4 แนวคิด 'พัฒนาคน' สำหรับ 'ธุรกิจ' ปี 2021 ที่อยากรอดวิกฤติ พิชิตตลาด
สรุป 4 เรื่องในการ "พัฒนาคน" จาก "แพคริม กรุ๊ป" สำหรับ "ธุรกิจ" ที่กำลังเผชิญวิกฤติในปี 2021 ที่อยากไปต่อ และเติบโตในอนาคตแบบไม่ตกขบวน
การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี (Technology Disruption) เป็นเรื่องที่ถูกพูดมากที่สุดเรื่องหนึ่งในโลก "ธุรกิจ" ช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้หลายองค์กรหันมาให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น ทั้งในมิติของการทำการตลาด เพิ่มยอดขาย จัดการระบบขนส่ง ฯลฯ เผื่อผลักดันให้ธุรกิจได้ไปต่อในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ทว่า แม้เทคโนโลยีจะมีส่วนสำคัญในการทุ่นแรง หรือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานแบบไม่ต้องเปลืองแรงมนุษย์เท่าในอดีต แต่ "มนุษย์" หรือ "คน" ก็ยังคงเป็นปัจจัยและจุดเปลี่ยนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจอยู่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มุมมองของ "ผู้บริหาร" ที่ต้องมองเห็นความสำคัญของการ "พัฒนาคน" ให้สามารถทำงานร่วมกับ "เทคโนโลยี" ได้มากกว่าแค่การรับเทคโนโลยีมาแทนที่ "คน" เท่านั้น
การ "พัฒนาคน" ในองค์กรในปี 2021 ควรจะเป็นไปในทิศทางไหน ? ...แพคริม กรุ๊ป ได้สรุป 4 เรื่องในการ "พัฒนาคน" ที่เหมาะสมกับทศวรรษนี้จากประสบการณ์การเป็นที่ปรึกษาขององค์กรต่างๆ
พรทิพย์ อัยยิมาพันธ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ แพคริม กรุ๊ป กล่าวใน สัมมนาสดออนไลน์ "How HR can make a greater impact in the 2nd wave" (HR จะสร้างผลกระทบที่มากขึ้นได้อย่างไร ในคลื่นระลอกสอง) อัพเดทการเปลี่ยนแปลงด้าน
"ทรัพยากรมนุษย์" ที่ "ผู้บริหาร" ทั้งหลายต้องให้ความสำคัญ หากอยาก "ไปต่อ" ในโลกของธุรกิจไว้ 4 เรื่อง คือ
1. กล้าท้าทายกรอบความคิดเดิมๆ
- ออกจากการมุ่งเน้นการพัฒนาที่ความสามารถ หันมาโฟกัสที่ความสอดคล้องกันของ "ผลกระทบ" กับ "ผลลัพธ์" สิ่งที่อยู่ในหัวของ HR ในทุกเสี้ยววินาทีคือจะส่งมอบผลดำเนินงานปีนี้ในท่ามกลางความท้าทายใหม่ๆ ที่ต้องการทักษะใหม่ๆ ที่คนของฉันยังไม่มีเลยอย่างไร
- ออกจากการ "ควบคุม" เป็น "เสริมพลัง" ทำความเข้าใจว่าหน้าที่ของผู้นำ "ไม่ใช่ผู้กำหนดนโยบาย" หรือ "ผู้คุมกฎ" แต่ต้องเป็น "ผู้ให้อำนาจ" หรือ "เสริมพลัง" ให้กับคนที่เรากำลังจะช่วยมากกว่าการควบคุม เช่น สร้างเครื่องมือ เป็นผู้ช่วยอยู่ข้างๆ ส่งเสริมให้พนักงานทำงานเอง โดยหาแนวทางสนับสนุนให้คนทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยตัวเอง
- ออกจาก "coi" สู่ "go beyond coi" สถานการณ์วันนี้ไม่เหมาะกับการโฟกัสแค่ coi (center of influence) หรือพื้นที่ที่เรามีความเชี่ยวชาญ หรือมีอิทธิพลเท่านั้น แต่ HR ต้องขยาย coi ของเราออกไปให้มากที่สุด วันนี้ HR จะไม่มองแค่มีงบประมาณอยู่เท่าไร มีบทบาทหรือข้อจำกัดอย่างไร แต่ต้องกล้าที่จะก้าวออกไปจากกรอบของอย่างแท้จริง แล้วไปคุยกับหน่วยธุรกิจต่างๆ หรือผู้นำในแต่ละหน่วยธุรกิจ ให้หันมาสนับสนุนเรื่องการพัฒนาคนมากยิ่งขึ้น
- เน้น "ปริมาณ" มากกว่า "คุณภาพ" การ "พัฒนาคน" ไม่ใช่ยิ่งทำกิจกรรมยิ่งเยอะยิ่งดี การพัฒนาสิ่งมีชีวิตไม่ใช่เป็นแค่กิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งเท่านั้น แต่ทุกอย่างมันเชื่อมไปด้วยกัน ต่อเนื่อง เหมือนร่างกายของคนเราที่ทำงานสอดคล้องประสานกัน เวลาทำอะไรต่างๆ จะเชื่อมไปทั้งหมด ดังนั้นต้องมองการพัฒนาคนแบบองค์รวม และเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ
- ไม่มองแค่ "ความอยู่รอด" แต่ต้องมี "ความยั่งยืน" นั่นหมายความว่า เรื่อง "คน" ห้ามมองแค่ระยะสั้น เมื่อต้องประสบวิกฤติหลายองค์กรมองแค่เพื่อให้อยู่รอดได้ในปีนี้ แต่ความจริงแล้วเราจะต้องมองในระยะยาวด้วยว่า แล้วเราจะทำให้องค์กรยั่งยืนไปอีก 5-10 ปีได้อย่างไร หากลืมมองการพัฒนาในระยะยาวองค์กรจะอยู่ในพื้นที่ที่อันตรายมาก
อย่ามองแค่เพื่อให้อยู่รอดได้ในปีนี้ แต่ต้องมองในระยะยาวว่าจะทำให้องค์กรยั่งยืนไปอีก 5-10 ปีได้อย่างไร
2. สร้างองค์กรที่แข็งแกร่งและยั่งยืน
- ทรานส์ฟอร์มวัฒนธรรมองค์กร (culture transformation) องค์กรต่างๆ ต้องเร่งการทรานส์ฟอร์มให้มากขึ้น เพราะวันนี้หลายๆ วัฒนธรรมอาจจะยังไม่ agile หรือ adaptive พอกับโมเดลธุรกิจใหม่ๆ
- ร่วมผลักดันกลยุทธ์สำคัญขององค์กรให้สำเร็จ (execute must-win strategies) คำนี้กลายเป็นคำที่ใช้กันเป็นอย่างมากในหมู่ผู้นำ องค์กรต่างๆ มีกลยุทธ์ที่จะพาองค์กรอยู่รอดในระยะสั้น กลาง ยาว แล้วเราจะช่วยคนของเราในการดำเนินงาน พวก must-win strategies ถ้า HR มีวิธีการที่ดีที่ จะสามารถช่วยเพิ่มมูลค่า ในระยะสั้นให้ Line Leader ของเราได้มากทีเดียว
- ต้องสร้าง "power skills" ซึ่งหมายถึงทักษะพื้นฐานของความอยู่รอดและความสุขของมนุษย์ ที่ทำให้สามารถเผชิญกับเรื่องยากๆ ได้ดีกว่า นั่นหมายความว่า ณ เวลานี้ ต้องพัฒนาทักษะที่เรียกว่า Soft Skills หรือ Power Skills ควบคู่ไปกับการพัฒนา Hard Skills หรือทักษะทางเทคนิคต่างๆ ให้กับบุคลากรในองค์กรไปในเวลาเดียวกัน
“Hard Skills บางทีหมดอายุเร็ว เพราะสิ่งต่างๆ มันเปลี่ยนแปลงมาก เราต้องอัพเกรดตลอดเวลา ตัว Power Skills มันสร้างยากกว่าเยอะ ต้องอาศัยความมุ่งมั่น อดทนและกระบวนการในการสร้าง แต่สร้างแล้วมันอยู่กับเราตลอดชีวิต ตัวอย่างเช่น วินัยการวางแผนหรือจัดการเวลา ทักษะการสื่อสาร สร้างแล้วมันอยู่กับตัวเราเอง ทำให้คนของเรามีความสามารถในการยืดหยุ่นปรับตัว มีความอดทน ไม่ยอมแพ้กับอุปสรรค” พรทิพย์ กล่าว
- สร้างผู้นำในทุกระดับ สิ่งที่จำเป็นสำหรับการสร้างองค์กรที่แข็งแกร่งคือ สร้าง "ผู้นำ" ให้แข็งแรงมากขึ้น มีภูมิต้านทาน มีกล้ามเนื้อที่จะแบกภาระ หรือนำทีมฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ที่เข้ามาได้
"ไม่มียุคไหนที่เห็นความสำคัญของภาวะความเป็นผู้นำมากกว่าวันนี้แล้ว วันนี้เราต้องการผู้นำที่แข็งแรง และไม่ใช่แค่ผู้นำไม่กี่คน แต่ต้องทุกระดับ"
