'ราช กรุ๊ป' ลุยเพิ่มกำลังผลิตใหม่ 700 เมกะวัตต์ภายในปีนี้
“ราช กรุ๊ป” ลุ้นปิดดีล M&A 245 เมกะวัตต์ หนุนเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ 700 เมกะวัตต์ในปีนี้ พร้อมทุ่มงบ 1-1.5 หมื่นล้านบาทรองรับขยายการลงทุน ดันสู่เป้าหมาย 1 หมื่นเมกะวัตต์ในปี 68
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ "RATCH" เปิดเผยว่า บริษัท อยู่ระหว่างการเจราแผนควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ(M&A) เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าในหลายโครงการ ซึ่งคาดหวังจะปิดดีลได้ประมาณ 245 เมกะวัตต์ รวมถึงการเข้าลงทุนในโครงการพลังงานทดแทน อีก 350 เมกะวัตต์ และการลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ (Green field) ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ ให้ได้ตามเป้าหมายในปีนี้ อีก 700 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 8,700 เมกะวัตต์
โดยในปี2564 บริษัทตั้งงบลงทุนอยู่ที่ 10,000-15,000 ล้านบาท สำหรับรองรับการลงทุนในโครงการใหม่ กาเข้ารซื้อกิจการ และการพัฒนาโครงการเดิมที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เพื่อผลักดันให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย อยู่ที่ระดับ 10,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568
“เป้าหมายการเพิ่มจำนวนเมกะวัตต์ในมือ บริษัทจะขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งยังเน้นในประเทศที่มีฐานการลงทุนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศอาเซียน และยังมองหาโอกาสในประเทศไต้หวัน เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย”
ดังนั้น แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2564 มั่นใจว่า ผลประกอบการจะดีขึ้นจากปี 2563 เนื่องจากจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่จะเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) รวมประมาณ 376 เมกะวัตต์ จากโครงการพลังงานลมคอลเลกเตอร์ Collector ในออสเตรเลีย มีกำหนด COD ในไตรมาส 1ปีนี้ , โรงไฟฟ้าพลังงานลม Thanh Phong ในเวียดนาม กำหนด COD ในเดือนตุลาคมนี้ และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม Riau ในอินโดนีเซีย รวมถึงจะได้รับปัจจัยหนุนจากกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ ที่จะเข้ามาตามแผนอีก 700 เมกะวัตต์ในปีนี้
ส่วนความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเซกอง 4A และ 4B กำลังการผลิตรวม 355 เมกะวัตต์ ในลาว ยังอยู่ระหว่างการเจรจาราคารับซื้อไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และรอนโยบายภาครัฐที่จะประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากลาวเพิ่มเติมในส่วนที่เหลือจากกรอบ MOU ประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ จากที่มีการลงนามซื้อขายไฟฟ้าจากลาว ภายใต้กรอบ 9,000 เมกะวัตต์ โดยตามแผนโครงการเซกอง 4A และ 4B มีกำหนด COD ภายในปี 2569-2570
นอกจากนี้ ในส่วนของโครงการร่วมทุนจัดตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง ในพื้นที่โครงการแขวงจำปาสัก ในลาว โดยบริษัทได้รับสัมปทานพื้นที่เพื่อปลูกพืช 4 หมื่นไร่ ซึ่งจะดำเนินการในเฟสแรกก่อน 2 หมื่นไร่ เพื่อผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง 6 หมื่นตันต่อปี ส่งออกจำหน่ายให้ลูกค้าอุตสาหกรรมญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นหลัก คาดว่า จะดำเนินการก่อสร้างได้ในไตรมาส 1ปีนี้ หรืออย่างช้าภายในไตรมาส 2 ปีนี้ และจะเริ่มจำหน่ายได้ภายในไตรมาส 1ปีหน้า
นายกิจจา กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการจัดหาก๊าซธรรมชาติเพื่อป้อนโรงไฟฟ้าหินกอง จ.ราชบุรี ขนาด 1,400 เมกะวัตต์ ที่จะเริ่มก่อสร้างเฟสแรกขนาด 700 เมกะวัตต์ กลางปีนี้ เพื่อให้ทันต่อกำหนดCOD ในวันที่ 1 มี.ค. 2567 และเฟส 2 อีก 700 เมกะวัตต์ กำหนด COD วันที่ 1 ม.ค. 2568นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุน 49% ในการเตรียมคัดเลือกผู้จัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทมาเสนอขาย LNG หลายราย จึงต้องเลือกรายที่ให้ข้อเสนอที่ดีที่สุด ซึ่งโรงไฟฟ้าหินกองจะใช้ LNG นำเข้าประมาณ 1.4 ล้านตันต่อปี
ขณะเดียวกัน การนำเข้า LNG ยังต้องรอความชัดเจนจากกระทรวงพลังงานในการพิจารณารูปแบบการส่งเสริมการแข่งขันราคา LNG นำเข้าที่เหมาะสม ซึ่งหากนโยบายมีความชัดเจนแล้วจะช่วยให้บริษัทฯ กำหนดเงื่อนไขการนำเข้าก๊าซฯได้ถูกต้อง ว่าควรจัดซื้อแบบสัญญาระยะยาว หรือซื้อแบบตลาดจร เพื่อให้ได้ราคาก๊าซฯที่ทำให้ค่าไฟถูกลง ประชาชนไม่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงเกินไป