เตือนบ้านที่มีผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยติดเตียง ระวังลูกหลาน-ลูกจ้าง เสี่ยงติดโควิด 19
เผยพบผู้สูงอายุ /ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ไม่เคยออกบ้านติดเชื้อโควิด 19 เตือนระวังคนเข้า-ออกบ้าน คนดูแล ผู้ที่ต้องทำงานนอกบ้าน เสี่ยงนำเชื้อมาติดให้กับคนในครอบครัว แนะเข้มมาตรการส่วนบุคคล สวมหน้ากากเป็นประจำ
วันนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและ
ภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้รับรายงานมีผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ที่ไม่ได้ออกไปนอกบ้านติดเชื้อโควิด 19 โดยกรณีแรกเป็นชายอายุ 95 ปี ป่วยติดเตียง พบติดโรคจากลูกจ้างแรงงานต่างชาติ 3 คน ที่จ้างมาดูแลเดินทางไป-กลับทุกวัน กรณีที่ 2 ที่ จ.ตาก เป็นผู้สูงอายุชายอายุ 75 ปี สัญชาติเมียนมา ติดเชื้อจากสมาชิกครอบครัว และญาติเข้า- ออกในบ้าน
ขณะนี้พบการติดเชื้อขยายวงไปแล้ว 11 ราย อยู่ระหว่างสอบสวนเพิ่มเติม ขอเน้นย้ำให้คนในครอบครัวช่วยกันดูแลเฝ้าระวังในกลุ่มลูกจ้างแรงงาน คนดูแล และลูกหลานที่เข้า–ออกบ้านเป็นประจำ ต้องเข้มมาตรการส่วนบุคคล สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่มีการพูดคุยสัมผัสใกล้ชิดหรือปฏิบัติงานในบ้าน และสื่อสารกับลูกจ้างไม่ให้ไปในพื้นที่เสี่ยง รวมทั้ง
งดพบปะกับกลุ่มเพื่อนแรงงานต่างด้าว เพื่อลดการนำเชื้อมาติดให้กับคนในบ้าน
ทั้งนี้ สัปดาห์หน้าจะเข้าสู่เทศกาลตรุษจีน ตามธรรมเนียมจะมีการรวมญาติ การใกล้ชิดกันอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่เชื้อในครอบครัวได้ ขอให้รักษาระยะห่างกับผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เมื่อกลับบ้านให้รีบอาบน้ำชำระร่างกาย การร่วมรับประทานอาหาร ควรแยกสำรับหรือใช้ช้อนกลางส่วนตัว สวมหน้ากากอนามัยเมื่อพูดคุยกัน จะช่วยป้องกันผู้สูงอายุในบ้าน
สำหรับยุค New Normal รวมญาติออนไลน์
ผ่านแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์มือถือ หรือการแจกอั่งเปาออนไลน์ เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงการสัมผัสและการแพร่กระจายเชื้อได้
ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด 19 ทั่วโลก ข้อมูล ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 มีผู้ที่ได้รับการฉีดแล้วกว่า 119 ล้านโดส ใน 67 ประเทศ พบอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนเพียงเล็กน้อยซึ่งมีโอกาสเกิดได้กับวัคซีนทุกชนิด และยังไม่พบข้อกังวลที่จะทำให้หยุดฉีดวัคซีนโควิด 19 ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าการเลือกวัคซีนของประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญได้พิจารณาถึงเทคโนโลยี และความปลอดภัยของวัคซีนเป็นหลัก