นักวิจัยไทย ยกระดับอุตสาหกรรมข้าวไทย จากงานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์จริง
นักวิจัยไทย ร่วมกับ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ต่อยอดงานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์จริง นำเทคโนโลยีคลื่นวิทยุ ฆ่ามอดข้าว ยกระดับอุตสาหกรรมข้าวไทย พร้อมผลงานพัฒนาสารสกัดจากข้าวเหนียวดำ Black rice complex สู่ผลิตภัณฑ์แฮร์เซ็ท ลดผมร่วง
นายชานนท์ ศรีสุมา หนึ่งในคณะนักวิจัยที่พัฒนาและผลิต “เครื่องฆ่ามอดข้าวด้วยคลื่นความถี่วิทยุ” เปิดเผยว่า คณะนักวิจัยร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นำเทคโนโลยีกำจัดมอดข้าว โดยใช้คลื่นความถี่วิทยุทำให้มอดข้าวและไข่มอดตาย ซึ่งสามารถเก็บข้าวได้นานถึง 6 เดือน – 1 ปี โดยไม่ใช้สารเคมี และไม่มีผลกระทบกับคุณภาพข้าว นับเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมข้าวไทยตั้งแต่โรงสีข้าว รวมทั้งเกษตรกรข้าวออร์แกนิค อีกทั้งยังสามารถต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมอาหารและอื่นๆ ได้อีกด้วย
โดยเทคโนโลยีดังกล่าวได้รับการจดอนุสิทธิบัตรเมื่อปี 2560 และดำเนินการทำธุรกิจภายใต้โครงการผลิตผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Startup) เมื่อปี 2561 ปัจจุบันได้มีการขยายผลใช้งานในเชิงพาณิชย์แล้วในหลายโรงสี ซึ่งเป็นที่ยอมรับต่อกลุ่มผู้ประกอบการโรงสีข้าวของไทย อีกทั้งตัวเครื่องสามารถใช้งานได้สะดวกและมีประสิทธิภาพต่อการแข่งขันในระดับนานาชาติได้
“จุดเริ่มต้นเกิดจากสนใจศึกษาเรื่องเทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ความถี่วิทยุ จึงเริ่มวิจัยตั้งแต่เรียนปริญญาโท ต่อมาได้มีโอกาสสมัครเข้าโครงการบ่มเพาะกับอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อที่จะเรียนรู้เป็นผู้ประกอบการ มีการแข่งขันและนำเสนอโครงการเครื่องกำจัดมอด ซึ่งอุทยานวิทย์ฯ มองเห็นว่าเป็นไปได้ จึงได้รับการสนับสนุนทุน อุทยานวิทย์ฯ เป็นหน่วยงานที่พบปะ กับภาคเอกชนเยอะ จึงสามารถหาแหล่งทุนให้กับนักวิจัยให้ต่อยอดไปได้ ทำให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์ หรือภาคอุตสาหกรรมได้”
ด้าน อนงค์นุช ต๊ะคำ ผู้ก่อตั้งบริษัท คอสเมเฮลท์ แชนเนล จำกัด ดำเนินธุรกิจด้านการรับผลิตเครื่องสำอางและอาหารเสริม เปิดเผยว่า คอสเมเฮลท์ แชนเนล เกิดขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานจากงานวิจัยเพื่อส่งต่อให้กับผู้บริโภคโดยมีส่วนผสมหลักจากพืชธรรมชาติภายใต้งานวิจัยและนวัตกรรม
โดยมีการนำงานวิจัยของตัวเองที่เรียนจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มารับความช่วยเหลือจากอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ในการพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการจากการเข้าร่วมการแข่งขันกิจกรรม R2M การต่อยอดธุรกิจและเชื่อมโยงเครือข่าย จากการเข้าร่วมโครงการเร่งกระบวนการเติบโตของผู้เข้ารับการบ่มเพาะ (Startup Acceleration Program) โดยผลิตภัณฑ์ที่เป็นจุดขาย คือ “แฮร์เซ็ท” ที่ใช้สมุนไพรไทยทดแทนยารักษาผมร่วง ซึ่งช่วยกระตุ้นการงอกของผมใหม่ โดยสารสกัดที่ใช้และโดดเด่นที่สุดคือ Black rice complex ที่พัฒนามาจากสารสกัดข้าวเหนียวดำ ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าของผลผลิตเกษตรกรไทย ขณะที่พืชสมุนไพรอื่น ก็จะใช้วัตถุดิบที่ปลูกในประเทศไทย อาทิ เปลือกกาแฟ ซึ่งเป็นการสร้างเพิ่มมูลค่าจากเดิมที่เป็นขยะ เราไปรับซื้อมาทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น
“ปัจจุบันด้วยกระแสของโลกที่เปลี่ยนมาเป็น Innovation เป็นส่วนใหญ่แล้ว เพราะฉะนั้นการที่เราจับมือร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับทั้ง Research และ Innovation มันจะเป็นความยั่งยืนแน่นอนในอนาคต ทำให้เรามีความโดดเด่น แตกต่าง มีจุดแข็ง มีคุณภาพ มีมาตรฐาน สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจได้ในอนาคต"
"อย่างไรก็ดี ในฐานะนักวิจัยในอดีต 5 - 6 ปีที่ผ่านมา นักวิจัยพยายามคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา แต่ไม่ได้รับความสนใจในธุรกิจมากเท่าที่ควร จนกลายเป็นงานวิจัยขึ้นหิ้งทำให้นักวิจัยขาดแรงบันดาลใจในการพัฒนาอะไรสักอย่างแต่ไม่มีการนำไปใช้จริง แต่ปัจจุบันนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย ในวงการธุรกิจไทย คนเริ่มหันมาใส่ใจเพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป เวลาซื้อสินค้า เวลาเข้าถึงอินเทอร์เน็ตต้องค้นคว้า ทำให้กลุ่มธุรกิจหันมาสนใจจับมือกับอุทยานวิทย์ฯ และมหาวิทยาลัยมากขึ้น เพื่อนำงานวิจัยออกไปใช้ ทำให้นักวิจัยมีกำลังใจสร้างสรรค์งานใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจ สังคมและประเทศ”
อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค จึงเป็นโครงสร้างที่ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยมุ่งเน้นสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีรายใหม่ ที่มีความพร้อมเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ สนับสนุนให้เกิดงานวิจัยที่หลากหลายและใช้ประโยชน์ได้จริง และสามารถประยุกต์ใช้ความคิดใหม่และเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจ นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน การพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมถึง มีส่วนในการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยอาศัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นเครื่องมือหลักในการพัฒนาความสามารถด้านต่างๆ ของภาคอุตสาหกรรมไทย
สำหรับนักวิจัย หรือผู้ที่สนใจรับคำปรึกษา คำแนะนำ หรือความช่วยเหลือด้านต่างๆ จากอุทยานวิทยาศาสตร์ สามารถติดต่อได้ที่ https://www.facebook.com/spamost/ หรือโทร 02-333-3942