3. มุ่งเน้นที่ผลกระทบและผลลัพธ์
การเรียนรู้อย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้วยและต้องมีผลกระทบต่อ RoI (ผลตอบแทน/กำไร), business impacts, performance
HR จะคงความสำคัญได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจได้ ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายสำคัญ หรือกลยุทธ์สำคัญในแต่ละทีม หรือภาพใหญ่ขององค์กรก็ตาม
ทุกผลงานใหม่ มักจะตามมากับพฤติกรรมใหม่ หากคิดเหมือนเดิม ทำเหมือนเดิม ผลงานจะแย่กว่าที่ผ่านมา เพราะโลกการแข่งขันข้างนอกยากขึ้นกว่าเดิม ดังนี้ ต้องเปลี่ยนมุมมองในการทำงานด้านการพัฒนาคน ไปมองที่ "เป้าหมาย" หรือ "ผลลัพธ์" ทางธุรกิจที่ต้องการก่อน แล้วจึงมองไปที่พฤติกรรม ที่ต้องการจะให้เกิด หรือเปลี่ยนแปลง แล้วสุดท้ายจึงไปหาเนื้อหาหรือหลักสูตรที่จะตอบโจทย์มองมากกว่าคอนเทนท์ ให้มองทั้งกระบวนการที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้
4. สร้างระบบนิเวศน์ เพิ่มพลังให้ผู้นำธุรกิจ
สุขภาพองค์กร เปรียบเทียบได้กับสุขภาพคน ต้องมีหมอเก่งมีประสบการณ์ เข้าใจปัญหา วินิจฉัยและหาวิธีรักษาได้ แต่มีหมอเก่งอย่างเดียวก็ยังไม่พอ ต้องมียาที่ดีด้วย และไม่ใช่ยายิ่งเยอะยิ่งดี แต่ต้องเป็นยาที่ผ่านการรับรอง ยิ่งไปกว่านั้นหากต้องการรักษาได้มากขึ้น จะต้องมีเครื่องมือมากขึ้น ซึ่งเปรียบได้กับการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยทำให้กระบวนการต่างๆ ดีขึ้น และช่วยให้วินิจฉัยโรคได้ดีขึ้นมาก
ระบบการดูแลสุขภาพของคน เหมือนกับการดูแลสุขภาพขององค์กร ที่มีทีมงานเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาคนโดยเฉพาะเข้ามาสนับสนุนจึงช่วยสร้างระบบนิเวศน์ที่ช่วยเพิ่มพลังให้ผู้นำหน่วยธุรกิจได้เร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็นด้วยเช่นกัน
แม้ HR จะเป็นกำลังสำคัญในการ "พัฒนาคน" แต่ "ผู้บริหาร" และ "ผู้นำ" ในหน่วยธุรกิจคือตัวแปรสำคัญที่จะต้องมีวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาคนอย่างจริงจังด้วย เพราะต่อให้เคยประสบความสำคัญในยุคหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าทำแบบเดิมแล้วจะประสบความสำเร็จแบบเดิมตลอดไป
นอกจากนี้ ซีอีโอ แพคริม กรุ๊ป ยังกล่าวอีกว่า "หนึ่งปีที่ผ่านมาสัมผัสได้เลยว่าผู้นำหลายคนเปลี่ยนไปคือถ่อมตนมากขึ้น และก็มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น เพราะเรารู้ว่าเรากำลังอยู่ในโลกที่มันไม่เหมือนเดิมจริงๆ เรายอมรับว่าเราไม่ได้เก่งทุกเรื่อง เราฟังเก่งขึ้น ให้เกียรติคนอื่นมากขึ้น เราให้คุณค่าเรื่องของความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น"
สะท้อนว่า สถานการณ์นี้และในอนาคต ผู้นำต้องเปลี่ยน ต้องยอมรับว่าเราไม่ได้เก่งทุกเรื่อง ฟังเก่งขึ้น ให้เกียรติคนอื่นมากขึ้น รวมถึงเห็นความสำคัญของทีมเวิร์คมากขึ้นจึงจะมีโอกาสไปต่อในโลกธุรกิจที่ต้องบาลานซ์คนและเทคโนโลยีดีกว่าที่ผ่านมา