ล่าสุด! “วัคซีนจุฬาโควิด-19” เตรียมทดสอบในคน-รุ่น2ต้านไวรัสกลายพันธุ์
“วัคซีน ChulaCov19” ใช้เทคโนโลยี mRNA เริ่มตั้งแต่ปี 2563 ล่าสุดมีความก้าวหน้าเตรียมที่จะมีการทดสอบในอาสาสมัครไทยระยะที่ 1 ช่วงต้นพ.ค.นี้ ควบคู่เตรียมพัฒนาวัคซีนรุ่น 2 รองรับเชื้อดื้อวัคซีนเ หากสำเร็จจะผลิตได้ในไทยที่โรงงานบริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด
ในการแถลงข่าว “ความก้าวหน้าล่าสุดของการพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และความพร้อมในการทดสอบในอาสาสมัคร” ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า วัคซีน ChulaCov19 ผลิตโดยสร้างชิ้นส่วนขนาดจิ๋วจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา (โดยไม่มีการใช้ตัวเชื้อแต่อย่างใด) ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมขนาดจิ๋วนี้เข้าไป จะทำการสร้างเป็นโปรตีนที่เป็นส่วนปุ่มหนามของไวรัสขึ้น (spike protein) และกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันไวเตรียมต่อสู้กับไวรัสเมื่อไปสัมผัสเชื้อ เมื่อวัคซีน mRNA ทำหน้าที่ให้ร่างกายสร้างโปรตีนเรียบร้อยแล้ว ภายในไม่กี่วัน mRNA นี้จะถูกสลายไปโดยไม่มีการสะสมในร่างกายแต่อย่างใด
หลังจากช่วงเดือนส.ค.2563 ได้มีการทดสอบวัคซันในลิงเข็มที่ 2 พบว่าลิงสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง มีสุขภาพดี ขณะนี้การศึกษาวิจัยวัคซีนมาถึงจุดที่พร้อมทดสอบในอาสาสมัครคนไทย ซึ่งมีข่าวดีความคืบหน้าล่าสุดในเรื่องสำคัญ คือ 1.วัคซีนสามารถป้องกันโรค โควิด-19 และลดจำนวนเชื้อได้อย่างมากมายในหนูทดลอง : ผลการทดลองล่าสุด ภายหลังจากหนูทดลองชนิดพิเศษที่ ออกแบบให้สามารถเกิดโรค โควิด-19 ได้ เมื่อได้รับการฉีดวัคซีน ครบ 2เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์
เมื่อหนูทดลองได้รับเชื้อโคโรนาไวรัสเข้าทางจมูก สามารถป้องกันหนูทดลองไม่ให้ป่วยเป็นโรคได้ 100 % และยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือด ได้ 100 % รวมทั้งสามารถลดจำนวนเชื้อในจมูกและในปอดลงไปอย่างน้อย 10 ล้านเท่า ส่วนหนูที่ไม่ได้รับวัคซีน จะเกิดอาการแบบ โควิด-19 ภายใน 3-5 วันและทุกตัวมีเชื้อสูงในกระแสเลือด ในจมูกและปอด 2.วัคซีน สามารถเก็บในอุณหภูมิตู้เย็นปกติคือ 2-8 o C ได้ อย่างน้อย 1 เดือน ขณะนี้กำลังรอผลวิจัยที่ 3 เดือนน่าจะทราบผล ดังนั้นการขนส่งกระจายวัคซีนไปยังต่างจังหวัดทั่วประเทศจึงสามารถทำได้อย่างสะดวก และ3.วัคซีน คาดว่าจะผลิตเสร็จเพื่อนำมาทดสอบในอาสาสมัครได้ ประมาณต้นเดือนพฤษภาคมนี้
สำหรับแผนการทดสอบในคนไทย แบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 ดำเนินการที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จำนวน 72 คน แยกเป็น 2 กลุ่มอายุ คือ 18-55 ปี จำนวน 36 คน และ65-75 ปี จำนวน 36 คน เริ่มต้นพ.ค. ใช้ระยะเวลา 2 เดือน และระยะที่ 2 จำนวน 300-600 คน จะดำเนินการรพ.จุฬาและคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล รวมถึง จะทดสอบระยะ 2 บีจำนวน 5,000 คน โดยการศึกษาจะดูความปลอดภัยของวัคซีน และตามดูว่าภูมิคุ้มกันจะขึ้นสูงแค่ไหน และดูปริมาณโดสสำหรับคนไทย
ทั้งนี้ อาสาสมัครจะต้องเป็นผู้มีร่างกายแข็งแรง ไม่มีภาวะป่วยที่ยังควบคุมไม่ได้ ไม่เป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือเป็นผู้ที่อยู่ระหว่างได้รับยากดภูมิ ไม่เป็นโรคเลือดออกง่าย
