“ยูเอ็น”ลุยปรับแผน ความมั่นคงอาหารโลก
อาหารคือหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ดังนั้น องค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็นจึงนำประเด็นด้านอาหารมาหารือเพื่อสร้างกลไกระหว่างประเทศที่จะนำไปสู่การความมั่นคงของโลกว่าด้วยอาหารการกินของมนุษยชาติ
ธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) ประจำกรุงโรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก (Committee on World Food Security) ว่า ที่ประชุมประเทศสมาชิกได้ลงมติรับรอง “แนวทางปฏิบัติระบบอาหารและโภชนาการ” (Voluntary Guideline on Food Systems and Nutrition หรือ VGFSyN) เพื่อผลักดันให้เกิดการนำไปสู่การปฏิบัติจริงในระดับประเทศต่อไป และที่ประชุมได้เห็นชอบแผนงานการจัดทำนโยบายโลกระยะ 4 ปี (2563-2567) จำนวน 4 ด้าน ได้แก่ 1.นโยบายด้านความเท่าเทียมทางเพศและบทบาทสตรีต่อความมั่นคงอาหารและโภชนาการ 2. นโยบายส่งเสริมบทบาทของเยาวชนในการสร้างความมั่นคงอาหารและโภชนาการ 3. นโยบายระบบข้อมูลทางด้านความมั่นคงอาหารและโภชนาการ และ 4. นโยบายลดความไม่เท่าเทียมกันและลดความเลื่อมล้ำในด้านความมั่นคงอาหารและโภชนาการ
ทั้งนี้ปี 2564 จะเป็นปีสำคัญ เพราะคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก จะจัดการประชุมสมัยพิเศษครั้งที่ 48 ในวันที่ 4 มิ.ย. เพื่อพิจารณารับรองร่างข้อเสนอเชิงนโยบายด้านเกษตรเชิงนิเวศและนวัตกรรมอื่นทางการเกษตร (Policy Recommendations on Agroecological and Other Innovatives Approches) และจะมีการจัดการประชุมคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก ครั้งที่ 49 ในวันที่ 11-15 ต.ค. อีกครั้ง เพื่อพิจารณารับรองแผนงานสำคัญด้านระบบอาหาร ความมั่นคงอาหารและโภชนาการของโลกต่อไป
“คณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก (CFS) เป็นเวทีสหประชาชาติเพียงแห่งเดียว ที่เปิดโอกาสให้ผู้แทนกลุ่มภาคเอกชน (Private Sector Mechanism) กลุ่มภาคประชาสังคม กลุ่มเครือข่ายเกษตรกร และกลุ่มตัวแทนผู้บริโภค (Civil Society Mechanism) สถาบันวิจัย สถาบันการเงิน ที่ทำงานด้านความมั่นคงอาหารและโภชนาการ ได้มาถกประเด็นปัญหา และร่วมจัดทำนโยบายของโลก ร่วมกับ ผู้แทนรัฐบาลของประเทศสมาชิก และหน่วยงานต่างๆ ของสหประชาชาติ (United Nations Agencies)”
มีหน้าที่จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและคำแนะนำในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงอาหารและโภชนาการ (Food Security and Nutrition) และเป็นเวทีเดียวที่เปิดโอกาสให้สมาชิกซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนได้มีโอกาสเจรจาหาข้อตกลงที่ยอมรับได้ ก่อนที่จะมีมติรับรองข้อเสนอเชิงนโยบายต่างๆ ในระดับโลก (Global policies, recommendations and guidance)
อังเนส คาลีบาตา ทูตพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติ (UN Secretary General’s Special Envoy) กล่าวว่า UN เห็นชอบในนโยบายดังกล่าว พร้อมสนับสนุนการนำ แนวทางปฏิบัติระบบอาหารและโภชนาการ ไปสู่การปฏิบัติจริงในระดับประเทศ และจะนำไปเป็นเอกสารสำคัญในการประชุมสุดยอดผู้นำด้านระบบอาหารของโลก (UN Food Systems Summit) ซึ่งจะจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีกระทรวงอาหารและเกษตร ในเดือนก.ค. นี้ ณ กรุงโรม และ การประชุมระดับผู้นำประเทศ ประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี ในเดือนก.ย. 2564 ณ นครนิวยอร์ก
มิเชล ฟาครี ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติด้านสิทธิในการเข้าถึงอาหาร (United Nations Special Rapporteur on the Right to Food) กล่าวว่า การดูแลกลุ่มประชาชนผู้ด้อยโอกาส และเกษตรกรรายย่อยในระบบอาหารมีความสำคัญ แต่ก็ต้องให้ความสำคัญของผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้นจากระบบอาหารทั้งการผลิตและการบริโภคที่ไม่สมดุล และการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้จะต้องยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการมีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนระบบอาหารด้วย