย่าง Hyphen” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของ “ตาล-ชลธิชา ดาราก้านตรง” และ “ไดร์-บำรุงศักดิ์ สาวิสิทธิ์” สองนักศึกษาจากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้นำเสนอบอร์ดเกม Energy Startups” จำลองสถานการณ์เมื่อประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้น รัฐบาลจึงเปิดโอกาสให้นักลงทุนเข้าซื้อสัมปทานพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทยเพื่อจัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน โดยมีแนวคิดหลักของเกม คือ “Boost your energy up for all” ที่นอกจากผู้เล่นจะต้องสวมบทบาทเป็นนักลงทุนด้านพลังงานแล้ว ยังจะต้องคำนึงถึงการสร้างความสุขคืนสู่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่สัมปทาน ด้วยการจัดสรรพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเหมาะกับความต้องการของแต่ละพื้นที่อีกด้วย 

161241800421

ตาลกับไดร์ เล่าว่า การเข้าร่วมโครงการ Energy on Board ทำให้ได้มีโอกาสพัฒนาความรู้เรื่องพลังงานที่ไม่เคยรู้มาก่อน “ผมคิดว่าโครงการนี้จะช่วยจุดประกายให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจเรื่องพลังงานกันมากขึ้น พลังงานไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย มันเป็นสิ่งที่อยู่กับเราในทุกๆ วัน และเป็นตัวขับเคลื่อนกิจกรรมตั้งแต่ขนาดเล็ก ระดับครัวเรือน ไปจนถึงการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และประเทศชาติ ยิ่งไปกว่านั้น การเพิ่มพูนความรู้ด้านพลังงานในครั้งนี้ทำให้เราเรียนรู้ว่า พลังงงานที่ยั่งยืนต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน หากเราบาลานซ์การใช้พลังงานหลักควบคู่ไปกับพลังงานทดแทนได้อย่างเหมาะสม อนาคตทางพลังงานที่ยั่งยืนย่อมอยู่ไม่ไกล” 

โครงการประกวดออกแบบบอร์ดเกม Energy on Board by BANPU B-Sports Thailand เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้ทำในสิ่งที่รัก ในบริบทใหม่ๆ และในโจทย์ที่ไม่มีอยู่ในตำรา ฝากติดตามกันต่อไปว่า ปีนี้เราจะมาท้าทายน้องๆ ด้วยโจทย์อะไร!! ดูรายละเอียดเพิ่มเติมและติดตามข่าวสารจากโครงการได้ที่เฟซบุ๊ก BANPU B-Sports Thailand: https://www.facebook.com/BanpuBSportsThailand 

161241800453_1

161241800453