ก.ล.ต.เปิดยุทธศาสตร์3ปี เสริมแกร่งตลาดทุนไทย
ก.ล.ต. เปิด 8 ยุทธศาสตร์ พร้อมเดินหน้า 5 เป้าหมาย ภายใน 3 ปี (64-66) หวังพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย หลังโควิด-19 ด้านตลาดทุนไทยต้องเผชิญความท้าท้าย เร่งปรับปรุงพ.ร.บ.หลักทรัพย์ คาดเสนอบอร์ดในไตรมาส 3 นี้
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยในงานสัมมนาแถลงยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ปี 2564 ภายใต้แนวคิด “Strengthening Resilient Future” ว่า ก.ล.ต. เปิดแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (2564-2566) โดยมุ่งเสริมสภาพคล่อง การเติบโตเศรษฐกิจไทย สร้างรากฐานและความน่าเชื่อถือเพื่อตลาดทุนไทยที่ยั่งยืน
ภายใต้ 5 เป้าหมายหลัก คือ 1. ยั่งยืน 2. เข้าถึง 3. ฟื้นฟูและเข้มแข็ง 4. แข่งได้ และ 5. เชื่อมโยงและเชื่อถือได้ โดยได้เพิ่มเป้าหมาย “ฟื้นฟูและเข้มแข็ง” และเพิ่มยุทธศาสตร์เฉพาะกิจ เพื่อให้ตลาดทุนมีกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นอุปสรรคและมีเครื่องมือช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับกิจการที่ประสบปัญหาจากโควิด-19
รวมถึงกำหนด 8 ยุทธ์ศาสตร์ ดังนี้ 1.การสร้างสภาพแวดล้อมตลาดทุนที่เอื้อต่อการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน (Sustainable capital market) 2.ส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพทางการเงินในระยะยาว มีการออมและการลงทุนระยะยาวที่เพียงพอรองรับการเกษียณอายุ (Financial well-being) 3.สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ (SMEs & startups growth and financing) 4.เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และสร้างโอกาสจากความเชื่อมโยงกับต่างประเทศ (Enabling regulatory framework & connectivity)
5.ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มศักยภาพตลาดทุนและยกระดับการกำกับดูแล (Digital for capital market) 6.เพิ่มศักยภาพในการกำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมายในตลาดทุนไทย (Effective supervision & enforcement) 7.ติดตามประเมินความเสี่ยงเชิงระบบได้อย่างเท่าทัน (Systemic risk) และ 8.สร้างกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นอุปสรรคและส่งเสริมการมีเครื่องมือช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับกิจการที่ประสบปัญหาจากสถานการณ์ โควิด-19 ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์เฉพาะกิจ
สำหรับแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ดังกล่าว ได้คำนึงถึงความเชื่อมโยงแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาตลาดทุนไทย รวมถึงบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปและโลกการเงินในยุคใหม่ อันนำมาซึ่งโอกาสและความท้าทายต่อทั้งภาคธุรกิจในตลาดทุนไทยและหน่วยงานกำกับดูแล รวมถึงกำหนด 5 เป้าหมายและจัดลำดับความสำคัญ เพื่อให้สามารถทุ่มเททรัพยากรได้อย่างเหมาะสมตอบโจทย์ที่เป็นปัจจุบันและมีความสำคัญทั้ง 2 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนในการเสริมสร้างสภาพคล่องและสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นฟู เข้มแข็ง และมีความสามารถในการแข่งขันต่อไปได้ และประเด็นที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตลาดทุนไทยน่าเชื่อถือและมีรากฐานที่แข็งแกร่งเพื่อตลาดทุนไทยเติบโตอย่างยั่งยืน
“การฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี ที่จะต้องเครื่อมือระดมทุนช่วยการเสริมสภาพคล่องไม่ว่าจะเป็นการมีเครื่องมือระดมทุนช่วยการเสริมสภาพคล่องการมีกฎเกณฑ์และตลาดรองเอสเอ็มอี และอีโคโนมีคาวฟันด์ดิ้ง อย่างไรก็ตามตลาดทุนไทยในระยะข้างหน้ามองว่ายังเผชิญความท้าทาย ได้แก่ ความผันผวนทางเศรษฐกิต ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความเหลื่อมล้ำ กระแส อีเอสจี (ESG) สังคมสูงวัย”
ขณะที่ ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการปรับปรุง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ คาดว่าจะชัดเจนเสนอคณะกรรมการ ก.ล.ต. ภายในไตรมาส 3 นี้ ซึ่งกระบวนการหลังจากนั้นจะเสนอต่อกระทรวงการคลัง ครม. และเข้าสภาฯ โดยหนึ่งในเกณฑ์การปรับปรุงแก้ไขจะมีเรื่องการเพิ่มอำนาจสอบสวนผู้กระทำผิดกฎเกณฑ์การลงทุน ด้วยการยกระดับจากหน่วยงานกำกับดูแล เป็นเจ้าพนักงานสอบสวน สำหรับคดีตลาดทุน ที่มีผลกระทบในวงกว้าง จากเดิมที่พนักงาน ก.ล.ต. เป็นผู้ให้ข้อมูลเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้เนื่องจากก.ล.ต.มีความชำนาญในคดีดังกล่าว
นอกจากนี้ ประเด็นการระดมทุนในรูปแบบเหรียญดิจิทัล (ICO) ที่มีสินทรัพย์อ้างอิงในลักษณะคล้ายหลักทรัพย์ ควรปรับปรุงให้เทียบเท่าหลักทรัพย์ที่ถูกกำกับโดย พ.ร.บ.หลักทรัพย์ เพื่อคุ้มครองนักลงทุนให้ได้ผลประโยชน์มากที่สุด เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเพียงพอ เหมาะสมทันต่อเหตุการณ์ ป้องกันไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการกับกำดูแล และเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน