'ชีวาศรม' รุกปรับแผนระยะสั้น ดันฟู้ดดิลิเวอรี่-ให้คำปรึกษาสุขภาพออนไลน์
“ชีวาศรม” พลิกเกมขายดึงนักท่องเที่ยวไทยชดเชยต่างชาติฝ่าวิกฤติโควิด โปรโมทเดย์แพ็คเกจแบบไม่ต้องพักค้าง พร้อมรุกปรับแผนระยะสั้น เจาะมุมมองใหม่ขยายธุรกิจเกาะกระแสสุขภาพ ดันฟู้ดดิลิเวอรี่-ให้คำปรึกษาสุขภาพออนไลน์
นายกรด โรจนเสถียร ที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ชีวาศรม ธุรกิจรีสอร์ทเพื่อสุขภาพชื่อดังใน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเปิดให้บริการมากว่า 25 ปี ตั้งแต่ปี 2538 กล่าวว่า ชีวาศรมเพิ่งปรับปรุงรีสอร์ทแล้วเสร็จเมื่อเดือน ธ.ค.2562 แต่กลับเกิดวิกฤติโควิด-19 พอดี เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย ทำให้ต้องปรับตัวด้วยการดึงนักท่องเที่ยวในประเทศ แต่ด้วยพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวไทย เข้าพักมากสุดก็แค่ 3 คืน ต่างจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าพักเฉลี่ยมากถึง 7 คืน
“พอต้องปรับตัวเข้าหาตลาดในประเทศ ชีวาศรมได้เพิ่มการขาย Day Package แบบไม่ต้องพักค้าง ส่วนห้องอาหารก็เปิดให้ลูกค้าที่ไม่ได้เข้าพัก สามารถเข้ามาทานอาหารได้ โดยอัตราเข้าพักในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาอยู่ที่ 10% เท่านั้น ส่วนปี 2563 มีอัตราเข้าพักเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 20% ต่ำกว่าเป้าหมายอัตราเข้าพักที่เคยวางไว้70% ก่อนเจอสถานการณ์โควิด-19”
อย่างไรก็ดีคาดว่าอีก 2 ปีข้างหน้าสถานการณ์ธุรกิจของชีวาศรมน่าจะฟื้นตัวดีขึ้น แต่คงไม่ดีเท่าเดิมเมื่อเทียบกับภาวะปกติ ส่งผลให้ชีวาศรมต้องปรับแผนระยะสั้น หามุมมองใหม่ๆ มาขยายธุรกิจ แต่ยังต้องเกี่ยวกับธุรกิจหลัก (Core Business) ด้านสุขภาพ เช่น การดิลิเวอรี่อาหารสุขภาพ และให้คำปรึกษาด้านสุขภาพทางออนไลน์ หลังเห็นเทรนด์ Mental Wellness หรือการเยียวยาด้านจิตใจ สอดรับกับพฤติกรรมของคนทั่วโลกที่หันมาใส่ใจสุขภาพจิตมากขึ้น ซึ่งครอบคลุมไปถึงการสำรวจตัวตนใหม่ รวมถึงการแยกตัวออกมาอยู่กับตัวเองเพื่อทำสมาธิ มุ่งสร้างความมั่นคงทางจิตใจ
“ส่วนลูกค้าต่างชาติ ชีวาศรมยังคงรักษาความสัมพันธ์และติดต่ออย่างต่อเนื่อง ด้วยการส่งข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพให้ลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้ลูกค้ายังคงนึกถึงชีวาศรม”
นายกรด กล่าวในฐานะนายกสมาคมสปาไทยด้วยว่า ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือธุรกิจร้านนวดสปาอย่างเร่งด่วน เพราะเป็นหนึ่งในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่สำคัญมาก โดยธุรกิจสปาในประเทศไทยมีมูลค่ามากกว่า 3 หมื่นล้านบาทต่อปีตามประมาณการณ์ของสมาคมฯ พอวิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนัก ทำให้ปัจจุบันมีร้านนวดสปาเปิดให้บริการเพียง 20% ของทั้งหมด และมีแรงงานที่เกี่ยวข้องกว่า 80% ตกงาน
ด้านรายงานจากสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท). ระบุว่า เมื่อจำแนกดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 4/2563 ตามประเภทธุรกิจ พบว่ากลุ่มผู้ประกอบการสปาและนวดเพื่อสุขภาพเป็นกลุ่มที่ประเมินผลประกอบการต่ำที่สุด อยู่ที่ 40 ลดลงกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มนี้ในไตรมาสที่ 4/2562 ซึ่งอยู่ที่ 88 (ค่าดัชนีความเชื่อมั่นระดับปกติคือ 100) เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติและไม่ได้รับแรงเสริมจากโครงการใดๆ ที่รัฐบาลออกมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจเลย
ต่างจากกลุ่มผู้ประกอบการร้านขายสินค้าที่ระลึกและของฝาก ซึ่งประเมินผลประกอบการไตรมาสที่ 4/2563 ดีที่สุด ดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ 90 แม้ได้รับแรงเสริมจากโครงการคนละครึ่ง แต่ยังถือว่าผลประกอบการอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติเมื่อเทียบกับปีอื่นๆ รองลงมาคือกลุ่มธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มซึ่งมีดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ 80 ได้รับแรงเสริมจากโครงการเราเที่ยวด้วยกันและคนละครึ่ง ตามด้วยกลุ่มธุรกิจโรงแรม (53), บริการขนส่ง (60), สวนสนุกและธีมพาร์ค (48), สถานบันเทิง (47) และบริษัทนำเที่ยว (45)
ขณะที่คาดการณ์ดัชนีความเชื่อมั่นในไตรมาสที่ 1/2564 ของกลุ่มสปาและนวดเพื่อสุขภาพอยู่ที่ 35 ลดลงไปอีกจากไตรมาสที่แล้ว และรั้งตำแหน่งท้ายสุดร่วมกับกลุ่มสวนสนุกและธีมพาร์ค สถานบันเทิง และบริษัทนำเที่ยวซึ่งคาดการณ์ดัชนีความเชื่อมั่นไตรมาสนี้อยู่ที่ 35 เช่นกัน รองจากร้านขายของที่ระลึก (72), ร้านอาหารและเครื่องดื่ม (68), โรงแรม (45) และบริการขนส่ง (48)