หนุนสมาชิกสหกรณ์ทำเกษตรระยะสั้น ปลูกพืชหมุนเวียน สร้างรายได้หลังทำนา

หนุนสมาชิกสหกรณ์ทำเกษตรระยะสั้น ปลูกพืชหมุนเวียน สร้างรายได้หลังทำนา

รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงพื้นที่พิจิตร หนุนสมาชิกสหกรณ์ทำเกษตรระยะสั้น ปลูกพืชหมุนเวียน สร้างรายได้หลังทำนา



นายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมนายชูศักดิ์ ชุนเกาะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร นางสาวไพรินทร์ สุขเล็ก สหกรณ์จังหวัดพิจิตร และคณะเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ติดตามนโยบายของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในการเสริมสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น

ซึ่งทางสำนักงานสหกรณ์จังหวัดพิจิตร ได้ร่วมมือกับภาคเอกชน ส่งเสริมสมาชิกสหกรณ์ในพื้นที่ปลูกพืชระยะสั้น ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ เพื่อช่วยคลี่คลายสภาพปัญหาความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลต่อการประกอบอาชีพของสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอวังทรายพูนและอำเภอโพทะเล ส่งเสริมให้มีการปลูกข้าวโพดหวาน ปลูกพริกซอส เพื่อส่งโรงงานอุตสาหกรรม และการส่งเสริมการปลูกถั่วแระญี่ปุ่น ในลักษณะรูปแบบตลาดนำการผลิต โดยผู้ประกอบการภาคเอกชน ร่วมทำข้อตกลงสัญญาซื้อขายผลผลิตกับสหกรณ์

สำหรับโครงการส่งเสริมการปลูกพริกซอสเพื่อสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรนั้น มีสถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 4 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรโพทะเล จำกัด สหกรณ์การเกษตรบางมูลนาก จำกัด สหกรณ์ชาวนาวังทรายพูน จำกัด และกลุ่มเกษตรกรพอเพียงตำบลรังนก มีสมาชิกที่ปลูกพริกซอสรวม จำนวน 100 ราย พื้นที่ปลูกพริกซอส จำนวน 188 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 4,500 กิโลกรัม ปริมาณผลผลิตที่คาดว่าจะได้รับ จำนวน 846 ตัน ราคารับซื้อพริกซอสกิโลกรัมละ 14 บาท มูลค่ารวมที่จำหน่าย จำนวน 11,844,000 บาท รายได้เฉลี่ยต่อไร่ 63,000 บาท เกษตรกรเริ่มปลูกพริกซอสตั้งแต่เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ทยอยเก็บเกี่ยวช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน โดยบริษัท ศราวุฒิการเกษตร เข้ามารวบรวมผลผลิตและรับซื้อผ่านสหกรณ์

161362914837

จากนั้นได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงการส่งเสริมการปลูกถั่วแระญี่ปุ่นของสมาชิกสหกรณ์ของสหกรณ์ชาวนาวังทรายพูน จำกัด ณ แปลงปลูกถั่วแระญี่ปุ่น ของนายชูตินันท์ ศรีจันผ่อง หมู่ที่ 6 บ้านคลองตาลัด ตำบลวังโพรง อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก โครงการนี้มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการ 21 ราย พื้นที่ปลูกถั่วแระญี่ปุ่น 481 ไร่ ให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ประมาณ 1,400 กิโลกรัม ผลผลิตที่คาดว่าจะรวบรวมได้ทั้งหมด 673.40 ตัน มูลค่า 11,447,800 บาท การปลูกถั่วแระญี่ปุ่นจะเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม เก็บเกี่ยวช่วงเดือนกุมภาพันธ์ อายุการเก็บเกี่ยว จำนวน 65 – 70 วัน ต้นทุนการผลิตต่อไร่ จำนวน 7,000 – 8,000 บาท รายได้ต่อไร่ประมาณ จำนวน 20,400-23,800 บาท

สหกรณ์ทำข้อตกลงกับบริษัทที่มารับซื้อ และประกันราคาให้กิโลกรัมละ 17 บาท หรือตันละ 17,000 บาท ซึ่งจะมีการคัดเกรดถั่วแระญี่ปุ่นตามข้อกำหนดของบริษัท โดยทำรูปแบบเกษตรพันธะสัญญา โดยผ่านการตัดเกรดคุณภาพผลผลิตตามเกณฑ์ของบริษัท ต้องผลิตตามมาตรฐานและข้อกำหนดของบริษัท มีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมของบริษัทเข้ามาให้คำปรึกษา และมีการตรวจแปลงผลิตของเกษตรกรอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งผลผลิตที่ได้มีการทำข้อตกลงกับบริษัท เชียงใหม่โฟรเซ่นฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งผู้รับซื้อภาคเอกชนจากจังหวัดเชียงใหม่

161362920795

นอกจากนี้ ยังได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแปลงปลูกข้าวโพดหวานของสมาชิกสหกรณ์การเกษตรโพทะเล จำกัด จุดรวบรวมข้าวโพดสด ร่วมกับนายสมศักดิ์ สีอุดทา ประธานสหกรณ์การเกษตรโพทะเล จำกัด สมาชิกสหกรณ์ ผู้แทนจากบริษัท แปซิฟิกเมล็ดพันธุ์ จำกัด ผู้แทนบริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน ซึ่งโครงการปลูกข้าวโพดหวานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ดำเนินการมาระยะที่ 2 มีสหกรณ์เข้าร่วมโครงการ 3 แห่ง

ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรโพทะเล จำกัด สหกรณ์โคนมการเกษตรพิจิตร จำกัด และสหกรณ์การเกษตรชุมชนตำบลวัดขวาง จำกัด สมาชิกเข้าร่วมปลูกข้าวโพดหวานรวม 15 ราย พื้นที่ จำนวน 37 ไร่ 2 งาน ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ จำนวน 3,300 กิโลกรัม ปริมาณผลผลิตที่คาดว่าจะได้รับ จำนวน 123.75 ตัน ราคารับซื้อข้าวโพดหวานกิโลกรัมละ 4 บาท มูลค่า 495,000 บาท รายได้เฉลี่ยต่อไร่ 13,200 บาท ซึ่งการปลูกข้าวโพดหวาน เริ่มปลูกเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม ประมาณการเก็บเกี่ยวช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ดำเนินการรวบรวมโดยห้างหุ้นส่วนจำกัดทวีทองการเกษตร

161362929038

รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ทั้ง 3 โครงการ เป็นการส่งเสริมการปลูกพืชระยะสั้น และปลูกพืชหมุนเวียนแทนการทำเกษตรเชิงเดี่ยว หันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อย ลดความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้งและสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดี เช่น ข้าวโพดหวาน ถั่วแระญี่ปุ่นและพริกซอส ซึ่งได้ผลตอบแทนเมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตได้อย่างน่าพอใจ และยังช่วยให้เกษตรกรมีทางเลือกในการประกอบอาชีพและทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น และสามารถเพิ่มช่องทางการจำหน่ายไปยังตลาดต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งในการส่งเสริมทำเกษตรปลูกพืชระยะสั้น ยังได้เน้นหลักตลาดนำการผลิต เพื่อสร้างความมั่นใจในการผลิตและการจำหน่ายของสมาชิกสหกรณ์ ได้รับราคาประกัน ส่งเสริมการทำเกษตรระยะสั้นที่หลากหลาย เพื่อให้มีรายได้เสริมหลังจากการทำนา