สำนักงบประมาณเผยคำของบประมาณปี 65 ทะลัก 5.4 ล้านล้านบาท
สำนักงบฯเผยคำของบประมาณปีปี 65 สูงถึง 5.4 ล้านล้านบาท สำนักงบเตรียมหั่นเหลือครึ่งหนึ่งให้ได้ตามกรอบ ชงครม. 9 มี.ค.นี้ไฟเขียว คุมเข้มหากใครของบประมาไม่ตรงยุทธศาสตร์ชาติเจอตัดแน่ พร้อมปรับลดงบประจำ 1.5 แสนล. ยืนยันเบี้ยสวัสดิการที่แจกให้ไม่ปรับลด
นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่าสำนักงบประมาณ กำลังพิจารณารายละเอียดคำของบประมาณประจำปี 65 หลังจากทุกหน่วยงานได้เสนอคำขอเข้ามายังสำนักงบประมาณตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยมีวงเงินรวมกว่า 5.4 ล้านล้านบาท มากกว่ากรอบวงเงินงบประมาณที่ตั้งไว้ 3.1 ล้านล้านบาท โดยขั้นตอนจากนี้สำนักงบประมาณจะพิจารณาและตัดวงเงินให้เหลืออยู่ในกรอบ 3.1 ล้านล้านบาท เพื่อเสนอให้ที่ประชุมครม.ในวันที่ 9 มี.ค.นี้ เห็นชอบต่อไป
“งบประมาณที่เสนอขอเข้ามาก็เป็นไปเหมือนทุกปีที่จะมีวงเงินค่อนข้างสูงกว่ากรอบวงเงินงบประมาณที่ครม.ได้อนุมัติเอาไว้ ซึ่งขั้นตอนจากนี้สำนักงบประมาณจะไปดูรายละเอียดและตัดให้เหลือ 3.1 ล้านล้านบาท โดยเกณฑ์การพิจารณาจะยึดว่า คำขอที่เสนอมานั้นต้องเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ.2564-65 ซึ่งที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายเอาไว้แล้ว โดยให้ทุกหน่วยงานทบทวนรายการที่สามารถชะลอไว้ได้ หรือโครงการใดสามารถใช้แหล่งเงินอื่น ๆ ก็ให้พิจารณา ทั้งการใช้เงินกู้ การร่วมกับเอกชน หรือพีพีพี หรือกองทุนต่างๆ เช่นเดียวกับเงินนอกงบประมาณ ที่มาจากเงินสะสม ก็ขอให้ช่วยใช้แหล่งเงินนั้นก่อน”
สำหรับขั้นตอนการพิจารณางบประมาณปี 65 นั้น ล่าสุดยังเป็นไปตามกรอบเวลาตามปฏิทินงบประมาณ โดยหลังจากเสนอครม.วันที่ 9 มี.ค.แล้ว สำนักงบประมาณจะไปปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณอีกครั้งตามข้อสั่งการของครม. จากนั้นจึงไปรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ก่อนสรุปข้อมูลและจัดทำเป็นร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ เสนอที่ประชุมครม.เห็นชอบ จากนั้นจึงจัดพิมพ์ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ และเอกสารประกอบเสนอครม.อีกครั้ง จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนของรัฐสภาในเดือนพ.ค.64 ต่อไป
นายเดชาภิวัฒน์ กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณปี 65 ครั้งนี้ ถือว่ามีความสำคัญ เพราะจากนี้ไปจะต้องไปดูในเรื่องของงบประมาณรายจ่ายประจำ ซึ่งจำเป็นต้องปรับลดลงประมาณ 1.5 แสนล้านบาท เพราะกรอบวงเงินงบประมาณปีนี้ลดลงจากปีก่อนถึง 1.8 แสนล้านบาท โดยต้องไปดูเรื่องของค่าใช้จ่ายของทุกหน่วยงานว่าจะปรับลดลงได้มากเท่าใด เช่น การขอเพิ่มอัตรา หรือเพิ่มเบี้ยประเภทต่าง ๆ อาจต้องชะลอออกไป แต่ยืนยันว่า ในเรื่องของสวัสดิการที่ประชาชนเคยได้รับทั้ง เบี้ยยังชีพ คนชรา ผู้พิการ เด็กแรกเกิด หรือเบี้ยที่ต้องจ่ายประจำ ยังคงให้เท่าเดิมอยู่ ส่วนเรื่องการดูแลผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ก็ได้เตรียมงบกลางไว้รองรับแล้ว