เปิดเหตุผล '14 องค์กรภูเก็ต' ร้องรัฐปลดล็อกเอกชนซื้อวัคซีน
วานนี้ (10 ก.พ.) ตัวแทนภาคเอกชน 14 องค์กรใน จ.ภูเก็ต ได้เดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านคำวินิจฉัยไม่ให้ภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดซื้อวัคซีน ต่อนายกรัฐมนตรีและผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต
สำหรับเหตุผลในการยื่นหนังสือคัดค้าน มีดังนี้ 1.ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเกินกว่า 94% และเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามา ผู้ประกอบการรวมถึงประชาชนขาดรายได้ ได้รับความเดือดร้อนอย่างมากเป็นเวลาอย่างน้อย 8 เดือน ซึ่งผู้ประกอบการเกือบทุกรายมีปัญหาในการจัดการธุรกิจ ประชาชนและภาคธุรกิจขาดเงินสดหมุนเวียน ต้องกู้ยืมจากเจ้าหนี้ทั้งในและนอกระบบเพื่อประคองชีวิตและธุรกิจ
2.เมื่อวันที่ 2 และ 3 พ.ย.2563 ได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรที่ จ.ภูเก็ต ทาง ครม.ได้รับทราบปัญหา และรับว่าจะดำเนินการแก้ไข บรรเทา เยียวยา และหาหนทางให้ภูเก็ตกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวให้เร็วที่สุด ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในภูเก็ตมีความหวัง
3.เมื่อกลางเดือน ธ.ค.2563 ได้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกครั้งจาก จ.สมุทรสาคร สู่จังหวัดต่างๆ เกือบทั่วประเทศ ทำให้มีผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อประชาชนอีกครั้ง ส่งผลต่อการท่องเที่ยว ประชาชนไม่กล้าเดินทาง ไม่กล้าใช้จ่าย โรงแรมเริ่มปิดกิจการอีกครั้ง สายการบินลดหรืองดตารางบิน ทำให้มีการกระจายรายได้น้อยมาก ความทุกข์และความยากจนกลับมาเยือน แต่ครั้งนี้ย่อมหนักและสาหัสกว่าครั้งแรก
4.ผศ.ดร.ยานนท์ ภู่เจริญ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา คณะการบริการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ได้เปิดผลงานวิจัยว่าคาดการรายได้ต่อหัวของคนภูเก็ต ระหว่างเดือน ก.พ.-ก.ย.2564 จะอยู่ที่ประมาณ 1,984 บาทต่อเดือน ต่ำกว่าเส้นความยากจนของประเทศไทยถูกระบุที่ 3,044 บาทต่อเดือน
5.เมื่อวันที่ 24 ม.ค.2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม มีนโยบายให้เอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ได้ โดยขอให้ยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนวัคซีนกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ถูกต้อง ทำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในภูเก็ตมีความหวัง จากการที่รัฐบาลเปิดให้เอกชนร่วมนำเข้าวัคซีน เพื่อให้ภาคเอกชนช่วยดำเนินการให้คนภูเก็ตได้รับวัคซีนอย่างครอบคลุม เพื่อเร่งเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัวได้อย่างปลอดภัย
6.ทางจังหวัดภูเก็ตได้มีการประชุมกันระหว่างภาคเอกชนและ อปท. เพื่อหาทางออกของปัญหานี้ ได้ข้อสรุปเป็นเอกฉันท์ว่า วัคซีนคือทางออกของปัญหา โดยทางภาคเอกชนจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการจัดหา จัดซื้อ และฉีดวัคซีนให้แก่บุคลากรภาคท่องเที่ยวเองทั้งหมด โดยไม่ได้ใช้งบประมาณของภาครัฐ และ อปท.โดยของมติสภาฯขององค์กรท้องถิ่นนั้นๆ อนุมัติให้ใช้เงินสะสมในการจัดหา จัดซื้อ และฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนทั่วไปในเขตปกครองของท้องถิ่นนั้นๆ
และ 7.ในวันที่ 5 ก.พ.2564 จังหวัดภูเก็ตจึงได้ส่งหนังสือถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย ผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อให้ทางปลัดกระทรวงมหาดไทย นำเสนอยุทธศาสตร์ Phuket First October ต่อศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เพื่อพิจารณาให้จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดอื่นๆ ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป โดยทางปลัดกระทรวงมหาดไทยได้ทำหนังสือถึง ศบค.ในวันที่ 6 ก.พ.2564 เพื่อให้ได้พิจารณา
จากกรณีสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะอันเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆ อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อยุทธศาสตร์ Phuket First October ที่จะทำให้การท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตขับเคลื่อนได้ ทางภาคเอกชนจังหวัดภูเก็ตได้โทรศัพท์ไปยังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อสอบถามถึงสาเหตุในการวินิจฉัยและข้อเสนอดังกล่าว ได้รับคำตอบมาว่า การที่ไม่สามารถให้ภาคเอกชนหรือ อปท.จัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 กับผู้ผลิตวัคซีนโดยตรง ในระยะเริ่มแรกนั้น เนื่องจากทางรัฐบาลจะได้รับวัคซีนมาเป็นจำนวนน้อยมาก ยังไม่สามารถกระจายการฉีดยาให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง เกรงว่าจะเกิดปัญหาขึ้นได้ และเป็นเพียงข้อเสนอแนะ มิใช่คำวินิจฉัยแต่อย่างใด
เมื่อมีการอ่านข่าวจากการให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีในวันที่ 7 ก.พ.2564 เป็นไปในทางเดียวกับข้อเสนอของภาคเอกชนของจังหวัดภูเก็ต ในยุทธศาสตร์ Phuket First October แต่เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2564 รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ได้ให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้อีกว่า ไม่สามารถให้เอกชนจัดซื้อวัคซีนเองได้ ตามคำวินิจฉัยของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน
จากข้อขัดข้องและเหตุผลข้างต้น ทางภาคเอกชนและองค์กรท้องถิ่นในจังหวัดภูเก็ตจึงขอความกรุณาได้โปรดพิจารณาเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยมีประเด็นดังนี้ 1.ประเด็นความปลอดภัยของวัคซีนเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานอาหารและยาเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ ภาคเอกชนและ อปท.ยังคงจำเป็นต้องซื้อวัคซีนที่สำนักงานอาหารและยาได้ขึ้นทะเบียนแล้ว จึงไม่สมควรเป็นเหตุมิให้ภาคเอกชนและ อปท.จัดซื้อวัคซีน
2.ประเด็นการบริหารจัดการในการฉีดให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขในการบริหารวัคซีนที่ได้จองซื้อตามแผนอยู่แล้ว ภาคเอกชนและ อปท.เป็นเพียงส่วนเสริมให้ครอบคลุมมากขึ้น จึงไม่สมควรเป็นเหตุห้ามมิให้ภาคเอกชนและ อปท.จัดซื้อวัคซีน
3.ประเด็นติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากการได้รับวัคซีน วัคซีนที่ซื้อมาจำเป็นต้องถูกนำไปฉีดโดยโรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชน ซึ่งโรงพยาบาลที่เป็นผู้ฉีดนั้นมีหน้าที่ติดตามอาการไม่พึงประสงค์อยู่แล้ว จึงไม่สมควรเป็นเหตุห้ามมิให้ภาคเอกชนและ อปท.จัดซื้อวัคซีน
และ 4.คำวินิจฉัยระบุว่า “ในระยะแรกนี้ภาครัฐเท่านั้นที่จะดำเนินการจัดซื้อ และบริหารจัดการวัคซีนและกระจายวัคซีน” ทางผู้ร้องเรียนขอให้โปรดชี้แจงเพิ่มเติมว่า “ในระยะแรก” หมายถึงช่วงเวลาใด จนถึงช่วงเวลาใด