กสอ. ดันเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มมูลค่ากว่าร้อยล้านบาท
กสอ. ชู 4 แนวทางพัฒนาวิสาหกิจชุมชนปี 2564 พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า พัฒนากระบวนการผลิตของผลิตภัณฑ์ชุมชน พัฒนาและสร้างความเข้มแข็งชุมชน และการพัฒนาตลาดสินค้ายุคนิวนอร์มอล ตั้งเป้าพัฒนากลุ่มเป้าหมาย 570 ราย คาดเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่าร้อยล้านบาท
น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งเน้นการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง เพื่อการเพิ่มขีดความสามารถให้กับภาคอุตสาหกรรมมหภาคในอนาคต โดยได้กำชับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ให้ดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนแนวนโยบายในการคุณภาพชีวิตของราษฎรกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการชุมชนทั่วไป ให้สามารถสร้างรายได้และเกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน สนับสนุนผลิตภัณฑ์ชุมชนโดยการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีมูลค่าเพิ่ม สร้างการเรียนรู้ ฝึกอาชีพ การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมะสมมาประยุกต์ โดยได้จัดสรรงบประมาณ 54 ล้านบาท เพื่อพัฒนากลุ่มเป้าหมายรวม 570 ราย 145 ผลิตภัณฑ์ 680 คน โดยคาดว่าจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 3 เท่า หรือกว่า หนึ่งร้อยล้านบาท โดย กสอ. ได้วางเป้าหมายการพัฒนาไว้ 4 แนวทาง ประกอบด้วย
1. พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า : สร้างอัตลักษณ์ของพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นให้มีความโดดเด่น โดยการนำเสน่ห์ของวัฒนธรรมพื้นบ้านภูมิปัญญาท้องถิ่น มาผสมผสานเข้าไป นตัวผลิตภัณฑ์ให้มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น ภายใต้การดำเนินงานโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาสู่สากล
2. พัฒนากระบวนการผลิตของผลิตภัณฑ์ชุมชน : พัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ในกระบวนการผลิต โดยการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์สามารถเข้าสู่การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) หรือมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง พร้อมให้เกิดการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้การดำเนินงานโครงการการยกระดับการผลิตวิสาหกิจชุมชนด้วยระบบ คุณภาพ มาตรฐาน นวัตกรรม และเทคโนโลยี
3. พัฒนาและสร้างความเข้มแข็งชุมชน : สร้างความเข้มแข็งของชุมชนโดยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ที่เป็นของฝากของที่ระลึกรวมถึงระบบการพัฒนาคนรุ่นใหม่ เชื่อมโยงกับระบบฝึกงานของนักศึกษาสู่ท้องถิ่น โดยร่วมกันทำธุรกิจพัฒนาชุมชน ขับเคลื่อนเกษตรกรตลอดจนผู้อยู่ในห่วงโซ่อุปทานเกษตรอุตสาหกรรมในพื้นที่สู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมรายใหม่ที่มีศักยภาพและมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งการเสริมสร้างทักษะอาชีพการบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ และมีทักษะในการประยุกต์ใช้เครื่องมือสารสนเทศ พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า พัฒนากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชน พัฒนาและสร้างความเข็มแข็งชุมชน
4. พัฒนาตลาดสินค้าในยุคนิวนอร์มอล แนวทางการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน และประชาชน ได้อย่างเหมาะสม ภายใต้การดำเนินงานโครงการต่างๆ เช่น โครงการพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนในการยกระดับหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (หมู่บ้านซีไอวี) โครงการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน (พระราชดำริ) โครงการสร้างความเข้มแข็งผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนสู่การประกอบการอย่างมืออาชีพ และการพัฒนาชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็งที่ กสอ. ดำเนินการและประสบความสำเร็จก็จะดำเนินการต่อในปีนี้ เช่น ห้วยยายจิ๋วโมเดล จ.ชัยภูมิ
โดย กสอ. ประสบความสำเร็จในการพัฒนาชุมชนห้วยยายจิ๋ว จ.ชัยภูมิ สร้างวิถีเกษตรในชุมชน สนับสนุนการแปรรูปผลิตผล จากการดำเนินการในปีที่ผ่านมา ไปยัง ตำบลเกษตรสุวรรณ อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี เพื่อสร้างความตระหนักถึงความเป็นนักธุรกิจชุมชนใหม่ ภายใต้โครงการ “พัฒนาผู้ประกอบการชุมชนรายใหม่อย่างบูรณาการ” (ห้วยยายจิ๋วโมเดล) ให้กับนักธุรกิจชุมชนรายใหม่ ในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น ยกระดับการผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีคุณภาพและมาตรฐานสากล มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยตั้งเป้าผลผลิตจำนวน 200 คน