ส่วนการทดสอบในคนระยะที่ 3นั้น เนื่องจากปัจจุบันโครงการวิจัยนี้ได้เข้าไปอยู่ในรายชื่อกรรมการวิจัยวัคซีนขององค์การอนามัยโลกหรือฮู(WHO)แล้ว ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการวิเคราะห์ข้อมูลวัคซีน 7 ชนิดที่มีการใช้ภาวะฉุกเฉินทั่วโลกไปมากแล้ว เพื่อดูว่าวัคซีนที่ป้องกันโรคได้นั้นจะต้องมีภูมิคุ้มกันระดับเท่าไหร่ รวมถึง ชนิด mRNAด้วย หากทราบว่าระดับเท่าไหร่ และวัคซีนชนิดmRNAของจุฬาฯมีระดับภูมิคุ้มกันเท่ากันหรือสูงกว่า ก็อาจจะไม่ต้องทำการทดสอบระยะที่ 3 ซึ่งจะทราบผลจากฮูในอีก 6 เดือน
ศ.นพ.เกียรติ กล่าวอีกว่า ขณะนี้กำลังเตรียมการพัฒนาวัคซีนรุ่น 2 เพื่อทดสอบในหนูทดลองเพื่อรองรับเชื้อดื้อวัคซีนในอนาคตควบคู่ด้วย เพราะเนื่องจากมีเชื้อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กำลังระบาดในหลายประเทศและบางสายพันธุ์พบว่าเริ่มดื้อต่อวัคซีนในปัจจุบัน เทคโนโลยีวัคซีน mRNA มีจุดเด่น คือสามารถออกแบบวัคซีนรุ่นที่ 2 เพื่อตอบโต้เชื้อที่ดื้อวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำเป็นวัคซีนสูตรคอกเทล คือป้องกัน 3 สายพันธุ์ ทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิม สายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ในอังกฤษ และสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ในแอฟริกาใต้ หรืออาจจะเป็นสูตรผสม 2 สายพันธุ์ ที่มีการกลายพันธุ์หากพบว่าสามารถป้องกันสายพันธุ์ดั้งเดิมได้ด้วย เริ่มดำเนินการในสัตว์ทดลอง ภายใน 2 เดือน
“วัคซีนที่จะใช้ทดสอบในอาสาสมัครคนไทยระยะที่ 1 -2 ผลิตจากโรงงานในต่างประเทศ ส่วนที่จะใช้ทดสอบระยะ 2 บี รวมถึง วัคซีนรุ่น 2ที่จะใช้ทดลองในสัตว์จะเป็นวัคซีนที่ผลิตจากโรงงานของบริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ในประเทศไทย ซึ่งมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตรองรับมาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยปลายปี 2564 จะผลิตได้ 1-5 ล้านโดส ซึ่งหากผลการศึกษาวิจัยสำเร็จตามแผนจะใช้โรงงานแห่งนี้ในการผลิตวัคซีนโควิด ชนิด mRNAของจุฬาฯ โดยปีต่อไป ผลิต 20 ล้านโดส ทำให้สามารถปิดช่องว่างวงจรการผลิตวัคซีนในไทยได้ ”ศ.นพ.เกียรติกล่าว
ด้าน ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า รพ.จุฬาฯ และศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเตรียมความพร้อมของสถานที่ แพทย์ พยาบาล บุคลากร และหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการทดสอบกับอาสาสมัครอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ความสำคัญเรื่องของความปลอดภัยอย่างสูงสุด เพื่อให้ประชาชน เกิดความเชื่อมั่น และมั่นใจในความปลอดภัยของการทดสอบฉีดวัคซีนครั้งนี้
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า โครงการวัคซีนนี้เมื่อสำเร็จจะสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนและประเทศไทยจากโรคโควิด-19 และเสริมฐานให้กับระบบสาธารณสุขของไทยแข็งแกร่งมากขึ้น เป็นสิ่งที่ไทยจะยืนบนขาตัวเองเรื่องของวัคซีน จะเป็นการปิดช่องว่างเปลี่ยนการพึ่งพาผู้ผลิตจากการนำเข้า มาเป็นการพึ่งพาตนเอง
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อสำเร็จจะเกิดความมั่นคงทางวัคซีน ทางด้านสาธารณสุขของไทยอย่างแท้จริง เพราะทำให้ก้าวข้ามจากประเทศผู้ซื้อมาเป็นผู้ผลิตและสามารถรับมือกับโรคติดต่อใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นคราวนี้หรือคราวหน้า จะทำให้เรามีความมั่นใจขึ้น และทำให้เกิดวงจรการพัฒนาวิจัยและผลิตวัคซีนอย่างครบถ้วน ไม่มีกำแพงขวางกั้นระหว่างรัฐและเอกชน แต่เกิดเป็นความร่วมมือกันพัฒนาให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการพัฒนาวัคซีน