เครือข่ายภาคประชาชน ฮึ้มฟ้องรัฐปมแบนพาราควอต
กรณีที่มีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดให้ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 คือ ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก ครอบครอง โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา ขณะนี้ได้เกิดผลกระทบจากฝั่งผู้ใช้ ได้สะท้อนความเห็นในมุมมองที่น่าสนใจ
ชัยภัฏ จันทร์วิไล ประธานเครือข่ายการใช้เคมีปลอดภัยเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งประเทศไทย (NSCU) เปิดเผยว่าทางเครือข่ายจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย เพื่อยื่นฟ้องต่อศาลตุลาการทั้งทางแพ่งและอาญา โดยจะมุ่งตรงไปยังการห้ามใช้“สารพาราควอต” เนื่องจากเกษตรกรมีการใช้กันมาก ในขณะที่รัฐบาลเห็นชอบให้ใช้“สารกลูโฟซิเนต” ที่ออกฤทธิ์ช้า ราคาแพงกว่า มาทดแทน ซึ่งทั้งหมดผิดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 73 บทที่ 6 ที่ระบุว่า รัฐพึงจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่ช่วยให้เกษตรกรประกอบเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพสูง มีความปลอดภัยโดยใช้ต้นทุนต่ำและสามารถแข่งขันในตลาดได้ และพึงช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากไร้ให้มีที่ทำกินโดยการปฏิรูปที่ดินหรือวิธีอื่นใด
นอกจากนี้การที่รัฐบาลไม่ให้เกษตรกรภายในประเทศใช้พาราควอต แต่อนุญาตให้ผู้ประกอบการนำเข้าวัตถุดิบทางการเกษตรจากประเทศที่ใช้สารดังกล่าวได้ นั้นถือว่าไม่เป็นธรรมกับเกษตรกรภายในประเทศ
“การยื่นฟ้องทำแน่ แต่ต้องรอผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเกษตรให้ชัดเจนกว่านี้ หรือจนถึงจุดพีค เพราะปัจจุบันคาดว่าเกษตรยังลักลอบใช้กันอยู่ ”
จรรยา มณีโชติ สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ต้องทำผลวิจัยซ้ำตามข้อกล่าวอ้างก่อนหน้ากรณีพบพาราควอตตกค้าง ในขี้เทาทารก ที่เก็บตัวอย่างไว้นาน 5 ปี ซึ่งการวิจัยทั่วไปจะเก็บตัวอย่างได้เพียง 28 วันเท่านั้น กรณีตรวจพบพาราควอตในบ่อน้ำประปา ที่เต็มไปด้วยผักตบ จอกและแหน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพาราควอตตกค้างอยู่ไม่ได้แน่นอนเพราะจะเป็นผลให้พืชเหล่านี้เฉาตาย กรณีที่ระบุว่าพาราควอตเป็นสารพิษอาบแผ่นดิน แต่เกษตรกรยังต้องใช้พาราควอตต่อเนื่องเพื่อฆ่าหญ้า แสดงว่า สารดังกล่าวไม่ได้ตกค้างในดินได้จริงเนื่องจากพืชยังงอกได้ ส่วนกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า พาราควอตทำให้เกิดโรคเนื้อเน่านั้น ได้พิสูจน์ชัดเล้วว่า เนื้อเน่านั้นเกิดจากโรคอื่น ไม่ได้มาจาการใช้สารพาราควอตโดยตรง ล่าสุดกรณีที่มีนกเป็ดแดงตายที่ จ.ลำปาง ก็กล่าวหาว่าเป็นเพราะพาราควอต แต่เกษตรกรออกมายอมรับแล้วว่าใช้ยาฆ่าแมลง
“ข้อกล่าวอ้างทั้งหมด ทางสมาคมมีข้อมูลที่สามารถแย้งได้ แต่ไม่ได้รับการพิจารณาจากรัฐบาล ซึ่งการสั่งให้แบนสาร สำหรับเกษตรกรและร้านค้ามีผลไปแล้ว ที่ห้ามไว้ในครอบครอง และต้องส่งคืน เหลือเพียงการทำลายสาร ซึ่งจะหมดเขตในเดือน ก.พ.นี้ ผู้ประกอบการทุกรายต้องเผาทำลายให้หมด โดยเสียค่าใช้จ่ายเอง ตันละ 1 แสนบาท จึงต้องจับตาดูว่าจะผู้ประกอบการจะยินยอมหรือไม่ เพราะการนำเข้าสารทั้งหมดได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย “
ดังนั้น ทางสมาคมเห็นด้วยกับแนวทางการส่งเสริมให้ใช้สารเคมีอย่างถูกวิธี เพื่อให้ปลอดภัยทั้งกับผู้ใช้และผู้บริโภค สอดรับการแนวทางการผลิตสินค้าเกษตรจีเอพี ด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกร อบรมเกษตรกรผู้ใช้ ให้ถูกต้อง
สำหรับ ผลกระทบจากการแบน 3 สารที่เกิดขึ้น ขณะนี้ ประกอบด้วย ผลผลิตลดลง เนื่องจากพืชประธานถูกแย่งสารอาหารและน้ำโดยวัชพืช จากการประมาณการพบว่าผลผลิตจะหายไปจากพืชเศรษฐกิจหลัก จำนวน 97 ล้านตัน คิดเป็นรายได้ของเกษตรกรที่จะหายไปกว่า 2 แสนล้านบาท
ขณะที่ไม่มีสารเคมีทดแทนที่มีประสิทธิภาพและราคาเทียบเท่ากับสารเคมีที่ถูกแบน ไป แม้กระทั่ง “กลูโฟซิเนต” ซึ่งเป็นสารที่ กรมวิชาการเกษตร แนะนำ ก็ยังไม่มีประสิทธิภาพเทียบเท่า โดยหลังจากที่ฉีดกลูโฟซิเนตไปด้วยต้องทิ้งไว้ไม่ให้โดนฝน 4-6 ชั่วโมง จึงจะออกฤทธิ์ หากฝนตก ต้องฉีดซ้ำ ต่างกับพาราควอตที่ออกฤทธิ์ภายใน 30 นาที
และเมื่อไม่มีสารเคมีทดแทน เกษตรกรจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานในการกำจัดวัชพืช ทำให้ต้นทุนการกำจัดวัชพืชจะสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 2,200 บาทต่อไร่ต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 1,120% ซึ่งยังไม่รวมถึงปัญหาการขาดแรงงานในภาคการเกษตร เกษตรกรบางรายยังไม่สามารถเข้าถึงเครื่องจักรกลทางการเกษตรได้ เนื่องจากราคาสูง และบางพื้นที่ก็ไม่เหมาะกับการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร เป็นผลให้เกษตรกรอาจตัดสินใจเลิกประกอบอาชีพเกษตรกรรม กระทบต่ออุตสาหกรรมการเกษตรต่อเนื่องและแปรรูปประสบปัญหาปิดกิจการ เกิดการเลิกจ้างงาน ต้นทุนการผลิตและราคาอาหารสูงขึ้น กระทบถึงผู้บริโภค
นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดตลาดมืดขายสารเคมี ซึ่งภาครัฐไม่สามารถดูแลและกำหนดมาตรฐานได้ทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมตามมา บริษัทหรือร้านค้าที่ครอบครองสารดังกล่าว ยังไม่ได้รับความชัดเจนเรื่องการส่งทำลาย ค่าใช้จ่ายในการทำลาย ภาครัฐไม่มีงบประมาณในการอบรมและการสอบเพื่อให้สิทธิ์เกษตรกรในการซื้อ ไกลโฟเซต