จัดการ 'ภาษีบุคคลธรรมดา' ฉบับเข้าใจง่าย กรณีมีรายได้เงินปันผล
เปิดวิธีจัดการและยื่น "ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา" ฉบับเข้าใจง่ายๆ ในกรณีที่มีรายได้ประเภท "เงินปันผลจากหุ้น"
การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเรามีรายได้ประเภทเงินปันผลจากหุ้น ไม่ว่าจะเป็นหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เงินปันผลจากหุ้นดังกล่าว ในทางภาษีถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 4 หรือเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ เงินได้ประเภทเงินปันผล กฎหมายบังคับให้ผู้มีเงินได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 เสมอ แต่เมื่อถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว จะมีสิทธิเลือกเสียภาษีได้ 2 วิธี คือ
1) ใช้เลือกสิทธิ Final Tax ซึ่งสิทธิ Final Tax คือการที่เราได้รับเงินได้และถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเอาไว้แล้ว จะถือว่าเราได้เสียภาษีไปแล้ว ดังนั้นจึงไม่ต้องนำมายื่นรวมคำนวณฯ ตอนปลายปีในแบบ ภงด.90/91 อีก เช่น ได้รับเงินปันผลมา 100 บาท จะถูกหักภาษีไป 10% หรือ 10 บาท แปลว่าเราได้รับเงินได้สุทธิหลังหักภาษีมาเท่ากับ 90 บาทและเราก็ไม่ต้องนำไปยื่นภาษีอีก
2) ไม่ใช้สิทธิ Final Tax แต่เลือกเอาเงินได้ปันผล 100 บาทที่ถูกหักภาษีไว้ 10% มาเลือกรวมคำนวณฯ กับเงินได้ประเภทอื่นเพื่อยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภงด.90/91) ตอนปลายปี (แม้จะได้รับเงินปันผลสุทธิที่ 90 บาท แต่ปลายปีถือว่ามีเงินได้ปันผล 100 บาทที่เราจะต้องนำมารวมคำนวณเพื่อยื่นแบบฯ)
โดยหลักการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เริ่มจากนำรายได้ที่เราได้รับ เช่น รายได้จากเงินปันผล 100 บาทที่เกิดในปีภาษีนั้น หัก ค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน จะได้ “เงินได้สุทธิ” ซึ่งตัวเงินได้สุทธิตัวนี้ จะเป็นตัวที่เรานำไปคูณกับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปัจจุบันอยู่ในช่วง 5%-35% เมื่อคำนวณแล้วเสร็จได้จำนวนภาษีที่ต้องเสียเท่าไหร่ เราสามารถนำภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ได้ถูกหักไว้ 10% จากเงินได้ปันผลที่ได้รับมาใช้ หักออกจากภาษีที่คำนวณได้
นอกจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สำหรับเงินปันผลรับที่ได้จากหุ้นนั้น เราสามารถใช้สิทธิเครดิตภาษีเงินปันผล ซึ่งเป็นสิทธิอย่างหนึ่งที่กฎหมายภาษีกำหนดให้ผู้เสียภาษีได้รับ โดยถือว่าเงินได้ปันผลที่ได้รับนั้น ถูกจ่ายมาจากกำไรที่เคยเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลมาแล้ว ทำให้ผู้รับเงินปันผลจะได้รับเงินคืนภาษีที่เคยได้เสียภาษีไปแล้วคืน เราเรียกเงินนี้ว่า เครดิตภาษีเงินปันผล อย่างไรก็ดี เนื่องจากเป็นสิทธิประโยชน์คืนภาษี ในทางกฎหมายภาษีจะถือว่าเป็นเงินได้ประเภทหนึ่งด้วย ดังนั้นเมื่อได้รับเงินคืนภาษีที่มาจากเครดิตภาษีเงินปันผลแล้ว เงินตรงนี้ก็จะถือเป็นเงินได้ ที่จะต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมด้วย
ทั้งนี้ การใช้สิทธิเครดิตภาษีเงินปันผลที่ได้อธิบายไปข้างต้นนั้น จะไม่รวมถึงเงินปันผล(ส่วนแบ่งกำไร)ที่ได้รับจากกองทุนรวม ซึ่งจะไม่สามารถใช้สิทธิเครดิตภาษีเงินปันผลนี้ได้
สำหรับประเด็นที่ว่า ควรเลือกใช้สิทธิ Final Tax และไม่ต้องนำมายื่นรวมคำนวณฯ ตอนปลายปีในแบบ ภงด.90/91 หรือ ควรเลือกนำเงินปันผลที่ได้รับนี้มารวมคำนวณฯ เพื่อยื่นภาษีตอนปลายปี ตรงนี้ผู้เสียภาษีควรจะต้องนำมาลองคำนวณภาษีบุคคลธรรมดาก่อน หากต้องการเลือกรวมคำนวณฯ รวมกับเงินได้ประเภทอื่นตอนปลายปีในแบบ ภงด.90/91 ผู้เสียภาษีควรจะต้องพิจารณาดูว่าการเลือกใช้เครดิตภาษีเงินปันผลที่ได้รับจากหุ้นนั้น ช่วยให้ท่านขอคืนภาษีได้มากขึ้นหรือช่วยให้ประหยัดภาษีได้มากขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะผู้ที่เสียภาษีในฐานภาษีที่ค่อนข้างสูงเช่น 30%-35% ขึ้นไปแล้วนั้น
การเลือกนำกลุ่มเงินปันผลมารวมกับคำนวณกับเงินได้ประเภทอื่นตอนปลายปีในแบบ ภงด.90/91 อาจทำให้ท่านมีภาระภาษีต้องเสียภาษีมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้อาจพิจารณาเลือกใช้สิทธิ Final Tax อาจจะเป็นการดีกว่า แต่อย่างไรก็ดี สำหรับผู้เสียภาษีในฐานภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า 30% ควรลองคำนวณฯ เปรียบเทียบเพื่อดูผลลัพธ์ที่ได้ว่า ควรจะเลือกเป็น Final tax หรือเลือกนำมารวมคำนวณเพื่อยื่นแบบฯตอนปลายปีแบบไหนจะดีกว่ากัน
ข้อสังเกตและประเด็นที่ต้องระวังอีกประการ ก็คือในปัจจุบันเงินปันผลที่ได้รับจากหุ้นรวมถึงส่วนแบ่งกำไรที่ได้รับจากกองทุนรวมถือเป็นเงินได้ประเภทเดียวกันแล้ว ดังนั้นหากเราเลือกใช้สิทธิ Final Tax กับเงินได้ประเภทนี้ ก็จะต้องใช้วิธี Final Tax กับทุกจำนวนเงินได้ที่ได้รับในกลุ่มประเภทเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ข) แต่หากจะเลือกรวมคำนวณฯ (ไม่ใช้สิทธิ Final Tax) ก็ต้องปฏิบัติกับทุกจำนวนเงินได้ที่ได้รับจากเงินได้ประเภทดังกล่าวเช่นเดียวกัน เพราะถือเป็นเงินได้ประเภทเดียวกัน
จากบทความในตอนนี้คงจะพอได้แนวทางเพื่อนำไปใช้พิจารณาเบื้องต้นสำหรับนักลงทุนที่กำลังพิจารณาเรื่องผลตอบแทนการลงทุนในหุ้นและกองทุนรวมควบคู่ไปกับการบริหารจัดการภาษี แล้วพบกันใหม่ในตอนหน้า สวัสดีครับ